‘นฤมล’ นำทีมว่าที่ผู้สมัครพปชร. กรุงเทพฯ เปิดเวทีระดมความคิด เดินหน้าประเทศออกจากทางตัน หวัง ส.ส. กทม. 12 ที่นั่ง

“นฤมล” จัดเวทีสลายความแตกแยก เดินหน้าประเทศออกจากทางตัน  หวังคว้า ส.ส. กทม. 12 ที่นั่ง แม้ กกต. ปรับเขตเลือกตั้งใหม่

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จัดเวที Workshop “ปลดล็อก ทลาย Gen ร่วมคิด ระดมทำ” เพื่อขยายผลและนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน และมองภาพอนาคตของประเทศไทยนับจากนี้ไป ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายเจนเนอเรชั่น นำโดย ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. ประกอบด้วย ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช ดร.บุณณดา สุปิยพันธุ์ นายนิธิ บุญยรัตกลิน และนายกานต์ กิตติอำพน ร่วมด้วยตัวแทนประชาชนจากคนทุกช่วงวัยและทุกกลุ่มวัฒนธรรม

สำหรับจุดประสงค์การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า นโยบายหลักของพรรคพลังประรัฐ คือ ต้องการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวข้ามความขัดแย้งในทุกมิติ โดยผลจากการรับฟังความคิดเห็นของว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. และภาคประชาชนทุกเจนเนอเรชั่น พรรคฯ จะนำไปจัดทำนโยบายที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนได้ทุกกลุ่มอย่างถ้วนหน้า ซึ่งพรรคฯ จะมีเวทีให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นกับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เพื่อร่วมหาแนวทางในประเด็นต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งหน้าจะเป็นเรื่องแนวทางการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน เพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน

การพูดคุยในครั้งนี้พรรคพลังประชารัฐได้กำหนดหัวข้อในการระดมความคิดไว้ 4 มิติสำคัญ ได้แก่ 1.มิติทางการเมือง 2. มิติทางด้านวัฒนธรรม 3.มิติทางด้านเศรษฐกิจ และ 4.มิติทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการระดมความคิดเห็นร่วมกัน ได้ข้อสรุปดังนี้

1.มิติทางการเมือง ทุกฝ่ายเห็นว่าทุกคนสามารถมีความเห็นที่แตกต่างกันได้แต่ต้องถกเถียงพูดคุยกันด้วยเหตุผลอย่างสันติ โดยพรรคพลังประชารัฐพร้อมเปิดให้ทุกฝ่ายและคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การหาข้อสรุประบบประชาธิปไตย
2. มิติทางด้านวัฒนธรรม ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข แม้จะแตกต่างทั้งศาสนา วัฒนธรรม หรือความคิด และทุกฝ่ายจำเป็นต้องรับฟังทุกความแตกต่าง ซึ่งพรรคฯ จะนำข้อเสนอไปต่อยอดพัฒนานโยบายให้ตอบโจทย์กับทุกช่วงวัยและทุกกลุ่มวัฒนธรรม
3. มิติทางด้านเศรษฐกิจ ภาครัฐจะต้องมีนโยบายให้เข้าถึงตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน และสังคม เพื่อช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคง ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้
และ 4.มิติทางสิ่งแวดล้อม ภาครัฐต้องทำงานในลักษณะบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ซึ่งพรรคพลังประชารัฐพร้อมที่จะประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะนำไปสู่การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าเรื่องมลพิษที่เกิดขึ้น

“ขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ รวมถึงการลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหาต่าง ๆ และความต้องการของประชาชน ของว่าที่ผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งข้อสรุปในครั้งนี้จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายของพรรคที่มาจากเสียงสะท้อนภาคประชาชนอย่างแท้จริง และพรรคฯ พร้อมจะเดินหน้าเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าถึงการช่วยเหลือและนำไปสู่การกำหนดนโยบายในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริงและให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ศ.ดร.นฤมลกล่าว

