ผบก.ปคม.ชี้ ลอยแพดูไบ เข้าข่ายผิดค้าแรงงาน ยังค้างกว่า 30 คน เร่งช่วยกลับไทย

เมื่อวันที่17 พฤศจิกายน ที่กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์(ปคม.) พล.ต.ต.กรไชย คล้ายคลึง ผบก.ปคม. พร้อมด้วย พ.ต.อ.จิรเดช พระสว่าง รองผบก.ปคม. ร่วมกันชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีกลุ่มแรงงานไทยกว่า 100 คน ไปทำงานที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถูกลอยแพไม่สามารถเดินทางกลับได้ ขณะนี้ไทยประกอบด้วยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงแรงงาน เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์(ปคม.) ได้ร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือ ช่วยกันมาแล้ว 61 คน ล่าสุด อีก 36 คน ซึ่งเป็นล๊อตที่ 5 รวมทั้งหมดเป็น 97 คน โดยปคม. ได้นำตัวแรงงานทั้งหมดมาให้ข้อมูลว่า ขณะนี้กำลังเรียกผู้เสียหายมาสอบปากคำพร้อมกับหพม. และสตม. โดยตอนนี้กำลังรอคำสั่งจากสตช.ว่า จะให้หน่วยงานไหนดำเนินการ หากเป็น ปคม.พร้อมทำงานอย่างเต็มความสามารถ ทั้งนี้คนงานที่ไปทำงานที่เมืองดูไบ มีทั้งหมด 130 คน ขณะนี้กลับมาแล้ว 97 คน เหลืออีก กว่า 30 คน ที่อยู่ระหว่างช่วยเหลือกลับประเทศ เบื้องต้นปคม. จะต้องสอบปากคำแรงงานทั้งหมด รวมถึงเรียกบริษัทนายหน้ามาสอบปากคำก่อน จากนั้นจึงจะสรุปว่าเข้าข่ายความผิดการค้ามนุษย์หรือไม่ แต่เบื้องต้น คาดว่าน่าจะเข้าข่ายความผิดการค้าแรงงาน ผิดสัญญาจ้างงาน การโฆษณาชวนเชื่อ หรือการฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากความผิดฐานค้ามนุษย์ส่วนใหญ่นั้นแรงงานจะถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว ไม่ให้ได้รับอิสรภาพ แตกต่างจากคดีนี้ที่แรงงานยังสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ ส่วนกรณีการยึดพาสปอร์ตนั้นจะต้องพิจารณาถึงเจตนาของผู้ยึดก่อน ว่ามีเจตนากักขังหน่วงเหนี่ยวแรงงานหรือเพียงเก็บรักษาเอกสารสำคัญ อย่างไรก็ตามต้องขอบคุณกรมการกงสุลที่ทำหน้าที่สำคัญในการประสานงานช่วยเหลือแรงงานดังกล่าว

ด้านตัวแทนแรงงาน เปิดเผยว่า รู้จักบริษัทจัดหางานจากเพื่อนที่เคยไปทำงานด้วยกัน โดยบริษัทอ้างว่าจะจ้างให้ไปทำงานในตำแหน่งเชื่อมเหล็ก ได้ค่าจ้าง 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง โดยไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายผ่านทางกรมแรงงาน เเละมีสวัสดิการต่างๆอาทิที่พัก ค่าอาหาร และการรักษาพยาบาล จึงตกลง ไปทำงานและจ่ายค่าดำเนินการ ค่าตั๋วและค่าวีซ่ารวมสองหมื่นห้าพันบาท แต่เมื่อไปถึงกลับถูกยึดพาสปอร์ต และให้ทำงานในตำแหน่งงานที่ยากกว่า ควรจะได้รับค่าจ้าง 7-8 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง อีกครั้งยังไม่ได้รับสวัสดิการตามที่ตกลงกันไว้ ต้องแอบทำอาหารในที่พักอย่างหลบๆซ่อนๆ อยู่กันอย่างยากลำบาก ทำให้แรงงานไม่พอใจ และหยุดงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม แต่บริษัทที่ประเทศดูไบได้มีคำสั่งยกเลิกสัญญาโดยไม่จ่ายค่าจ้าง และบังคับให้แรงงานเซ็นยอมรับว่ามีการหยุดงานจริง แลกกับการได้รับพาสปอร์ตคืนเพื่อเดินทางกลับประเทศ

ด้านนายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่าย ต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา และพระมหา กษัตริย์ เผยว่าได้รับติดต่อจากผู้เสียหายกลุ่มดังกล่าว จึงเข้าไปช่วยเหลือหน่วยงานไทย เช่น ตำรวจ สตม. บก.ปคม. และกระทรวงแรงงาน เข้ามาช่วยเหลือ ที่ถูกหลอกไปทำงานเป็นช่างแรงงาน ตำแหน่งช่างเชื่อมที่เมืองดูไบ ซึ่งบริษัท ที่หลอกคนเหล่านี้ไปทำงาน แต่สุดท้ายไม่ได้ทำ ทางดูไบไม่ยอมรับงาน แถมเก็บค่าหัวคิวและค่าดำเนินการไปคนละ 25,000 บาท เมื่อต้องการกลับพวกแรงงานจะถูกบังคับให้เซ็นเอกสารว่าไม่ติดใจเอาความกับบริษัทที่นำไป หลังจากนี้จะเข้าข่ายการค้ามนุษย์หรือไม่รอให้ตำรวจสอบปากคำ และดูข้อกฎหมาย รวมทั้งให้ผู้เสียหายหาหลักฐาน และใบโบว์ชัวรโฆษณาชวนเชื่อให้ไป ให้ตำรวจมาเป็นหลังฐานในการตรวจสอบ และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป