มัลลิกา ซัด กระทรวงคลัง เลิกเน้นเป้า GDP มากกว่าการกระจายรายได้ ช่วยเน้นประชาชนเข้าถึงแหล่งเงิน

มัลลิกา ซัด กระทรวงคลัง เลิกเน้นเป้า GDP มากกว่าการกระจายรายได้ ช่วยเน้นประชาชนเข้าถึงแหล่งเงิน และตั้งกองทุนเพื่อจ้างงาน-เงินทุนเข้าถึงประชาชน

2 กุมภาพันธ์ 2566วันนี้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่เวลา 09:30 น. โดยมีการหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรการถามตอบกระทู้ของรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอกจากนั้นยังมีการรับทราบรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณปี 2565 ของกระทรวงการคลังในนามของรัฐบาลสู่สภาผู้แทนราษฎรด้วย และช่วงเวลา 13.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณของกรมบัญชีกลาง กองบัญชีภาครัฐ กระทรวงการคลัง ว่า จากรายรับที่รัฐบาลได้รับรวมทั้งสิ้น 3,203,775 กว่าล้านบาทและรายจ่ายตามงบประมาณของรัฐบาลรวมทั้งสิ้น 3,148,060 กว่าล้านบาท อย่างไรก็ตามดร.มัลลิกา ระบุว่า อยากเสนอแนะกระทรวงการคลังให้เลิกเน้นเป้าหมายที่ GDP มากไปกว่าการกระจายรายได้เสียที โดยGDP ( Gross Domestic Product ) หรือผลิตภัณฑ์รวมในประเทศที่เน้นนับรายได้ที่เกิดขึ้นจากในประเทศของ กระทรวงการคลังนั้นเป็นแนวทางแบบคนอยู่บนหอคอยงาช้างและเอื้อประโยชน์ให้กับคุณใหญ่มากกว่าประชาชนที่จะได้รับก็ต่อเมื่อนโยบายเน้นการกระจายรายได้

” มาตรการทางการเงินของกระทรวงการคลังนั้นอยากให้เน้นการกระจายรายได้มากกว่าจีดีพี (GDP) ส่วนมาตรการทางการคลังอยากให้เน้นกองทุน เพื่อการจ้างงานเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงเงินทุนไม่ใช่เน้นการแจกอย่างเดียว เพราะการที่ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนแหล่งเงินได้จะทำให้มีคนช่วยสร้างเศรษฐกิจตั้งแต่ฐานรากขึ้นไปได้ด้วย

ธนาคารของรัฐต่างๆมีเงินเก็บไว้มากแต่การยึดติดกฎเกณท์ระเบียบมากจนเกินสมควรทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนและเงินยากแบบนี้เวลาจะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโรคระบาดก็เป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก จึงขอเสนอกระทรวงการคลังให้ตั้งกองทุนต่างๆเพื่อดูแลในส่วนนี้ ” ดร.มัลลิกา กล่าว

นอกจากนี้ ส.ส.ดร.มัลลิกา ระบุด้วยว่า กรณีหนี้สินรายจ่ายรายรับของรัฐไม่สอดคล้องกันนั้นก็อยากให้กระทรวงการคลังปรับตัวในยุค new normal อยากให้จัดทีมบุคลากรตามให้ทันธุรกิจ เศรษฐกิจยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการค้าขายออนไลน์หรืออาชีพรูปแบบใหม่ๆเพราะนั่นคือแหล่งรายได้ทางการจัดเก็บภาษีของรัฐ ถ้าตามไม่ทันหรือกว่าจะตั้งหลักไดเนั้นรายได้ที่สมควรจัดเก็บก็ไม่ได้มาเป็นรายได่แผ่นดินเป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณปี 2565 และสรุปผลการวิเคราะห์รายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รายรับที่รัฐบาลได้รับรวมทั้งสิ้น จำนวน 3,203,775.34ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้แผ่นดิน จำนวน 2,551,222.78 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 652,552.56 ล้านบาท รายจ่ายตามงบประมาณของรัฐบาลรวมทั้งสิ้น จำนวน 3,148,060.47 ล้านบาท ประกอบด้วย รายจ่ายตามงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2565 จำนวน 2,900,727.48 ล้านบาท รายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี (เงินงบประมาณปีก่อน) จำนวน 213,677.57 ล้านบาท และรายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง จำนวน 33,655.42 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบรายรับประเภทรายได้แผ่นดิน จำนวน 2,551,222.78 ล้านบาท กับรายจ่ายตามงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 2,900,727.48 ล้านบาท ทำให้รายได้แผ่นดิน ต่ำกว่ารายจ่ายตามงบประมาณประจำปี จำนวน 349,504.70 ล้านบาท ประกอบกับรัฐบาลมีรายรับประเภท เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 652,552.56 ล้านบาท จึงทำให้รายรับรวมทั้งสิ้นสูงกว่ารายจ่าย ตามงบประมาณประจำปี จำนวน 303,047.86 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กรณี GDP นั้นเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจในการศึกษาเปรียบเทียบถึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษาเปรียบเทียบในการวางแผนและกำหนดนโยบายต่าง ๆ สำหรับพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่หระทรวงการคลังใช้เป็นเครื่องมือชี้วัดทางเศรษฐกิจ