เผยแพร่ |
---|
อ.ปริญญา มั่นใจ เพื่อไทย มาอันดับหนึ่ง แต่ไม่แลนด์สไลด์ ย้ำต้องปิดสวิตช์ ส.ว. หยุดปฏิวัติ ชี้ เลือกตั้ง 66 จุดเปลี่ยนประเทศ
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 23 ก.พ. 2566 ที่บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เครือมติชน จัดแถลงข่าว “มติชน : เลือกตั้ง’66 บทใหม่ประเทศไทย” ร่วม “วิเคราะห์เลือกตั้ง’66 อนาคตประเทศไทย” โดยนายสรกล อดุลยานนท์ หรือหนุ่มเมืองจันท์ นักเขียน คอลัมนิสต์ชื่อดัง และผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายสรกล กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นบรรยากาศที่คลี่คลายกว่าปี 62 เพราะไม่ได้เลือกตั้งหลังรัฐประหาร และตอนนั้นมีเรื่องของมาตรา 44 มีรัฐธรรมนูญที่คสช.ร่างขึ้นมา จึงมองว่าครั้งนี้น่าจะคลี่คลายกว่าเดิม พล.อ.ประยุทธ์ อยู่มานาน 9 ปี ความรู้สึกของคนเริ่มเปลี่ยน แต่การเลือกตั้งของเราทุกวันนี้มันอยู่กับความกลัว กับคำที่ว่าไม่เลือกเรา เขามาแน่ การเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญที่สุด
ด้านผศ.ปริญญา กล่าวว่า ตนมองการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยน คนที่ยึดอำนาจเมื่อ 9 ปีที่แล้วจะได้เป็นนายรัฐมนตรีอีกหรือไม่ แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ จะเกิดขึ้นเมื่อส.ว.ชุดนี้หมดวาระ อำนาจในการเลือกนายกฯ องค์กรอิสระ และตุลาการศาลจะหมดไป ด้วยวาระ 5 ปีที่จะหมดไปในวันที่ 11 พ.ค. 67 ดังนั้น ในการเลือกตั้งอะไรก็ตามที่มีการเลือกก่อนปี 67 จะยังคงอำนาจส.ว. และเลือกนายกฯได้ ที่บอกว่าเลือกตั้งปี 66 ประชาชนเป็นผู้กำหนดนั้น ถูกต้องครึ่งเดียว เพราะพรรคที่แลนด์สไลด์ของจริงคือ 250 ส.ว. นอนมาแล้ว
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สำคัญคือ 2 ป. แตกกันหรือไม่ ส.ว.เสียงแตกหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่ที่ประชาชน เพราะขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงของแต่ละพรรค การเลือกตั้งครั้งนี้ หากฝั่งที่ไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ ได้ถึง 300 เสียงในสภา ส.ว.จะกล้าหรือไม่ ซึ่งพรรคเพื่อไทยมาอันดับหนึ่งแน่ แต่ไม่แลนด์สไลด์ เพราะการเลือกตั้งปี 54 ไม่มีพรรคอื่นมาแบ่งคะแนน แต่ครั้งนี้มีพรรคมาแบ่ง ซึ่งฐานของเพื่อไทยกับก้าวไกล แยกกันพอสมควร อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่า 2 ป.แตกกันจริง แต่จะไปรวมกันหรือไม่อยู่ที่ผลการเลือกตั้ง
“ย้ำว่าเลือกตั้งครั้งนี้ต้องหยุด ส.ว. ไม่ให้เลือกนายกฯ เพราะการหยุด ส.ว. คือการหยุดปฏิวัติ อยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้กลับสู่ประชาธิปไตยเต็มตัว และเมื่อไม่มีส.ว. ก็จะเป็นประตูสู่การแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะแก้ด้วยทางไหนก็ตาม ซึ่งวันที่ 11 พ.ค. 67 ที่ส.ว.ชุดนี้ครบวาระ วันนั้นเราจะเริ่มแก้รัฐธรรมนูญได้ ซึ่งหวังว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย” นายปริญญา กล่าว