นักวิชาการล่าชื่อ ส่งสารถึง ปธ.องคมนตรี หวังช่วยคลายวิกฤตคดี112 ก่อนสูญเสีย‘ตะวัน-แบม’

‘อนุสรณ์’ ส่งสารถึง ปธ.องคมนตรี หวังช่วยคลี่คลายปัญหาสังคม ปม ม.112 ก่อนสูญเสีย‘ตะวัน-แบม’

เมื่อเวลาประมาณ 14.15 น. วันที่ 31 มกราคม ที่ทำเนียบองคมนตรี เขตพระนคร กรุงเทพฯ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) นำโดย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางไปยื่นหนังสือถึงประธานองคมนตรี เพื่อเรียกร้องให้มีการหาแนวทางรับมือวิกฤตผู้อดอาหารประท้วง อันเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า สาธารณชนประจักษ์แล้วว่า นักศึกษา 2 คนได้ทำการอดอาหารและน้ำ ประท้วงกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ ที่พวกเขาเห็นว่าไม่เป็นธรรม และเราก็เห็นว่าวิกฤตครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อตัวนักศึกษาทั้ง 2 ซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรมแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็กระทบกับสภาพความเป็นไปของสังคมด้วย มีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย มีทั้งเยาะเย้ย และเฉยๆ

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเห็นแบบไหน เราเห็นว่าในตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาเถียงกัน ว่าวิธีการอดอาหารถูกต้องหรือไม่ในยุทธศาสตร์ บริบทแบบนี้ควรเป็นอย่างไร ในขณะเดียวกันก็คงไม่ต้องยกข้อกฎหมายว่าเป็นความผิดแบบไหน จะต้องจัดการเขาอย่างไร

“แต่ที่เราเห็นว่าสำคัญมากกว่า คือจะรักษาชีวิตของเด็ก 2 คนนี้ไว้ได้อย่างไร และเราเห็นว่าประธานองคมนตรี รวมไปถึงองคมนตรีทั้งคณะ เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันหลักของประเทศนี้ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่เขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญค่อนข้างชัด ว่า องคมนตรีมีหน้าที่อะไร เราก็เลยมาเรียกร้อง โดยเฉพาะประธานองคมตรี ให้ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการคลี่คลายปัญหาของสังคมในขณะนี้ ก่อนที่จะมีการสูญเสีย” รศ.ดร.อนุสรณ์เผย

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวต่อว่า ได้มีการรวบรวมรายชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ นักศึกษา และประชาชน จำนวน 91 รายชื่อแนบท้ายจดหมายฉบับนี้ โดยตั้งใจมายื่นให้กับประธานองคมตรี เพื่อนำไปพิจารราว่าจะหาทางคลี่คลายวิกฤตการอดอาหารประท้วงในครั้งนี้อย่างเร่งด่วนบนฐานของมนุษยธรรม ได้อย่างไร บนฐานที่ว่า องคมตรีเป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไว้อย่างชัดเจนว่ามีบทบาทหน้าที่อะไร

อ่านรายละเอียด – ส.ศิวรักษ์-นักวิชาการทั่วไทย ลงชื่อ ขอพึ่งปธ.องคมนตรี หาทางยุติวิกฤตต่อชีวิตผู้อดอาหารประท้วง

เมื่อถามถึงเหตุผลที่มายื่นหนังสือโดยตรง ถึงประธานองคมนตรี ?

รศ.ดร.อนุสรณ์เปิดเผยว่า ถ้าเป็นเพียงแถลงการณ์เผยแพร่สาธารณะ เราเกรงว่าจะไม่ล่วงรู้ถึงหูขององคมตรี หรือประธานองคมนตรี จึงถือโอกาสเดินทางมายื่นถึงโดยตรง โดยลำดับขั้นตอนการเดินทางของหนังสือในทำเนียบองคมตรี กล่าวคือจะมีการรับเรื่องไป และมีเบอร์โทรศัพท์ให้ติดตาม หมายความว่า วันพรุ่งนี้ก็สามารถโทรตามเรื่องได้ว่า หนังสือไปถึงไหนอย่างไร ซึ่งตนจะติดตามส่วนนี้ต่อไป

“ต้องการมาโดยตรง จะได้รู้ว่าสิ่งนี้พวกเราให้ความสำคัญ มันไม่ยากหรอกถ้าร่างแถลงการณ์แล้วเผยแพร่ แต่ว่าการที่เดินทางมาด้วยตัวเอง เราอยากจะยืนยันความสาคัญของการขยับในลักษณะเช่นนี้ นี่เป็น 1 ในหลายวิธีที่พวกเราทำกัน ในการช่วยกันคลี่คลายวิกฤตครั้งนี้ เราทราบกันดีว่ามีนักกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ไปยื่นหนังสือ อย่างเมื่อวาน ทั้งในส่วนของประชาชน 5,000 กว่ารายชื่อ คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ 66 คนทั่วประเทศไทย ก็พยายามหาทางคลี่คลายวิกฤตครั้งนี้ให้ได้ เราใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญที่พอจะทำได้” รศ.ดร.อนุสรณ์ระบุ

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีฝ่ายใดมายื่นหนังสือต่อองคมนตรีมาก่อน ถามถึงบทบาทองคมนตรี ถือเป็นคณะที่ปรึกษา ที่ไม่ฝักฝ่ายทางการเมือง หรือไม่อย่างไร ?

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า ในบทบาท มาตรา 10 องคนตรี มีบาทบาทอะไร เขียนไว้ชัดในรัฐธรรมนูญ และเราคิดว่าครั้งนี้เป็นวิกฤติที่เกี่ยวข้องกับพันธะกรณีขององคมนตรี ที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในแง่นี้

“ถ้าจะว่าไป เราทราบดีว่าวิกฤตครั้งนี้มันเกี่ยวข้อง แยกไม่ออกกับบริบทของสถาบันฯ ในแง่หนึ่งก็อยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณา หากมีประเด็นปัญหาในสังคมขึ้นมาและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับองค์กรนั้นๆ โดยตรง จะหาทางคลี่คลายได้อย่างไร ที่ผ่านมาเราเลียบๆ เคียงๆ ครั้งนี้เราอยากเข้าใกล้ส่วนที่เป็นประเด็นปัญหาจริงจรังมากขึ้น” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

เมื่อถามถึงความคาดหวัง ว่าการยื่นหนังสือครั้งนี้จะสามารถตอบสนองข้อเรียกร้องของตะวัน-แบม โดยเฉพาะข้อ 1 และ 2 ได้หรือไม่ ในเรื่องการปล่อยตัวนักทาการเมือง และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ?

รศ.ดร.อนุสรณ์ชี้ว่า สามารถเกี่ยวข้องกันได้ แต่ 2 ข้อนั้นจำเพาะเจาะจงลงไป เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นปัญหา แต่ว่าหัวใจหรือส่วนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งที่อยู่ข้างหลังก็ยังไม่ได้พูดถึงแต่อย่างใด เป็นส่วนหนึ่งที่เราพยายามขยับเข้าใกล้มากยิ่งขึ้น กับองค์กรที่มีพันธะกรณีโดยตรง เพื่อช่วยหาทางที่จะผ่อนหนักให้เป็นเบา ช่วยคลี่คลายวิกฤตของประเทศครั้งนี้

เมื่อถามถึงการยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เมื่อวานนี้ ?

รศ.ดร.อนุสรณ์เผยว่า อย่างเมื่อวานนี้เป็นเรื่องข้อกฎหมายโดยตรง ว่าจะหาทางออกได้อย่างไรโดยที่กระบวนการยุติธรรมเอง จะไม่ผิดหลักการและขั้นตอนของกฎหมาย ขณะเดียวกันในส่วนของตะวันและแบมเอง ก็ไม่ได้อยู่ในลักษณะกลับคำของตัวเอง ก็พอที่จะเป็นทางออกให้ทั้ง 2 ฝ่าย

“เมื่อวาน เป็นความพยายามหาทางออก โดยดูว่าช่องกฎหมายเปิดอะไรได้บ้าง แทนที่จะเหมือนกับประจันหน้ากันทั้ง 2 ฝ่าย เหมือนจะไม่มีทางออกอะไร นักกฎหมายจึงหาทางไปยื่นกัน ส่วนกรณีประชาชน ส่วนหนึ่งเป็นการยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง และการดูแลรักษา ตามเจตนารมณ์ของตะวันและแบม” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ ถ้าเราพอจะจำกันได้เช้าวันที่ 20 กันยายน 2563 ก็มีความพยายามของนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ที่จะมายื่นหนังสือถึงทำเนียบองคมนตรีเหมือนกัน แต่ก็ถูกสกัดกั้นไม่สามารถยื่นได้ แล้วก็มีตัวแทนมารับไป ครั้งนี้เป็นไปในลักษณะคล้ายกัน เพียงแต่ต่างวัตถุประสงค์

เมื่อถามว่า คาดหวังการตอบรับอย่างไรบ้าง ?

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า ตนว่าปัจจุบันนี้ องคมนตรีปฏิบัติหน้าที่ค่อนข้างแข็งขัน ถ้าเราติดตามข่าวจะเห็นถึงกิจกรรมขององคมนตรีทั้ง 17 คน กระจายกันไปตามหมวดงานต่างๆ

“ผมคิดว่า เนื่องจากเป็นข้อโดยตรงที่เกี่ยวข้อง และอาจจะไม่เคยที่จำเป็นจะต้องพิจารณาประเด็นปัญหาเหล่านี้มาก่อน แต่ผมคิดว่าเมื่อเรามายื่น ถ้าเกิดได้อ่าน พินิจพิเคราะห์ และตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของประธานองคมนตรี ก็คิดว่าน่าจะเห็นถึงความคิด หรือความพยายามในการคลี่คลายปัญหานี้ เราเองก็ต้องติดตามผลต่อไป และคาดหวังว่าจะได้รับการตอบสนอง” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว