“ซูจี” เผย พม่าหวังเกิดข้อตกลงกับบังคลาเทศ ยุติวิกฤตโรฮิงญา เปิดทางผู้อพยพกลับประเทศ

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า นางอองซาน ซูจี มุขมนตรีของพม่าได้กล่าวว่า คาดหวังให้การหารือกับบังคลาเทศในการแก้ไขวิกฤตชาวโรฮิงญาอพยพกว่า 6 แสนคน มีผลที่เกิดบันทึกความเข้าใจในเรื่อง “การกลับสู่ประเทศอย่างสมัครใจและปลอดภัย” นับเป็นความคืบหน้าหลังจากวิกฤตที่ยึดเยื้อมากว่า 3 เดือน และมีชาวโรฮิงญาอพยพหนีการปราบปรามของกองทัพพม่ามาตั้งแต่ปลายเดืือนสิงหาคมที่ผ่านมา จนกระทั่งมีการหารือร่วมกันระหว่างพม่าและบังคลาเทศ ในกันหาทางออกให้กับชาวโรฮิงญาที่ประสงค์จะกลับรัฐยะไข่

นางซูจีกล่าวสื่อต่อข้อซักถามเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาหลังจบการประชุมอาเซมว่า เราไม่สามารถกล่าวได้ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ แต่เมื่อเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล เราต้องแน่ใจว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก

นางซูจีกล่าวว่า เราหวังว่าการหารือจะทำให้เกิดการลงนามเอ็มโอยูอย่างเร็วที่สุด ซึ่งจะเปิดให้เราเริ่มขั้นตอนให้พวกเขาที่ข้ามแดน สามารถกลับประเทศได้อย่างสมัครใจและปลอดภัย โดยพม่าจะดำเนินตามกรอบแผนของข้อตกลงย้อนหลังไปถึงปี 1990 แม้กรอบข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงสถานะพลเมืองให้กับชาวโรฮิงญา อีกทั้งทางบังคลาเทศกำลังเตรียมกระบวนการส่งตัวกลับซึ่งให้ความปลอดภัยกับชาวโรฮิงญาในขณะนี้ให้มากขึ้น  อย่างไรก็ดี นางซูจีกล่าวกับสื่อโดยไม่ใช้คำว่า “ชาวโรฮิงญา” ซึ่งเป็นคำที่พม่าปฏิเสธการยอมรับว่าชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อย

นางซูจียังกล่าวว่า มันอยู่ที่หลักเกณฑ์ของการอยู่อาศัย ซึ่งทั้งสองรัฐบาลเห็นชอบเรื่องนี้ด้วยความสำเร็จมานานแล้ว และสิ่งนี้จะเป็นหลักเกณฑ์ที่เรายังคงเดินตามต่อไป แม้ว่านางซูจีจะกล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ชัดว่าทั้งสองประเทศจะเข้าใกล้บรรลุข้อตกลงดังกล่าวได้มากแค่ไหน จากที่ก่อนหน้านี้ ในระหว่างการทำข้อตกลง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพม่ากล่าวหาว่าบังคลาเทศถ่วงเวลากระบวนการส่งตัวกลับ เหตุเพราะรอเงินช่วยเหลือผู้อยพพจากหน่วยงานบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ นางซูจีกล่าวว่า พม่ากำลังทำทุกทางที่ทำให้มั่นใจว่ารัฐยะไข่มีความมั่นคงปลอดภัย แต่ก็ต้องอาศัยเวลาในการแก้ไขปัญหาประเด็นดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการเดินทางกลับอย่างปลอดภัยจะเกิดขึ้นหรือเหมาะสมได้ สำหรับสตรีและเด็กชาวโรฮิงญาหลายพันคนที่ยังรวมตัวอยู่ชายหาด พยายามหนีจากความหิวโหยและความไม่มีเสถียรภาพในรัฐยะไข่ รวมถึงทางพม่ามุ่งจะสร้าง “หมู่บ้านใหม่” ให้กับผู้อพยพส่วนใหญ่ที่อยากกลับไปอีกครั้ง แทนที่ให้พวกเขาอยู่บนผืนแผ่นดินเดิมที่ถูกยึดครองไปก่อนหน้านี้ กลายเป็นแนวทางที่องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นเคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ไว้ในอดีตว่า พม่ากำลังก่อสร้าง “ค่ายกักกันถาวร”