‘นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล’ ไขปมเงินสมทบผู้ประกันตน

หมายเหตุ: นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ชี้แจงกรณีการจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมสำหรับผู้ประกันตนที่มีเงินเดือน 16,000 -20,000 บาท และประเด็นการรับเงินบำนาญชราภาพ ที่ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน

  • ยังมีความไม่เข้าใจกรณีเพิ่มเงินสมทบ

เรื่องนี้ยังเป็นเพียงการศึกษา เดิมรับฟังความคิดเห็นมาตั้งแต่ปี 2559 คนที่ไปฟังคำชี้แจงก็ต่างเห็นด้วย แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ไป และมาทราบข่าวทีหลังก็อาจมีข้อสงสัย สปส.ก็มีหน้าที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันให้ได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างเชิญชวนให้ผู้ประกันตนเข้ารับฟังและแสดงความคิด ซึ่งมีหลายช่องทางทั้งเวทีสาธารณะ และเว็บไซต์ สปส.ยืนยันจะปรับปรุงเรื่องนี้เมื่อประชาชนพร้อมเท่านั้น แต่ก็ต้องเรียนว่า สิ่งนี้ก็เพื่ออนาคตของทุกคน เพราะหากสิทธิประโยชน์อยู่นิ่งๆเหมือนเดิมตลอด 20 ปีแล้ว  ความไม่พอก็จะเกิดขึ้นแน่นอน

  • เรื่องนี้ทำประชาพิจารณ์มาตั้งแต่ปี 2559

ปีที่แล้วในเวที 2,000 กว่ารายเห็นด้วย ในเว็บไซต์เข้ามา 9,000 กว่าราย ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย แต่มาตอนนี้มีคนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่า เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย สำนักงานฯก็มีหน้าที่ทำความเข้าใจจนเข้าใจและยอมรับ จึงจะดำเนินการ เราจะไม่ดำเนินการที่ขัดกับความรู้สึกชาวบ้าน หรือทำไปแล้วเขาเดือดร้อน แม้เรามองไปข้างหน้าแล้วว่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่าน จริงๆขั้นตอน ผ่านคณะกรรมการประกันสังคมแล้ว ซึ่งผมก็มีหน้าที่ดำเนินการเป็นไปตามคณะกรรมการฯ เห็นชอบ แต่อย่างที่บอกว่า ผลจะมีเมื่อไรก็ต้องทำความเข้าใจก่อน เพราะหากทำแล้ว ยังมีชาวบ้านไม่เห็นด้วยก็ถือว่าไม่มีประโยชน์
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบอร์ดสปส.ให้ความเห็นชอบเรื่องสงเคราะห์บุตร จาก 400 เป็น 600 บาท โดยให้บุตรจำนวน 3 คน ตั้งแต่แรกเกิดไป 6 ขวบ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 แบบนี้ไม่ค่อยมีใครมาพูดถึงเท่าไหร่ จริงๆเงินที่มีก็ไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ทั้งนั้น

  • แสดงว่าเรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้

ยังมีขั้นตอนกระบวนการอีกมาก และหากต้องปรับจริงๆ ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าจะแก้ไขในระดับใด พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง หรือระเบียบ แต่เท่าที่ผ่านมาเวลาให้สิทธิประโยชน์มักจะรวดเร็ว แต่ถ้าเป็นเรื่องที่อาจทำให้ผู้ประกันตนมีภาระเพิ่มเติม อย่างการจ่ายเงินสมทบด้วยการปรับฐานเงินเดือนมาคำนวณ หรือการขยายอายุเกษียณ ก็อาจคิดมากน่อย ต้องใช้เวลาอีกเป็นปี ขณะนี้ สปส.อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นในการปฏิรูปประกันสังคมปี 2560 ได้มีการบรรจุเรื่องการปรับสูตรบำนาญ   และกรณีการจ่ายเงินสมทบด้วยการคิดฐานคำนวณเงินเดือนใหม่จาก 15,000 บาทเป็น 20,000 บาทเข้าไปด้วยก็หวังว่าจะมีผู้ประกันตนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันมากๆ

