ศาลจังหวัดลำปางพิพากษายกฟ้อง ม.112 นศ.แขวนป้ายวิจารณ์การจัดการวัคซีนโควิด

ศาลจังหวัดลำปางพิพากษายกฟ้อง ม.112  ชี้ นศ.แขวนป้ายข้อความไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการวิจารณ์การบริหารจัดการวัคซีนโควิด

เมื่อวันที่ 31 มกราคม ศาลจังหวัดลำปางพิพากษา ยกฟ้อง ข้อหา ม.112 – พ.ร.บ.คอมฯ กรณีแขวนป้าย “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” โดยศาลเห็นว่าข้อความไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แต่ลงโทษปรับเฉพาะจำเลยที่ 1 คนเดียว ข้อหา พ.ร.บ.ความสะอาด

โดยเมื่อ เวลา 9.00 น. ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดลำปางนัดฟังคำพิพากษาในคดีของนักศึกษาและประชาชนรวม 5 คน เหตุจากการแขวนป้ายผ้าที่มีข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” บริเวณสะพานรัษฎาภิเศก เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ที่ถูกฟ้องด้วยข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ

จำเลยที่ถูกฟ้องในคดีนี้ได้แก่ พินิจ ทองคำ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และสมาชิกกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน เป็นจำเลยที่ 1, “หวาน” (นามสมมติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เป็นจำเลยที่ 2, ภัทรกันย์ แข่งขัน นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เป็นจำเลยที่ 3, วรรณพร หุตะโกวิท บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นจำเลยที่ 4 และ ยุพดี กูลกิจตานนท์ แม่ค้าในจังหวัดลำปาง เป็นจำเลยที่ 5 โดยนอกจากสองข้อหาข้างต้น เฉพาะพินิจ จำเลยที่ 1 ยังถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เพิ่มอีกหนึ่งข้อหาด้วย เนื่องจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำภาพถ่ายป้ายดังกล่าวเผยแพร่ในเพจเฟซบุ๊ก

สำหรับข้อต่อสู้ที่สำคัญในคดีนี้ของจำเลยทั้งห้าคือ พยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าจำเลยทั้ง 5 ได้ร่วมกันกระทำตามที่ถูกฟ้อง และอธิบายไม่ได้ว่าจำเลยแต่ละคนได้มีพฤติการณ์ร่วมกันอย่างไร อีกทั้งข้อมูลการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจผิดพลาดและไม่ตรงกับความเป็นจริง นอกจากนี้ข้อความที่เขียนอยู่บนป้ายก็เป็นเพียงถ้อยคำทั่วๆ ไป ฝ่ายจำเลยเข้าใจว่าเป็นการสื่อถึงการบริหารงานของรัฐบาล และข้อความไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย

คลิกอ่านรายละเอียดทางคดีเพิ่มเติม