เผยแพร่ |
---|
ปลัด มท. เชิญชวนประชาชน ชมโขนพระราชทาน ครั้งประวัติศาสตร์ 8 – 9 เมษายน 2566 ณ วัดพระพุทธบาท สระบุรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ที่ลานพิกุล วัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานแถลงข่าวการจัดการแสดงโขนพระราชทาน จังหวัดสระบุรี ประจำปี 2566 เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน หนุมานชาญกำแหง พร้อมรับชมการแสดงโขน ชุด “ขุนทหารถมศิลาจับมัจฉาอรทัย” แสดงโดยคณะนักแสดงจากโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง พร้อมผู้นำส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายเข้าร่วมงาน
ปลัดกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จังหวัดสระบุรีเป็นสถานที่จัดแสดงโขนพระราชทาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุงจัดการแสดงโขนพระราชทานขึ้น อันเป็นพระราชปณิธานที่ทรงตั้งพระทัยมั่นเพื่อ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระองค์ท่านสนับสนุนให้มีการจัดการแสดงโขนพระราชทาน เพื่อพระราชทานความสุขให้เหล่าพสกนิกรชาวไทย อันนับเป็นความโชคดีของเด็ก เยาวชน และพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดสระบุรี ที่จะได้เสพในศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงของชาติ ซึ่งเป็นการแสดงโดยนักแสดงจริง จึงขอให้พี่น้องชาวสระบุรีได้เตรียมตัวเดินทางมาร่วมรับชมการแสดงโขนในครั้งนี้โดยพร้อมเพรียงกัน ภายหลังจากที่พี่น้องชาวสระบุรีได้ร่วมกันรับชมโขนภาพยนตร์ (White Monkey) เมื่อปลายปีที่ผ่านมาจนเป็นจังหวัดที่มีจำนวนผู้ชมมากที่สุดมาแล้ว
“องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก, UNESCO) ได้ประกาศรับรองให้ ‘โขนไทย (Khon, masked dance drama in Thailand)’ เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Heritage) ของมวลมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 อันเป็นความภาคภูมิใจที่ทำให้พวกเราคนไทยทุกคนจะได้มีโอกาสอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีและถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานเพื่อช่วยกันธำรงรักษาสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งนี้ให้คงอยู่คู่กับประเทศไทยต่อไป เพราะการแสดงโขนนี้เป็นศิลปวัฒนธรรมที่มีความงดงาม ทั้งด้านการแสดงและเครื่องแต่งกาย มีความประณีตงดงาม มีบทประพันธ์ที่มีเนื้อหาที่สมบูรณ์แบบ ท่วงท่าการร่ายรำที่มีความอ่อนช้อยและแสดงออกถึงเอกลักษณ์พิเศษของแต่ละตัวละคร ทั้งยังมีดนตรีที่มีความเป็นคีตศิลป์ชั้นสูง และยิ่งไปกว่านั้นคือมีการแสดงที่แฝงไปด้วยคติเตือนใจให้กับผู้ชมได้เรียนรู้หลักคุณธรรมจริยธรรม เพราะการแสดงโขนรามเกียรติ์นี้เป็นเครื่องตอกย้ำว่า “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” เสมอ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การแสดงโขนพระราชทานจังหวัดสระบุรีในครั้งนี้ จะยังผลให้เกิดประโยชน์ต่อเด็ก เยาวชน ตลอดจนพี่น้องประชาชนชาวสระบุรีทุกท่าน กล่าวคือ ประการที่ 1 จะทำให้เด็กและเยาวชนได้สัมผัสการแสดงโขนของจริงภายหลังได้รับชมโขนภาพยนตร์แล้ว อันเป็นการเสริมสร้างแรงบันดาลใจและแรงปรารถนา (Passion) ให้กับเด็กรุ่นใหม่ได้มีความรัก ความหวงแหน และมุ่งมั่นในการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของชาติไทย ประการที่ 2 วัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองมีความสำคัญต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งผู้ที่เดินทางมานอกจากจะได้ทำบุญ ได้รับชมโขนแล้ว ยังจะได้ศึกษาเรียนรู้ตำนานต่าง ๆ ของวัดพระพุทธบาทที่บอกเล่าสืบต่อกันมา เช่น ตำนานพรานบุญออกล่าสัตว์และยิงธนูถูกกวางตัวหนึ่ง