  • เรื่องเพิ่มเงินสมทบต้องชะลอไปก่อน

ใช่ครับ เดิมขั้นตอนการทำงานเพื่อออกเป็นกฎกระทรวงจะอยู่ที่ 3 เดือน แต่เมื่อมีข้อกังวลก็ต้องหยุดไปก่อน โดยเราต้องทำความเข้าใจก่อนจึงจะทำต่อไปได้ จริงๆการแสดงความคิดเห็นที่ผ่านมา ก็ต้องบอกก่อนว่าเป็นการเปิดให้ผู้ประกันตนมาลงความเห็นจริงๆ แต่กลับมีการพูดทำนองว่า เป็นการเตี้ยมกันหรือไม่ ผมว่าไม่ถูกต้อง และเป็นการดูถูกคนที่มาเสนอความคิดเห็นด้วย

  • จะสร้างความเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร

เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะยังพบเห็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในโซเชียลมีเดียไม่น้อย ทั้งที่การปรับเงินสมทบต้องย้ำว่า คนเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทไม่ได้รับผลกระทบเลย แต่ด้านบวกจะได้ ยกตัวอย่าง คนเงินเดือน 14,000 บาท แต่ปีหน้าเงินเดือนปรับสูงขึ้น เขาก็จะสามารถถูกปรับการคิดคำนวณฐานเงินเดือนแบบใหม่เพิ่มขึ้นด้วย อย่างเรื่องสงเคราะห์บุตรที่จะปรับจาก 400บาท เป็น 600 บาท หาก 10 ปีข้างหน้าไม่มีการปรับปรุงอะไรเพิ่ม สิทธิตรงนี้ก็เท่าเดิม เพราะไม่รู้จะเอาจากไหน แม้จะมีเงินส่วนที่ไม่เกี่ยวพันกับฐานเงิน เช่น เงินสงเคราะห์บุตร เงินค่าคลอด 13,000 บาทต่อครั้ง ก็ไม่มีเงินอยู่ดี

  • กรณีหากเสียชีวิตระหว่างรับเงินบำนาญ ทายาทจะไม่ได้

             ได้มีการหารือกับฝ่ายกฎหมาย มีความเห็นว่า ณ ปัจจุบันเรื่องสิทธิเหล่านี้ไม่ได้ถือเป็นมรดก  แต่เป็นเรื่องสิทธิที่กฎหมายระบุไว้เท่านั้น  แต่หากจะให้เป็นมรดกก็ต้องแก้ไขกฎหมาย ซึ่งทุกอย่างแก้กฎหมายได้ แต่เราก็ต้องดูข้อเท็จจริงด้วย เพราะหากเป็นมรดก เราระบุได้ว่าอยากให้ใคร แต่มุมมองทางกฎหมายเรื่องนี้ไม่ใช่มรดก เป็นสิทธิ เพราะโดยหลักต้องการสร้างความเป็นปึกแผ่นความมั่นคงในชีวิตของผู้ประกันตน
แต่กรณีเสียชีวิตระหว่างรับบำนาญนั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า กฎหมายประกันสังคมระบุว่าหากเสียชีวิตระหว่างรับบำนาญแต่ไม่เกิน 60 เดือน หรือ 5 ปี จะมีเงินให้ 10 เท่าจากเงินบำนาญ แต่หากเกิน 60 เดือนไปแล้ว ไม่ต้องกังวลว่าเงินออมเราจะไปอยู่ในกองทุนฯ เพราะจริงๆแล้วไม่อยู่แล้ว ดังนั้น คนที่รับเงินบำนาญเกินกว่า 5 ปีถือว่ากำไรทั้งหมด และหลักการใหญ่ของการรับเงินบำนาญคือ จ่ายให้ตลอดชีวิต คือเสียชีวิตเมื่อไรหยุดจ่าย
แน่นอนว่าที่สะสมมาทั้งชีวิตและรับเงินบำนาญ 2-3 เดือนแล้วเสียชีวิตอาจรู้สึกว่าไม่แฟร์ ดังนั้น กฎหมายจึงระบุว่าหากเสียชีวิตภายใน 5 ปีคุณก็จะได้รับเงินก้อน ซึ่งขณะนั้นจ่ายเงินก้อนให้ 10 เท่า แต่ทุกวันนี้อาจไม่พอ ก็ต้องมาดูกันว่าจะปรับที่จำนวนกี่เท่าจึงจะเพียงพอ แต่ในกรณีหากรับเงินบำนาญอยู่ที่ 4 ปี 11 เดือนแล้วเสียชีวิต และยังได้รับเงินก้อนอีก ก็ถือว่าได้มากหรือไม่ จริงๆ การพูดว่ากำไรนั้น ต้องบอกว่าไม่ใช่สำนักงานฯกำไร แต่เป็นกำไรของเพื่อนๆ เงินที่อยู่ในกองทุนฯ ก็เงินเพื่อนๆทั้งนั้น

  • ผู้ประกันตนยืนยันปรับกฎหมายหากเสียชีวิตระหว่างรับบำนาญเกิน 5 ปีต้องให้ทายาท 

โดยปกติคนรับเงินบำนาญเกิน 5 ปี เงินที่สะสมมาไม่เหลือแล้ว เพราะที่เรารับมาตลอด 5 ปีก็คือเงินที่เราสะสมมา 15 ปี แต่เมื่อบอกว่า ตัวเงินสมสมที่เกิน 15 ปีเป็นอย่างไร ยกตัวอย่าง สะสมมา 35 ปี โดยเราจ่ายเงินสมทบปีละ 5 % ทุกปีๆ เป็นระยะเวลา 35 ปี แต่พอเราเกษียณเราจะเริ่มรับเงินบำนาญชราภาพรายเดือน คิดในอัตรา 50 % ของค่าจ้างเฉลี่ย 5 ปีสุดท้าย ซึ่งจะมีการคำนวณ และการนับอัตราที่กำหนดไว้ แต่ยืนยันว่าผู้ประกันตนไม่เสียเปรียบหรอก

จริงๆเรามีทำตัวเลขชัดเจน ยกตัวอย่างพวกเราจ่าย 5 % จ่ายมาถึง 15 ปี ก็จะเริ่มรับเงินบำนาญคิดเป็น 20 % ของค่าจ้าง หรือรับเงิน 4 เท่าของที่เราจ่าย แต่หากเราจ่ายเกินปีที่ 15 หรือเข้าปีที่ 16 เราจะได้รับเพิ่มอีก 1.5 % ซึ่งโดยสรุปยิ่งทำงานนาน เงินที่จะได้จากประกันสังคมก็จะมากขึ้น

อย่างผู้ประกันตนที่มีค่าจ้างมากกว่าหรือเท่า 15,000 บาท ค่าจ้างที่ใช้คำนวณเงินสมทบสูงสุดไม่เกือบเดือนละ 15,000 บาท ดังนั้นค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายคือ15,000 บาท หากท่านส่งเงินสมทบเป็นระยะเวลา 15 ปี ท่านมีสิทธิรับบำนาญรายเดือนเดือนละ 3,000 บาท แต่หากท่านส่งเงินสมทบต่ออีก 10 ปี บำนาญรายเดือนของท่านจะเพิ่มเป็น 5,250 บาท แต่หากนับ 15 ปี ผู้ประกันตนก็คุ้มแล้ว และหากมีการคิดฐานค่าจ้างมากขึ้นก็จะทำให้เราได้รับเงินบำนาญสูงขึ้นด้วย

  • มีขอเพิ่มเงินสมทบมากกว่าฐานคำนวณ 20,000 บาท

ช่วงที่ทำประชาพิจารณ์ปี 2559 มีบางกลุ่มขอคิดคำนวณจากเงินเดือนจริง แต่ด้วยระบบทำไม่ได้ เพราะจะมีรายละเอียดมาก แต่จากข้อเสนอนี้ ทำให้ทราบว่าส่วนใหญ่อยากเพิ่มทั้งนั้น เพราะจะไปเพิ่มตอนรับเงินบำนาญ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ของผู้ประกันตน

  • ใครคือผู้มีสิทธิได้รับบำนาญ

ผู้ประกันตนที่อายุ 55 ปี และต้องส่งเงินสมทบเป็นเวลา 15 ปี ซึ่งไม่จำเป็นต้องส่งต่อเนื่อง แต่สามารถส่งได้เข้าๆออกๆ จากระบบก็ได้แต่ต้องส่งเป็นเวลา 15 ปี ทั้งนี้ สรุปคือ ลูกจ้างที่ทำงานมาจะเกิดสิทธิบำนาญต้องอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี แต่หากยังทำงานอยู่ก็จะนับต่อจนเกษียณ หรือจนกว่าจะออกจากงาน

  • แต่บำนาญรายเดือนยังใช้ไม่พอ

ปัจจุบันคิดคำนวณจากฐานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น หากเงินเดือนมากกว่านี้ก็จะได้ตามที่เพดานกำหนด คือ เมื่อคำนวณแล้วจะได้เดือนละ 7,500 บาท แต่หากมีการปรับเพิ่มคิดคำนวณฐานค่าจ้างใหม่เป็น 20,000 บาท แต่ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติม จากเดือนละ 750 บาทเป็นสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท เมื่อคิดเงินบำนาญรายเดือนที่จะได้รับก็จะอยู่ที่ 10,000 บาท ซึ่งถ้าเราเห็นความสำคัญเราก็อาจค่อยๆขยับได้ เพราะหลายคนก็ยังรู้สึกว่า 10,000 บาทไม่พอกับการดำรงชีวิต

  • บางคนต้องการเงินบำเหน็จ

เรื่องบำเหน็จบำนาญทั่วโลกจะคล้ายกัน อย่างการเริ่มต้นให้บำนาญ เมื่อมาถึงจุดหนึ่งชาวบ้านอยากได้เงินก้อน แต่พอรับเงินก้อนไปสักพักก็จะรับรู้ว่าเดือดร้อน เพราะเงินหมดและกลายเป็นภาระสังคมต่อ ก็จะกลับมาขอเงินบำนาญใหม่ แต่พอถึงจุดหนึ่งความเข้าใจตรงนี้หายไปก็จะมาขอรับบำเหน็จใหม่อีก คือเรื่องเหล่านี้เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้น ซึ่งเราพอจะเข้าใจอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่สำนักงานประกันสังคมต้องยืนหยัดต่อสู้ให้เป็นเงินบำนาญ เพราะการกระจายรายได้ของประเทศยังไม่ดีเพียงพอ เห็นได้ว่าสมาชิกของเราส่วนใหญ่มีรายได้ไม่มาก อย่างเกษียณ 15 ปีได้แสนกว่าบาทถึงสองแสนบาท ซึ่งผู้ประกันตนบางส่วนก็อยากได้เงินก้อน แต่เมื่อนำไปแล้วไม่นานก็หมด ก็ต้องถามกลับว่าแล้วจะทำอย่างไร เพราะหากหมดเงินแล้วจะนำเงินที่ไหนมาใช้ และใครจะดูแล
หลายคนบอกว่าอยากเอาไปใช้หนี้ ผมอยากบอกว่า สปส.ไม่ได้อยากให้นำเงินก้อนนี้ไปใช้หนี้ แต่เพราะเงินก้อนนี้จะทำให้พวกคุณใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี

กฎหมายประกันสังคมจึงระบุว่า ไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิมาหักเงินส่วนนี้ไป คุณจะมีเจ้าหนี้กี่รายก็ตาม แต่ เจ้าหนี้จะมาหักเงินก้อนนี้ไม่ได้