จีนเสนอตัวชงแผน “บันได 3 ขั้น” ยุติวิกฤตโรฮิงญา ชี้ความยากจนเป็นต้นตอปัญหา

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า จีนเตรียมเสนอแผนการณ์ 3 ระยะในการแก้ไขปัญหาวิกฤตชาวโรฮิงญา ยุติความขัดแย้งในรัฐยะไข่เพื่อให้ผู้อพยพชาวโรฮิงญาสามารถเดินทางกลับมาได้ ก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกยุโรปและเอเชียหรืออาเซม ที่กรุงเนปิดอว์วันนี้

นายหวัง หยี รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนได้กล่าวว่า จีนเชื่อว่าวิกฤตโรฮิงญาสามารถหาทางแก้ไขที่ยอมรับได้ทั้งพม่าและบังคลาเทศผ่านการปรึกษาหารือ โดยระยะแรกจะต้องมีการหยุดยิงโดยสิ้นเชิง กลับคืนสู่เสถียรภาพและความสงบ ซึ่งทำให้ประชาชนพบแต่สันติและไม่ต้องถูกบังคับให้ลี้ภัยอีกต่อไป ด้วยการทำงานอย่างหนักจากทุกฝ่าย ทำให้จุดมุ่งหมายในระยะแรกประสบผลสำเร็จในระดับพื้นฐานแล้ว และกุญแจสำคัญคือยับยั้งชนวนเหตุ โดยเฉพาะจะต้องไม่มีไฟแห่งสงครามให้ปะทุอีก

นายหวังกล่าวว่า หลังการหยุดยิงสัมฤทธิ์ผล จะต้องตามด้วยระยะที่สองคือข้อยุติที่สามารถทำงานได้ และระยะที่สามจะต้องทำงานมุ่งบรรเทาปัญหาความยากจนโดยเน้นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เพราะความยากจนเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง

นายหวังยังกล่าวอีกว่า ประชาคมระหว่างประเทศและคณะมนตรีความมั่นคงขององค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ควรให้กำลังใจและสนับสนุนทั้งสองประเทศ ที่จะสร้างเงื่อนไขจำเป็นและบรรยากาศที่ดี

ด้านนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯที่เดินทางเยือนพม่าเมื่อสัปดาห์แล้ว กล่าวประณามกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งรัฐอาระกัน หรือาร์ซา ที่โจมตีจนลุกลามกลายเป็นวิกฤต แม้ว่าต่อมากลุ่มอาร์ซาประกาศหยุดยิงแล้วและยังไม่มีเหตุปะทะนับแต่นั้นอีก และส่งเสียงสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของพม่า ภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางอองซาน ซูจี อย่างไรก็ตาม นายทิลเลอร์สัน ได้เรียกร้องให้มีการสืบสวนที่น่าเชื่อถือถึงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญาโดยกองทัพพม่า แต่บรรดานายพลหลายคนของพม่าชี้แจงว่า ปฏิบัติทางทหารของพม่าเน้นแต่การรักษาความมั่นคงภายในเท่านั้น

สำหรับสหรัฐฯและชาติตะวันตกอื่น ได้หันมาให้ความสนใจกับพม่ามากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ที่ทำให้ระบอบเผด็จการทหารที่ปกครองพม่าเกือบ 5 ทศวรรษได้ยุติ ซึ่งเฟเดริก้า มอร์เกรินี่ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปหรืออียู คาดหวังถึงสิ่งที่จะนำเสนอในการประชุมอาเซมและจะมีแผนเดินทางเยือนบังคลาเทศในช่วงสุดสัปดาห์นี้

ขณะที่สื่อทางการของพม่ารายงานว่า การประชุมอาเซมครั้งนี้ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอาเซียน ตัวแทน 28 ประเทศสมาชิกของอียู ประเทศนอกสมาชิกอียู 2 ประเทศ ผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และอีก 11 ประเทศจากเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียใต้ รวมทั้งหมด 51 ประเทศ

ทั้งนี้ จีนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับทั้งพม่าและบังคลาเทศ ซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญในพื้นที่ขัดแย้งบริเวณชายแดนที่ติดกับจีน และความขัดแย้งที่ยืดเยื้อส่งผลทำให้มีผู้อพยพหาที่หลบภัยในจีน โดยนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโรฮิงญาขึ้น จีนได้แสดงบทบาทหลายครั้งในการสนับสนุนความพยายามของพม่าในการรักษาเสถียรภาพให้กลับมาปกติ