ขณะที่นายนิธิกล่าวว่า สิ่งที่ได้จากการทำกิจกรรมในวันนี้ก็คงจะเป็นการตอกย้ำว่า สังคมไทยยังมีเรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่างในหลากหลายมิติ แม้จะไม่ได้รุนแรง หรือแบ่งสีแบ่งขั้วเหมือนในอดีต แต่ปัญหาทุกวันนี้ซึมลึกและซ้ำซ้อนกระจายออกไปในวงกว้าง จนถึงระดับครอบครัวไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง หรืองความคิดเห็นที่แตกต่างในช่วงวัยต่าง ๆ โดยเฉพาะมุมมองของคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า ซึ่งเราต้องก้าวมข้ามเรื่องนี้ไปให้ได้
“ความต้องการของประชาชนในตอนนี้ คือ ต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อยากเห็นอนาคตของลูกหลานได้โตมาในประเทศที่ชื่อว่า เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะเราย่ำอยู่กับประเทศที่กำลังพัฒนามานานแล้ว ด้านคนรุ่นใหม่ก็อยากเห็นความเป็นอยู่ที่ดี ความยุติธรรมในสังคมระบบราชการที่เป็นที่พึ่ง ที่หวังให้กับสังคมได้ เราต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างซึ่งกันและกัน คนรุ่นใหม่นำประสบการณ์จากคนรุ่นเก่า มาร่วมกันพัฒนาประเทศ” นายนิธิ กล่าว

ด้าน ดร.บุณณดา กล่าวว่า ประเทศไทยมีความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรม ในเรื่องที่เราจะก้าวความขัดแย้งด้วยกัน เราจะก้าวข้ามอย่างไร เราจะก้าวข้ามไปสู่การพัฒนาที่มีส่วนร่วมร่วมกันได้อย่างไร วันนี้มีภาคประชาชน ผู้นำของชุมชน รวมถึงน้อง ๆ ในชุมชน และผู้สูงอายุ เรียกได้ว่ามีความแตกต่างกันในช่วงวัย ความเชื่อ และความไม่เข้าใจกันในหลายหลายเรื่อง สิ่งที่เรา หาทางออกร่วมกัน และอยากจะนำเสนอเป็นนโยบายก็คือ เราจำเป็นแล้วหรือไม่ ที่เราจำเป็นต้องมีหลักสูตรการเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน ที่อาจจะต้องบรรจุเข้าไปการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการเลยหรือไม่ โดยมีเป้าหมายนำพาประเทศไปสู่สันติสุข
ในส่วนของ ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในหลายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝุ่น เรื่องน้ำ เรื่องพันธุ์พืช และสัตว์น้ำ ที่กลายเป็นเรื่องเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ ปัญหาอย่างหนักในตอนนี้คือ ปัญหาเรื่องฝุ่น ที่คนไทยเกือบครึ่งประเทศกำลังประสบปัญหาเรื่องนี้อยู่ สิ่งที่เราต้องทำ คือการสร้างความตระหนักต่อสาธารณะ เราจำเป็นต้องปลูกฝังคนไทยตั้งแต่ในช่วงวัยเด็ก เหมือนเช่นหลาย ๆ ประเทศ จนทุกคนมีสำนึกในการรักษ์โลก เริ่มต้นจาก การคัดแยกขยะ ที่สามารถเริ่มต้นได้กับทุกคน ทุกวัย ทุกเพศ เราก็จะได้สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นได้ รวมไปถึงขยะเหล่านี้ก็ยังกลายเป็นรายได้ให้กับคนในชุมชนได้ด้วย

ส่วนนายกานต์ กล่าวว่า สตรีทฟู้ด ถือเป็นจุดเด่น และจุดขายให้กับการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งอาหารสตรีทฟู้ดมีกระจายอยู่หลายพื้นที่ใน กทม.ดังนั้น หากเราดึงร้านเหล่านี้ออกมารวมกันเป็นดาต้าฮับเพื่อเป็นฐานข้อมูลให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และในประเทศให้สามารถเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ได้ง่าย ก็จะเป็นการเพิ่มและกระจายรายได้ไปในพื้นที่ต่างๆได้กว้างขวางมากขึ้น

ทั้งนี้ ศ.ดร.นฤมล กล่าว ถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ รวมถึงพื้นที่ กทม.ด้วยว่า ขณะนี้พรรคได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการถึงกรณีดังกล่าวแล้ว ยอมรับว่ากระทบการจัดผู้สมัคร ส.ส. ในบางเขต เนื่องจากมีการทับซ้อนกัน ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกันอยู่ อย่างไรก็ตามพรรคฯ ยังคงตั้งเป้าหมายการได้ ส.ส. ในเขต กทม. ไว้อย่างน้อย12 ที่นั่งเหมือนเมื่อปี 62 หรือมากกว่าเดิม