ซึ่งกวางที่ถูกพรานบุญยิงได้ตกลงไปในรอยพระพุทธบาทและกินน้ำในรอยพระพุทธบาท จนทำให้แผลที่ถูกยิงหายไปและมีร่างกายแข็งแรง มีชีวิตรอด รวมถึงท้าวเวสสุวรรณ 2 องค์ ที่สมัยโบราณเรียกว่า ตา ยาย ซึ่งถือเป็นท้าวเวสสุวรรณที่มีความเก่าแก่ที่สุดที่มีหลักฐาน โดยท่านนายกธนพิพัฒน์ วิธูชุลีโชติ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหน้าพระลาน ได้พบว่ามีภาพซึ่งมิชชันนารีได้เคยถ่ายไว้เมื่อปี 2427 อันเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความเก่าแก่ขององค์ท้าวเวสสุวรรณ และประการที่ 3 เป็นโอกาสที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้ขยายผลรื้อฟื้นเส้นทางดี ๆ รอบพระพุทธบาทเพิ่มเติม ทั้งควายไทย ไม้ตะพดเคาะระฆัง และเส้นทางธารทองแดง ถ้ำ จปร. เพื่อเป็นเส้นทางศึกษาประวัติศาสตร์ให้กับคนรุ่นต่อไป
ปลัด มท. เผยว่า ที่ผ่านมาคณะผู้จัดได้ทำการแสดงโขนพระราชทานครั้งแรกของปี 2566 นี้ที่จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก โดยพี่น้องประชาชนชาวเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงต่างแต่งกายด้วยผ้าไทยมารับชมโขนกันอย่างล้นหลาม หลากสีสัน ตระการตา เป็นการแสดงออกว่า “เราเป็นคนไทยและช่วยกันสนับสนุนให้พี่น้องคนไทยด้วยกันมีรายได้” ทั้งยังส่งเสริมในการช่วยกันรักษาอัตลักษณ์การแสดงวัฒนธรรมไทยและเสื้อผ้าไทย และที่เป็นที่น่าประทับใจอย่างยิ่งมากขึ้น คือ มีเด็ก ๆ ซาบซึ้งในความงดงามการแสดงโขน และมาไหว้ตัวละครหนุมาน เป็นการแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยจะมีความรัก ความสามัคคี ความนอบน้อม หวงแหนความเป็นไทย จึงขอถือโอกาสนี้เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนคนสระบุรีสวมเสื้อผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่น มารับชมการแสดงโขนพระราชทานที่เป็นวัฒนธรรมประเพณี ในวันที่ 8 – 9 เมษายน 2566 นี้
สำหรับโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง จะมีการจัดแสดงโขนพระราชทานทั้งหมด 4 ภาค ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้นำโขนกลับมาแสดงให้คนไทยได้รับชม โดยทรงมีพระราโชบายให้จัดแสดงโขนพระราชทานสัญจร จัดแสดงตามภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันจังหวัดสระบุรีถือเป็นจังหวัดที่ 5 จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ได้มาจัดแสดงให้พี่น้องชาวสระบุรีได้รับชมกัน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ในวันที่ 8 – 9 เมษายน 2566 นี้ จะเป็นภาพแห่งประวัติศาสตร์ของจังหวัดสระบุรี เพราะจะเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จะได้จัดพิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์จังหวัดสระบุรี โดยได้รับการสนับสนุนจากท่านนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย โดยหนังสือเล่มนี้จะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์เล่มสำคัญที่จะคงอยู่คู่กับจังหวัดสระบุรี เพื่อให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้ ได้ดู ได้เห็น ได้รำลึก ถึงประวัติศาสตร์และกิจกรรมที่พวกเราทุกคนได้ร้อยรวมพลัง ร้อยรวมใจรังสรรค์เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีกับจังหวัดสระบุรี ดังนั้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดสระบุรีและจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง ร่วมแต่งกายด้วยชุดย้อนยุค หรือผ้าไทย รับชมการแสดงโขนพระราชทาน เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน หนุมานชาญกำแหง ในวันที่ 8-9 เมษายน 2566 เวลา 19.00 น. ณ บริเวณวงเวียนธรรมจักร วัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร โดยไม่มีค่าใช้จ่าย