เปิดอันดับ ดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ 2023 “ไทย” ตามหลัง “เวียดนาม-อินโดฯ-มาเลย์”

มูลนิธิเฮอริเทจ (Heritage Foundation) ซึ่งเป็นคลังสมองของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศ “ดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ประจำปี 2023” (2023 Index of Economic Freedom) โดยพิจารณานโยบายและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจใน 184 ประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2021 ถึง 30 มิถุนายน 2022 ผลปรากฏว่า ประเทศไทย มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจในระดับปานกลาง และติดอันดับ 80 มีคะแนนรวม 60.6 ลดลงอย่างมาจากอันดับ 70 และคะแนนรวม 63.2 ใน 2022  Index of Economic Freedom ขณะที่อันดับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งมี 39 ประเทศ ก็ลดลงมาที่อันดับ 16 จากอันดับที่ 13 ในปีก่อน เนื่องจากคะแนนของ 12 ตัวชี้วัด ลดลงเกือบทุกตัวยกเว้น ตัวที่ 11 Business Freedom เสรีภาพด้านธุรกิจ

ทั้งนี้รายงานวิจัยดังกล่าวระบุว่า สำหรับประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่มีความท้าทายหลัก ได้แก่ ความจำเป็นในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการปฏิรูปหน่วยงานต่างๆให้ก้าวหน้า ทั้งนี้ ไทยมีข้อกังวลหลักคือความไม่มั่นคงทางการเมือง ซึ่งยังคงบั่นทอนบรรยากาศการลงทุนและศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมถึงระบบตุลาการไม่มีประสิทธิภาพและเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงทางการเมือง และการทุจริตคอร์รัปชันยังคงเป็นปัญหา

รายงานดังกล่าวยังระบุปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองไทยด้วยว่า ประเทศไทยประสบกับการรัฐประหารมาแล้ว 19 ครั้ง นับตั้งแต่มีการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2475

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า สิงคโปร์เป็นอันดับ 1 ของโลก ด้วยคะแนน 83.9 ตามมาด้วยมาเลเซีย อันดับที่ 42 ด้วยคะแนน 67.3 อันดับที่ 48 บรูไนฯ 65.7 คะแนน อันดับที่ 60 อินโดนีเซีย 63.5 คะแนน อันดับที่ 72 เวียดนาม 61.8 คะแนน และประเทศไทย อันดับที่ 80 60.6 คะแนน ส่วนกัมพูชา อันดับที่ 110 ได้ 56.5 คะแนน ลาว อันดับที่ 147 ได้ 50.3 คะแนน และพม่าได้อันดับที่ 162 ได้คะแนน 46.5 คะแนน

ในรายงาน “ดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ประจำปี 2023” ชี้ว่า นับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา เศรษฐกิจโลกเกิดความผันผวนที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยลง ประกอบกับทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 และสงครามรัสเซีย – ยูเครน อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกเช่นนี้ ส่งผลให้มีเพียง 4 ประเทศที่มีผลคะแนนเฉลี่ย 80 คะแนนขึ้นไปในด้าน “เสรีภาพทางเศรษฐกิจ” ซึ่งผลคะแนนรวมโดยเฉลี่ยของไต้หวันอยู่ที่ 80.7 คะแนน เป็นรองเพียงสิงคโปร์ที่อยู่อันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์ที่อยู่อันดับ 2 และไอร์แลนด์ที่อยู่อันดับ 3 แซงหน้ากลุ่มเศรษฐกิจแนวหน้าของโลกอย่างนิวซีแลนด์ที่อยู่ในอันดับ 5 ออสเตรเลียที่อยู่อันดับ 13 เยอรมนีในอันดับ 14 เกาหลีใต้ที่อันดับ 15 แคนาดาอันดับ 16 สหรัฐอเมริกาอันดับ 25 อังกฤษอันดับ 28 ญี่ปุ่นอันดับ 31 และจีนในอันดับ 154

โดยเกณฑ์การจัดอันดับดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ จะวัดจากปัจจัย 4 ประการ (ระบบกฎหมาย ขนาดของรัฐบาล ประสิทธิภาพในการควบคุมดูแล และการเปิดเสรีของตลาด) รวมถึงตัวชี้วัดอีก 12 รายการ (สิทธิด้านทรัพย์สิน ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม ความโปร่งใสของรัฐบาล ภาระทางภาษีอากร รายจ่ายของรัฐบาล ความมั่นคงทางการเงิน เสรีภาพในการประกอบธุรกิจ เสรีภาพของแรงงาน เสรีภาพด้านค่าเงิน เสรีภาพทางการค้า เสรีภาพด้านการลงทุนและเสรีภาพทางการเงิน) เพื่อประกอบการพิจารณาประเมินผล