สรุป ‘สาระสำคัญ’ กฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับ นับถอยหลังสู่เลือกตั้ง

โปรดเกล้าฯแล้ว 2 กฎหมายลูก มีผลบังคับใช้ นับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566

สำหรับสาระสำคัญของ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 เขต เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยมีส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน โดยมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

ส่วน วิธีการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะนำเอาคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั้งหมดมาหารด้วยจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน เพื่อหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองแต่ละพรรคตามสัดส่วนคะแนน

ส่วน ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ) มีสาระสำคัญ คือ ค่าบำรุงพรรคการเมืองประเภทรายปีจากหนึ่งร้อยบาทเป็นยี่สิบบาทและประเภทตลอดชีวิตจากสองพันบาทเป็นสองร้อยบาท แก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อการผ่อนคลายให้สิทธิเสรีภาพมากยิ่งขึ้น

พรรคการเมืองซึ่งประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งในจังหวัดใด ต้องมีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในจังหวัดนั้น

กรณีที่พรรคการเมืองใดมีสาขาพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดมากกว่าหนึ่งตัวแทนในจังหวัดใด ให้พรรคการเมืองนั้นกำหนดว่าจะให้สาขาพรรคการเมืองสาขาใดหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดใดในจังหวัดนั้น เป็นสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด

การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อเพื่อส่งให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด โดยต้องคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง และแก้ไขเรื่องการทำระบบไพรมารีโหวตในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง