แพทย์ถอดเครื่องช่วยหายใจ’รปภ.’ ด้านแพทยสภาเผยขั้นตอนพิจารณาใบประกอบวิชาชีพ

ความคืบหน้าอาการนายสมชาย ยามดี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ที่ประสบอุบัติเหตุจากการถูก นพ.ยอร์น จิระนคร สาธารณสุขนิเทศก์ เขต 12 กระทรวงสาธารณสุข ขับรถชนขณะที่ รปภ.กำลังปิดประตูทางเข้า-ออกกระทรวงสาธารณสุข ฝั่งสถาบันบำราศนราดูร ทำให้ร่างของนายสมชายถูกรถทับและถูกลากไปกับถนน จนอาการสาหัส ตามที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น ขณะที่ นพ.ยอร์น เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้ง 4 ข้อหาหนักกับ นพ.ยอร์น แต่ให้มีการประกันตัว

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน นพ.สกล สุขพรหม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ในฐานะศัลยแพทย์ระบบประสาทเจ้าของไข้ รปภ.ถูกรถชน กล่าวถึงอาการของนายสมชายว่า เบื้องต้นจากการประเมินอาการของนายสมชายในช่วงเช้าวันนี้ (15 พ.ย.) พบว่าผู้ป่วยมีสัญญาณชีพที่ปกติขึ้น ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัวตื่นลืมตามากขึ้น ทั้งยังสามารถทำตามคำสั่งได้ดี แต่ยังต้องใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ ซึ่งตามกระบวนการรักษาในวันที่ 15 พฤศจิกายนจะมีการทดสอบการถอดเครื่องช่วยหายใจ เพื่อดูว่าผู้ป่วยสามารถหายใจได้ด้วยตัวเองหรือไม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติ เนื่องจากบางคนหายใจเองได้ แต่บางคนยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ อย่างไรก็ตาม แต่ด้วยที่ยังหายใจเองไม่ได้ ในทางการแพทย์ยังถือว่าวิกฤตอยู่ แต่มีสัญญาณว่าแนวโน้มค่อนข้างดีขึ้น ถ้าเทียบกับก่อนการผ่าตัด เพียงแค่ต้องเฝ้าระวังอย่าให้มีโรคแทรกซ้อน และการประเมินอาการยังเป็นวันต่อวัน

“ขณะนี้เราให้อาหารทางสายยางได้แล้ว ส่วนร่างกายทางซีกซ้าย บริเวณแขนที่มีอาการอ่อนแรงนั้น ขณะนี้พบว่าเริ่มมีแรงมากขึ้น ยังพบว่ามีอาการไข้อยู่ ทางแพทย์จึงยังต้องให้ยาปฏิชีวนะ และต้องรอผลเพาะเชื้ออีกประมาณ 3-5 วัน เพื่อหาสาเหตุของอาการไข้ว่าเกิดจากเหตุใด โดยเรื่องนี้จะมีแพทย์ด้านอายุรกรรมเป็นผู้ช่วยดูแลร่วมด้วย ส่วนการประเมินภาวะของผู้ป่วยว่าจะพ้นภาวะวิกฤตหรือไม่นั้น ต้องดูว่าหากยังต้องใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ก็เท่ากับว่าผู้ป่วยยังไม่พ้นภาวะวิกฤต และขณะนี้ยังอยู่ในห้องอาร์ซียู หรือห้องผู้ป่วยกึ่งวิกฤต” นพ.สกลกล่าว

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข โฆษกแพทยสภา กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องรอให้กระบวนการทางกฎหมายเสร็จสิ้นก่อน หากผิดอาญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ ก็จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของแพทยสภาอัตโนมัติ ซึ่งหากเป็นเรื่องของอุบัติเหตุไม่ถือว่าเกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพ แต่หากกรณีฆ่าคนตายถือว่ามีความเกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพแพทย์ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องรอผลการตัดสินทางคดีเป็นที่สิ้นสุดก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามข้าราชการในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่า นพ.ยอร์น จิระนคร สาธารณสุขนิเทศก์ เขต 12 ยังคงปฏิบัติงานตามปกติ เนื่องจากเรื่องคดีก็ดำเนินการไป ส่วนเรื่องการสืบข้อเท็จจริงก็อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่ง นพ.ยอร์นรับหน้าที่ในการดูแลพื้นที่สาธารณสุขเขต 12 ครอบคลุม 7 จังหวัด คือ พัทลุง สงขลา ตรัง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล โดยการปฏิบัติหน้าที่มีทั้งอยู่ประจำที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และลงพื้นที่เขต 12 ในแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายของวันที่ 15 พฤศจิกายน ทาง สธ.ได้ให้เจ้าหน้าที่ไปทาสีสะท้อนแสงบริเวณรั้วประตูที่เกิดเหตุ จากเดิมเป็นสีเขียว ซึ่งอาจกลืนไปกับต้นไม้ และไม่มีไฟส่องสว่างมากเพียงพอ และได้ทำหนังสือไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯในการเข้ามาตรวจว่า ต้องมีการติดไฟส่องสว่างเพิ่มเติมอีกจำนวนเท่าไร

ทาสีสะท้อนแสงแล้ว