พท. งง จะไม่มีรายงานผลเลือกตั้งออนไลน์เรียลไทม์บอก20ล้านสูงเกินไป? ทั้งที่ต้องโปร่งใส

27 ม.ค. 66 ดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เขียนผ่านเพจ Facebook ถึงเรื่องการรายงานผลเลือกตั้งออนไลน์บอกแพง! แต่เพื่อความโปร่งใสทำไมไม่ทำ? ว่า

งวดเข้ามาทุกทีแล้วนะคะกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้จะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 และตามกฎหมายจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สภาฯ สิ้นอายุ นั่นหมายความว่าพี่น้องประชาชนคนไทยจะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566

แต่กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่สภาฯ ครบวาระตามปกตินะคะ ใครจะไปรู้ล่ะคะว่าพลเอกประยุทธ์จะชิงยุบสภาฯ ก่อนเพื่อความได้เปรียบในการเลือกตั้งรึเปล่า มีกูรูด้านการเมืองหลายคนวิเคราะห์ว่าเป็นไปได้ที่พลเอกประยุทธ์จะอยู่จนครบเทอม

แต่ก็เป็นไปได้อีกเหมือนกันค่ะว่าพลเอกประยุทธ์อาจจะชิงยุบสภาฯ ไม่กี่วันก่อนครบเทอมในวันที่ 23 มีนาคม เนื่องจากพรรคของพลเอกประยุทธ์อย่างรวมไทยสร้างชาติ ยังไม่สามารถจัดตั้งตัวแทนของพรรคในแต่ละจังหวัดไม่ครบ ทำให้พลเอกประยุทธ์ต้องดึงเกมให้ยาวที่สุด ซึ่งในกรณีที่ยุบสภาฯ ตามกฎหมายต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน

อย่างไรก็ตามนะคะ คนไทยจะได้เลือกตั้งไม่เกินวันที่ 7 พฤษภาคม แน่ ๆ แต่ที่หญิงสนใจคือกระบวนการในการจัดการเลือกตั้งและการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งมากกว่าค่ะ

การเลือกตั้งครั้งนี้หญิงเชื่อว่าจะเป็นที่จับตามองจากทั่วโลกแน่นอน เพราะนี่ถือเป็นการเลือกตั้งที่จะตัดสินอนาคตของประเทศ ว่าเราจะมีนายกฯ ชื่อประยุทธ์อีกรึเปล่า เราจะมีนายกฯ ที่มาจากพรรคการเมืองที่ไม่ได้ฝักใฝ่ประชาธิปไตยอีกไหม หรือเราจะมีนายกฯ ที่มาจากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น

“ไม่มีระบบรายงานผลคะแนนออนไลน์ ?”

การเลือกตั้งในครั้งนี้ควรจะเป็นการเลือกตั้งที่สุจริต โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ แต่ถ้าทุกคนยังจำกันได้นะคะ เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะไม่ทำระบบการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการผ่านระบบออนไลน์แล้ว

โดย กตต. ได้ให้เหตุผลว่างบประมาณในการจัดทำ 20 ล้านบาท นั้นสูงเกินไป ทั้ง ๆ ที่ก่อนนั้นก็ได้มีความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในการสร้างระบบนานเกือบปีจนแล้วเสร็จ แต่ทำไมถึงเพิ่งมานึกขึ้นได้ว่างบประมาณสูงเกินไป?

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ผ่านมาในปี 62 เราก็เคยมีแอปพลิเคชันในการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการมาแล้ว กกต. ในขณะนั้นได้ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ในการพัฒนาแอป ซึ่งนอกจากจะสามารถรายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์แล้ว ยังสามารถควบคุมติดตามและแก้ปัญหาในการเลือกตั้งได้ทันที

ในปี 62 ใช้งบประมาณจัดการเลือกตั้ง 4 พันล้านบาท แต่ทำไมในการเลือกตั้งปี 66 ที่ใช้งบ 5.9 พันล้านบาท มากกว่าเกือบ 2 พันล้านบาท ถึงไม่สามารถทำระบบรายงานผลคะแนนได้เหรอคะ หญิงว่าเรื่องนี้ฟังดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่

นอกจากนี้ กกต. ยังได้ให้เหตุผลที่ไม่ทำระบบรายงานผลคะแนนแบบไม่เป็นทางการว่าเพราะ ‘กลัวระบบล่ม’ การให้เหตุผลเช่นนี้ไม่สมกับที่ทำงานรับเงินเดือนจากภาษีประชาชนสักเท่าไหร่

แทนที่ว่าถ้ากลัวระบบจะล่มก็ทำให้มันดีขึ้น ทำให้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะได้ไม่ล่มอย่างที่กลัว แต่กลับเลือกที่จะไม่ทำเลย เหมือนบอกว่าไม่กล้าข้ามแม่น้ำเพราะกลัวสะพานล่มก็เลยไม่ข้ามมันซะเลย แบบนี้ตรรกะดูแปลก ๆ ไปหน่อยนะคะว่าไหม

“เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย”

หญิงคิดว่าไม่มีคำว่าแพงเกินไปสำหรับความโปร่งใสในการเลือกตั้ง และความเชื่อมั่นของประชาชนต่อในกระบวนการและผลการเลือกตั้งหรอกนะคะ เหตุผลที่บอกว่า 20 ล้านบาท นั้นแพงเกินไป ก็ฟังไม่ค่อยขึ้น เพราะ กกต. ได้รับการอนุมัติวงเงินงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งจาก ครม. กว่า 5.9 พันล้านบาท

จะเห็นได้เลยนะคะว่า งบประมาณในการทำระบบรายงานผลคะแนนแบบออนไลน์ 20 ล้านบาท นั้นไม่ถึง 1% ของงบประมาณทั้งหมดซะด้วยซ้ำ แถม กกต. ยังบอกอีกด้วยว่างบเลือกตั้งอาจจะใช้จริงไม่เกิน 5 พันล้านบาท เพิ่มไปอีก 20 ล้านบาท เพื่อแลกกับความโปร่งใสและความเชื่อมั่นของประชาชน หญิงว่านี่มันคุ้มซะยิ่งกว่าคุ้มอีกนะคะ

และในขณะที่รัฐบาลชุดนี้ใกล้จะหมดวาระอยู่รอมร่อ ยังไฟเขียวอนุมัติวงเงินก่อหนี้ผูกพันงบประมาณปี 2567 กว่า 3.6 แสนล้านบาทเป็นการทิ้งทวน เรียกได้ว่าสร้างหนี้ให้กับประเทศได้จนถึงวินาทีสุดท้ายจริง ๆ

ซึ่งถ้าเราไปดูในรายละเอียดของงบประมาณนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีได้ของบประมาณวงเงินตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไปในการซื้อเครื่องบินรับ-ส่ง VIP ดูเอาแล้วกันค่ะว่าผู้อำนาจในบ้านเราให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน

งบซื้อเครื่องบินรับ-ส่งคนกลุ่มเดียว แต่เรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชนกลับบอกว่าแพงเกินไป หญิงก็อยากจะรู้จริง ๆ ว่าบรรทัดฐานของคำถูกหรือแพงของพวกเขาอยู่ตรงไหนกันแน่ ที่สำคัญเงินนี้มาจากภาษีของประชาชนมันควรจะถูกใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักไม่ใช่เหรอคะ

“สุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม”

โดยทั่วไปแล้วการเลือกตั้งนั้นควรจะทำให้ดูโปร่งใสมากที่สุด ให้สามารถตรวจสอบได้ ให้กระบวนการและผลการเลือกตั้งสำเร็จลุล่วงโดยไม่มีข้อครหาใด ๆ ว่ามีนอกมีใน ให้สมกับคำขวัญของ กกต. ที่ว่า สุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม แถมยังเป็นสร้างความตื่นตัวให้ประชาชนมาติดตามผลการเลือกตั้งอีกต่างหาก

แต่จากที่หญิงเห็น กกต. ดูไม่พยายามเปิดให้ประชาชนได้มามีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งสักเท่าไหร่ ระบบรายงานผลคะแนนแบบสด ๆ ที่เชื่อถือได้และมีประสิทธิภาพ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะสามรถติดตามตรวจสอบได้ว่า คะแนนเสียงที่พวกเราลงไปนั้นถูกต้องหรือไม่ ตกหล่นรึเปล่า ควรจะเรื่องพื้นฐานในการเลือกตั้งที่ไม่จำเป็นต้องเรียกร้อง

พันธกิจของ กกต. คือการจัดการเลือกตั้งให้โปร่งใสและยุติธรรมกับประชาชนผู้สิทธิเลือกตั้งทุกคน การรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการก็เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่า กกต. สามารถจัดการเลือกตั้งได้สุจริตเที่ยงธรรมจริง ๆ และเพื่อยืนยันความโปร่งใสในการทำงานของ กกต. เอง เหมือนเป็นการยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ บอกให้ประชาชนได้รู้ว่านี่คือการเลือกตั้งที่โปร่งใส แต่ถ้าไม่อยากโปร่งใสก็ไม่ต้องทำก็ได้ค่ะ

สุดท้ายนี้ หญิงอยากจะฝากว่า การเลือกตั้งครั้งนี้คือจุดเปลี่ยนที่จะชี้ชะตาของประเทศ เราจะต้องอยู่กับปัญหาเดิม ๆ เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ สังคมที่ฟอนเฟะ การศึกษาที่ล้าหลัง หรือเราจะเลือกผู้นำและพรรคการเมืองที่จะมาแก้ปัญหาที่หมักหมมมานานและก้าวต่อไปยังอนาคตที่ดีกว่า

อย่าลืมนะคะว่าไม่มีใครมาฝืนประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศได้ นี่คือความงดงามของระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิตัดสินใจ ถ้าต้องการคนที่จะมาแก้ไขปัญหาให้กับประเทศและประชาชน อย่าลืมเลือกเพื่อไทยให้แลนด์สไลด์ เพราะเรา “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน”