ม.รามฯ มึนหนัก มีอธิการฯ 2 คนในวันเดียว ต่างฝ่ายต่างออกคำสั่ง จนท.ไม่รู้จะฟังใคร

เกิดเรื่องชวนปวดหัวขึ้นในมหาวิทยาลัยรามคำแหงในขณะนี้ จากปัญหาคำสั่งทางราชการของอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ออกมาจากคน 2 คน จนเจ้าหน้าที่ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งใคร หลังศาลปกครองกลาง มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ระหว่างนายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ เดิมดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ฟ้องคดี กับสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง

แต่สภามหาวิทยาลัยมีมติชี้ว่า คำสั่งศาลปกครองดังกล่าว ไม่ได้ครอบคลุมประเด็นเรื่องคุณสมบัติ ที่ นายสืบพงษ์ ใช้วุฒิการศึกษา ที่ ก.พ.ไม่ได้รองรับ จึงขาดคุณสมบัติ ไม่สามารถเป็นอธิการบดีได้ ก่อนแต่งตั้งรักษาการอธิการบดีขึ้นมา แต่นายสืบพงษ์ไม่ยอมรับ ออกคำสั่งหากพนักงานมหาวิทยาลัยคนใดไม่ปฎิบัติตามคำสั่งทุเลาของศาลปกครองกลาง จะมีความผิดทางวินัย

ขณะที่รักษาการอธิการฯ ก็ออกคำสั่ง เตือนนายสืบพงษ์อย่าบุกรุกมหาวิทยาลัยใช้ทรัพยากรโดยไม่ได้รับอนุญาติ จะถือว่ามีความผิด พร้อมดำเนินคดีตามกฏหมาย

——————–

โดยเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ระหว่างนายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ผู้ฟ้องคดี กับสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ศ.สมบูรณ์ สุขสำราญ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำหน้าที่แทนนายกสภาฯ และนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3

คดีนี้นายสืบพงษ์ฟ้องว่า เดิมดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง มีมติในการประชุม มีคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และแต่งตั้ง ผศ.บุญชาล ทองประยูร เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า เมื่อมติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ถอดถอนนายสืบพงษ์ออกจากตำแหน่งอธิการบดี เป็นคำสั่งทางปกครอง มีผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่งอธิการบดีเป็นการถาวรและเด็ดขาด ดังนั้นการที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงจะพิจารณาเพื่อมีมติถอดถอนนายสืบพงษ์ออกจากตำแหน่งดังกล่าว จึงต้องให้โอกาสนายสืบพงษ์ได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐานของตนเสียก่อน

เมื่อปรากฏว่า ในข้อกล่าวหาว่า นายสืบพงษ์ ยื่นหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง มิได้ให้โอกาสนายสืบพงษ์ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน ทั้งที่ข้อกล่าวหาดังกล่าวอาจมีผลทำให้นายสืบพงษ์ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดี กรณีจึงย่อมมีผลให้มติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ในการประชุมครั้งที่ 21/2565 เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 ที่ถอดถอนนายสืบพงษ์ และตั้ง ผศ.บุญชาล เป็นผู้รักษาราชการอธิการบดี น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ถอดถอนนายสืบพงษ์ออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้ง ผศ.บุญชาล เป็นผู้รักษาราชการอธิการบดี ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

 

ต่อมาในวันเดียวกัน (13 ก.พ.) สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ออกหนังสือ แจ้งมติสภามหาวิทยาลัยไปถึงนายสืบพงษ์ ว่า คำสั่งทุเลาบังคับคดีของศาลปกครองกลางไม่ครอบคลุมประเด็นการเลิกสัญญาจ้าง  เนื่องจากคุณวุฒิปริญญาดุษฏีบัณฑิตไม่ได้รับการรับรองจาก ก.พ. ถือว่าขัดคุณสมบัติเรื่องวุฒิการศึกษา ตามที่ ก.พ.รับรอง จึงถือเป็นผู้บกพร่องในคุณสมบัติประการสำคัญในการดำรงตำแหน่ง และมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างไปแล้ว และศาลปกครองกลางก็ไม่ได้วินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งอธิการบดี จึงขอแจ้งให้ทราบว่า ไม่มีคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งอธิการบดีอีกต่อไป

 

แต่แล้วเมื่อวันที่ 14 ก.พ  นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ได้ออกประกาศมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะ อธิการบดีฯ ขู่เอาผิดทางวินัยคนที่ไม่ปฎิบัติตามคำสั่งศาลปกครองกลาง  โดยระบุว่า

“ประกาศมหาวิทยาลัยรามคำแหง เรื่อง การปฏิบัติตามคำสั่งศาล  ตามคำสั่งศาลปกครองกลาง
ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ที่ให้ทุเลาการบังคับตามมติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง และคำสั่งที่ให้ถอดถอนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมทั้งมติและคำสั่งที่แต่งตั้งรักษาการแทนอธิการบดี ไว้เป็นการชั่วคราว ซึ่งมีผลให้อธิการบดียังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป ตามคำสั่งของศาลปกครอง”

“ในการนี้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดก็ตามกระทำการใดขัดต่อคำสั่งของศาลปกครอง หรือกระทำ
การในฐานะใดโดยมิชอบ ย่อมเป็นการกระทำอันมีชอบด้วยกฎหมาย และอาจมีความผิดทางปกครอง และทางวินัย ตามมาตรา ๗๕/๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ขอให้บุคลากรมหาวิทยาลัยรามคำแหงทุกหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ โดยยึดคำสังของ
ศาลปกครองเป็นหลัก หากผ่าฝืนจะถือว่าจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และอาจถูกดำเนินการทางวินัยต่อไปจึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน”

ขณะที่ฝั่งรักษาการอธิการบดีที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง ได้ออกคำสั่งตอบโต้ในวันเดียวกัน ระบุว่า ประกาศมหาวิทยาลัยรามคำแหง  เรื่อง การใช้สถานที่ราชการ  ระบุว่า

ตามที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงในการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๖๖ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
ได้มีมติแต่งตั้งรักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงและรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

โดยเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. ๒๕๔๑ นั้น  บัดนี้ทางมหาวิทยาลัยได้ทราบว่า ได้มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มเรียกประชุมและจะมีการใช้ห้องประชุมเป็นสถานที่ราชกาโดยไม่ได้รับอนุญาต ทางมหาวิทยาลัยจึงขอให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวยุติารใด ๆ ที่จะเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากมีข้อขัดข้องใด ๆ ที่คิดว่าเป็นสิทธิของตนเองก็ควรที่จักต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามครรลองของกฎหมาย

และหากมหาวิทยาลัยพบว่ามีบุคคลใดกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งใด ๆ ของมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยจะดำเนินการทางกฎหมายกับบุคคลดังกล่าวต่อไปจึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ลงนามโดย (ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญชาล ทองประยูร) ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษานานาชาติ กรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง