ผู้ว่าฯโต้ ไม่ได้คุมตัวแกนนำสวนยางเข้าค่าย แค่ร่วมมือกันแก้ปัญหา แนะชาวสวนแปรรูปเพิ่มมูลค่า

ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แกนนำเรียกร้องแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ร่วมหาทางแก้ปัญหาราคายางหล่นร่วง ขณะที่ผู้ว่า โบ้ย อุ้มแกนนำเข้าค่ายทหาร แต่เป็นการร่วมกันแก้ปัญหาราคายางเท่านั้น

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ภายในห้องแถลงข่าว ศาลากลางจังหวัดตรัง นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายวสันต์ ถนอมทรัพย์ นายชัชวาล ฉายะบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรังและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยมีวาระการแถลงข่าวประเด็น การแก้ปัญหายางพาราในสถานการณ์ปัจจุบันของจังหวัดตรัง โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรังยื่นข้อเรียกร้องผ่านจังหวัดไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายกรัฐมนตรี ได้มีการดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยมีนายประสบ สุขสนาน เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรัง นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ ร่วมรับฟังในการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำในครั้งนี้

นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่าเบื้องต้นขอชี้แจงให้ทราบว่าการเรียกให้ตัวแทนเครือข่ายสถาบันเกษตรกรยางใน จ.ตรัง 2 ท่านเข้าพบภายในค่าย ร.15 พัน 4 ค่ายพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ไม่ได้เป็นการอุ้มเข้าค่ายทหารไปปรับทัศนคติหรือห้ามไม่ให้ไปร่วมสมทบกับตัวแทนจากภาคอื่นๆ เพื่อเข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 60 ที่ผ่านมา แต่เป็นการขอพูดคุย ทำความเข้าใจ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดตรัง และขอให้มีการร่วมกันกำหนดแนวทางแก้ปัญหากันภายใน ส่วนข้อเรียกร้องระดับประเทศก็ยินดีส่งไปยัง คสช. รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ซึ่งทุกฝ่ายก็พูดคุยกันเข้าใจตรงกัน ไม่มีปัญหาอันใด ขอให้เชื่อในบรรยากาศปรองดองและเป็นไปในทิศทางเดียวกันที่จะร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อปากท้องของชาวสวนยางพารา

นอกจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ยังกล่าวอีกว่า อยากให้เกษตรกรชาวสวนคิดทบทวน เรื่องการแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่าของยางให้มากขึ้น เรื่องของคุณภาพน้ำยาง ที่จะทำให้มีรายได้มากขึ้นด้วย หากมีเวลาว่าง นอกจากขายน้ำยางควรทำเป็นยางแผ่น เพราะขายได้ราคาดีกว่า ส่วนภาคราชการ เน้นย้ำให้เกษตรอำเภอต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลความเดือดร้อนของเกษตรกรอย่างแท้จริง รวบรวมเพื่อหาทางช่วยเหลือต่อไป ส่วนในเรื่องโรงงานน้ำยางข้น จังหวัดก็ยังมีแนวคิดที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น สหกรณ์ฯ มีเงินในการดำเนินการแต่ตอนนี้ยังหาสถานที่ก่อสร้างไม่ได้ เนื่องจากต้องใช้พื้นที่กว่า 70 ไร่

“ขณะที่ทางจังหวัดตรัง มีความต้องการในอันที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางอย่างเป็นระบบ และยั่งยืน จะไม่มีการถอย และจะปล่อยให้จังหวัดตรังมีการโค่นยางไปทำไม เรื่องนี้ตนจะไม่ยอมเด็ดขาด การโค่นจะต้องโค่นในปริมาณที่เหมาะสม จะต้องโค่นอย่างมีหลักคิด ไม่ใช่ว่าเมื่อราคายางพาราไม่ไม่รอดแล้ว คิดแต่จะโค่นต้นยางกัน จึงอยากให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางได้รับรู้ว่า จะต้องทำให้คนทั่วไปรับรู้กันด้วยวลีว่า คิดถึงยาง คิดถึงตรัง” นายศิริพัฒกล่าว

นายศิริพัฒกล่าวอีกว่า ทางจังหวัดตรัง ได้นำงบพัฒนาจังหวัดจำนวน 1 ล้านบาท จะนำเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่เคยเข้ากลุ่มอะไรกับเขา เวลาประชุมสหกรณ์ ประชุมกลุ่มวิสาหกิจ ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางกลุ่มนี้ไม่เคยได้เข้าร่วม ได้มีโอกาสเข้าร่วมด้วยการจัดตั้งเวทีรับฟังความคิดเห็นกันอย่างถึงแก่น ซึ่งจะเป็นเกษตรกรชาวสวนยางระดับรากหญ้าจริงๆ เรื่องนี้จังหวัดยังไม่เคยทำ และจะต้องทำกันต่อไป แม้จะต้องมีการมอบปัจจัยการผลิตแม้ว่าจะไม่เกี่ยวกับยาง แต่ว่าเกี่ยวกับเรื่องวิถีชีวิตชาวสวนยางที่ไม่เคยได้รับจากกระทรวงเกษตรฯ หรือจากรัฐบาล แต่เขาเป็นคนจน ตนมอบหมายให้ นายอำเภอไปคิดว่าจะคัดเลือกหาหลักเกณฑ์ ช่วยเกษตรกรชาวสวนยางกลุ่มที่เดือดร้อนสุดสุด มีสวนยางน้อย ยากจน มีหนี้สินที่สุจริตมาก นี้อย่างไรและจะแก้ปัญหาเพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางกลุ่มนี้มีกินให้ได้ภายในปีนี้

“ในปี 2562 ตนได้เตรียมจัดทำงบประมาณระดับ 100 ล้าน แล้วแต่จะคิดมาเพื่อยางโดยเฉพาะ เช่น อุตสาหกรรมได้ประมาณ 30-40 ล้าน จะทำเรื่องอัดแท่งยาง สหกรณ์ได้ในเรื่องของการทำบล็อก บูธ จะมีงบพัฒนาจังหวัดให้กิจการเกี่ยวกับยางที่เกี่ยวเนื่องด้วย นี่คือสิ่งที่จังหวัดตรังจะได้ทำเพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ผมอยากบอกว่า พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรัง จะต้องมีความคิดและจะต้องแก้ปัญหายางพาราด้วยความแหลมคมให้ได้ ให้สมกับราคาที่จังหวัดตรัง มียางต้นแรก ทำไมเราต้องรอฟัง สงขลา พัทลุง และจังหวัดอื่น ทำไมจังหวัดเหล่านั้นไม่รอฟังตรัง ผมบอกพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรังได้เลยว่า จังหวัดตรังต้องเป็นผู้นำ เกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดตรังต้องเป็นผู้นำ ถึงแม้จะมีการประท้วงก็ตาม ตนจึงได้บอกว่า ความเดือดร้อนของประชาชนเป็นเรื่องที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังต้องรับรู้”

ขณะที่ นายประทบ สุขสนาม กล่าวว่า ในส่วนแนวคิดของผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ในนามของเครือข่ายฯเห็นด้วยที่อยากให้จังหวัดตรัง เป็นผู้นำเรื่องยางพารา เนื่องจากจังหวัดตรัง เป็นแหล่งปลูกยางพาราต้นแรกของประเทศไทย ทางเครือข่ายฯพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเบื้องต้นจากการยื่นข้อเรียกร้องของทางเครือข่ายฯผ่านทางจังหวัดตรัง นั้นโดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้ให้แนวคิดว่าจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในระดับรากหญ้าที่ไม่เอกสารสิทธิ และเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ ซึ่งทางเครือข่ายฯจึงเสนอให้หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จังหวัดตรังทำงานอย่างบูรณาการ โดยเฉพาะฝ่ายปกครองและท้องถิ่นจะรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรอย่างแท้จริง ด้วยการคัดเลือกตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางที่เดือดร้อนจริงๆ เข้าโครงการดังกล่าว

ในส่วนของงานนโยบายงบประมาณของจังหวัดตรัง ไม่ว่าจะเป็นงบยุทธศาสตร์จังหวัด งบกลุ่มจังหวัด ที่เกี่ยวข้องเรื่องยางพารา ทราบว่าทางจังหวัดได้จัดสรรงบประมาณลงมาให้ความช่วยเหลือ ประการสำคัญนโยบายระดับประเทศซึ่งเป็นกลไกสำคัญเรียกร้องให้ผู้บริหารระดับสูงที่รับผิดชอบโดยตรง โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอให้เข้ามาดูแลปัญหา จะมอบหมายให้หน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องกับยางพารามาแก้ปัญหา คงจะแก้ยาก ด้วยเหตุผลบางครั้งติดขัดในหลายๆ เรื่อง จึงอยากให้รัฐมนตรี รวมถึงนายกรัฐมนตรี ลงมาแก้ปัญหาให้กับชาวสวนยาง