จุฑาพร ชี้ อาชญากรรมไซเบอร์พุ่งต่อเนื่อง ทั้งจำนวนคดีและมูลค่าความเสียหาย ห่วง ประชาชนหลงเชื่อ ได้รับความเดือดร้อน

จุฑาพร ชี้ อาชญากรรมไซเบอร์พุ่งต่อเนื่อง ทั้งจำนวนคดีและมูลค่าความเสียหาย ห่วง ประชาชนหลงเชื่อ ได้รับความเดือดร้อน ถูกหลอกดูดเงินเกลี้ยงบัญชี แนะ รัฐต้องร่วมมือหลายภาคส่วน แก้ปัญหาให้ตรงจุด ลดทอนความเสียหายในอนาคต

นางสาวจุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร สส. กทม. เขต บางรัก สาทร ปทุมวัน และโฆษกคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวในการเสวนา “เพื่อไทยมา ปัญหาโจรไซเบอร์ต้องจบ” ที่พรรคเพื่อไทยว่า ปัจจุบันอาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนในสังคมยุคดิจิตัล เพราะไม่ใช่แค่เศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังส่งผลไปยังภาคเอกชน และตัวบุคคลด้วย และนับวันเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ รวมไปถึงในประเทศไทยด้วย โดยข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อเดือนมีนาคม 2565 เผยว่า ชาวไทยกว่า 50% เคยมีประสบการณ์ถูกหลอกลวงทางออนไลน์ ระหว่างช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

โดยจากสถิติการแจ้งความในช่วงเดือนมี.ค. 2565 ถึง ม.ค. 2566 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า เป็นคดีออนไลน์กว่า 187,299 คดี จาก 207,679 เรื่องทั้งหมด โดย 5 อันดับแรกที่พบมากสุด คือ 1.หลอกลวงซื้อขายสินค้า (32.95%) 2. หลอกให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม (13.87%) 3. คดีหลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน (11.6%) 4. หลอกลวงทางโทรศัพท์แกงค์คอลเซ็นเตอร์ (8.72%) 5. หลอกให้ลงทุน (8.20%) รวมมูลค่าความเสียหาย 29,244,246,369 บาท และมีแนวโน้มที่คดี รวมทั้งมูลค่าความเสียหายจะเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ปัญหานี้จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด โดยในระยะสั้น หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนควรมุ่งเน้นประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ให้แต่ละกลุ่มประชากร รู้เท่าทัน ภัยจากอาชญากรรมไซเบอร์ เพื่อลดโอกาสตกเป็นเหยื่อ และต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก แต่ในระยะยาว คงจะต้องมีการทำงานร่วมกันมากขึ้นระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย (law enforcer) อย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตัวแทนจากภาคธนาคาร ซึ่งถือเป็นผู้มีฐานข้อมูลบัญชี (Database Account) หากได้มีการพิสูจน์ทราบแล้วว่ามีการเปิดบัญชีม้า ให้ทำการอายัดบัญชีได้ทันท่วงที โดยการฟรีซบัญชีม้าไว้ ก่อนที่เงินจะถูกโอนออกนอกประเทศ หรือถูกโอนเป็นสกุลเงินดิจิตัลได้ นอกจากนี้ หน่วยงาน กสทช. จะสามารถเข้ามาป้องกันและปราบปรามการโกงทางไซเบอร์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในปัจจุบันการอายัดเงินยังทำได้ค่อนข้างยากมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะติดปัญหาในเรื่องของการขอข้อมูลแต่ละคดี บางคดีขอข้อมูลต้องทำหนังสือสอบถามไปยังธนาคารต่างๆ ตามเส้นทางการโอนเงิน ซึ่งทำให้เสียเวลา จึงต้องจัดตั้งกองปราบโกงออนไลน์ ที่มีอำนาจจัดการการโกงมากขึ้น ขจัดอุปสรรคขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่ทันอาชญากร ขอให้พึงระลึกไว้เสมอว่ายิ่งนาน โอกาสได้เงินคืนจะยิ่งลดน้อยลง

ดังนั้น การดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและตามให้ทันอาชญกรทางไซเบอร์ที่พยายามเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงไปเรื่อยๆ จึงมีความจำเป็นเพื่อปกป้องประชาชนอย่าได้หลงตกเป็นเหยื่อจนต้องสูญเสียเงินทองและทรัพย์สิน และได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก