“มีชัย”โยน กกต.ชงแก้กม.ลูก ยืดเวลา หากพรรคการเมืองทำงานทะเบียนไม่ทัน

“มีชัย” โยน กกต.ชงแก้กฎหมายลูก ยืดเวลา หากพรรคการเมืองทำงานทะเบียนไม่ทัน

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง การจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การเลือกตั้งส.ส. และการได้ซึ่งส.ว. 2 ฉบับสุดท้าย ว่า จะเสร็จทันวันที่ ‪28 ‬พฤศจิกายน ตามกำหนดที่จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ส่วนการพิจรณาในชั้นกรรมาธิการของสนช. หากตั้งคณะเดียวพิจารณาทั้ง 2 ฉบับ ได้ก็จะดี เบื้องต้นกรธ.จะพิจารณากฎหมายลูกว่าด้วยส.ส.เสร็จภายในสัปดาห์นี้ แล้วสัปดาห์จะเอามาดูคู่กับกฎหมายส.ว. ว่า ต้องแก้อะไรให้สอดคล้องกันบ้าง ส่วนที่ข้อสังเกตุว่า กฎหมายส.ส. มีปัญหา เช่นการแยกเบอร์ผู้สมัครฯ นั้น ในการพิจารณา เรามีตัวแทนจากกกต.มานั่งด้วย เขาบอกทำได้

เมื่อถามถึง การทำไพรมารีโหวต มีกำหนดในกฎหมายเลือกตั้งส.ส.หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ไพรมารีโหวตอยู่ในกฎหมายพรรคการเมือง เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้องกำหนดไว้ในข้อบังคับของพรรค ส่วนรายละเอียดอื่นที่พรรคต้องทำ หากทำไม่ทัน สามารถขอให้กกต.ขยายเวลาได้ หรือสามารถแก้กฎหมายพรรคการเมืองได้ โดย กกต.ก็มีอำนาจเสนอ มาให้สนช.พิจารณา ตรงไหนมีปัญหาก็แก้ ซึ่งเหมาะสมกว่าการออก ม.44 สำหรับประเด็นที่พรรคการเมืองต้องตรวจสอบจำนวนสมาชิกของพรรคตามกฎหมายกำหนด อาจใช้วิธีการส่งจดหมาย หรือใช้การสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต ให้ สมาชิกพรรคนั้นยืนยันการเป็นสมาชิก ส่วนกรณีการตรวจสอบคุณสมบัติของสมาชิกพรรค เช่น ถูกคำพิพากษาให้จำคุก นั้นต้องให้บุคคลนั้นลงนามเพื่อยืนยัน และรับรองเพื่อให้พรรคไม่เกิดปัญหา

“ผมไม่รู้ว่าเวลาจะทันหรือไม่ ต้องสอบถามทางพรรค หากพรรคทำไม่ทัน หรือเวลาไม่พอก็ต้องแจ้งมา เพื่อไปแก้ไขเรื่องเวลา หาก กกต. แก้ไขเรื่องเวลาได้ เขาคงแก้ หากแก้ไขไม่ได้ ต้องแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง” นายมีชัย กล่าว

เมื่อถามถึง ข้อกำหนดการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และกฎหมายลูก ให้เปิดเผยโดยสรุป จะกระทบสิทธิการรับรู้ข้อมูลหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า กฎหมายป.ป.ช.ต้องเปิดเผย แต่อย่าเปิดจนเขาเดือดร้อน เช่น เลขบัตรประชาชน เลขทะเบียนต่างๆ เปิดโดยสรุป หมายถึงอย่างเปิดข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งก็ไม่ได้ริดรอนสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การเปิดเผยก็ต้องเปิดครบเหมือนเดิม แต่ไม่มีข้อมูลส่วนบุคคล มิเช่นนั้นจะมีคนไม่หวังดีเอาข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ เราต้องปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของเขาด้วย จึงไม่ได้ถอยหลังไปกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา