กกต.ชี้ กม.ลูกเลือกตั้งท้องถิ่นส่อขัดแย้ง รธน.ปมผู้จัดเลือกตั้ง ส่งศาล รธน.ตัดสิน

ประธาน กกต.เผยพร้อมร่วมมือดูแลเลือกตั้งท้องถิ่น ชี้ปมปัญหา ม.27 กฎหมายลูก กกต.ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นจัดเลือกตั้งอาจขัด รธน. เตรียมส่งศาล รธน.วินิจฉัย หวั่นทำเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นโมฆะ ปัดตอบ คสช.หนุนพรรคการเมืองผิดกฎหมายหรือไม่ ยันรัฐบาล คสช.ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่ คสช.เตรียมปลดล็อกการเมือง โดยให้มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในบางพื้นที่ว่า ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ กกต.เป็นผู้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 27 บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัด โดย กกต.เป็นผู้ควบคุมให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่ง กกต.เห็นว่ากฎหมายยังขัดแย้งกันอยู่ และมีการทักท้วงตั้งแต่ในชั้นกรรมาธิการฯ แต่เมื่อไม่ได้มีการแก้ไข ทาง กกต.จึงมอบหมายให้สำนักงานยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อกฎหมายและจะมีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยเร็ว เพื่อให้ได้บทสรุปที่ชัดเจนก่อนที่ คสช.จะปลดล็อกให้เลือกตั้งท้องถิ่นได้ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาการฟ้องร้องในภายหลังแล้วอาจทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นโมฆะ

“แต่ถ้ายังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วมีการเลือกตั้งท้องถิ่นไปก่อน กกต.ก็จะทำหน้าที่ควบคุมตามกฎหมายลูก ซึ่งหากมีปัญหาในภายหลังก็เป็นเรื่องของ คสช.” นายศุภชัยกล่าว

นายศุภชัยกล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่รัฐบาลจะแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 5 ฉบับ เพี่อรองรับการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการติดต่อมาที่ กกต.เพื่อไปให้ความเห็น ส่วนการที่นักการเมืองจะเข้าไปสนับสนุนนักการเมืองท้องถิ่นนั้นความจริงต้องยอมรับว่านักการเมืองท้องถิ่นคือหัวคะแนนของนักการเมืองระดับชาติ การจะไปสนับสนุนก็อย่าให้ผิดกฎหมาย เช่น อย่าไปสัญญาว่าจะให้

นายศุภชัยยังปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับ 6 คำถามของนายกรัฐมนตรีว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากยังไม่ได้อ่านรายละเอียด แต่คิดว่า คสช.มีที่ปรึกษากฎหมายอย่างดีแล้ว อย่างไรก็ตาม กกต.มีหน้าที่ควบคุมและจัดการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรม ถ้ามีอะไรที่ผิดกฎหมายก็ต้องถือว่าผิด โดยทุกคนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลรักษาการปกติ หรือรัฐบาล คสช.ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่ขณะนี้ยังไม่มีการทำผิดกฎหมายใดๆ เกิดขึ้น

นายศุภชัยกล่าวว่า สำหรับการประชุม กกต.ในวันเดียวกันนี้จะมีการพิจารณาตอบข้อหารือของสองพรรคการเมืองใหญ่ที่สอบถามว่าสามารถดำเนินการอะไรได้บ้างระหว่างที่ยังไม่มีการปลดล็อกพรรคการเมือง ซึ่ง กกต.จะต้องตอบให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือ และเห็นว่าพรรคการเมืองสามารถแจ้งเปลี่ยนแปลงสมาชิกพรรคตามมาตรา 141 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองได้เลย โดยไม่ต้องรอการปลดล็อกแต่อย่างใด ทั้งนี้ในส่วนของ กกต.ได้ร่างระเบียบและประกาศเพื่อรองรับกฎหมายดังกล่าวไว้แล้ว และจะประกาศภายในวันที่ ‪7 ธันวาคม‬นี้ โดยไม่รอให้ คสช.ปลดล็อกพรรคการเมืองก่อน เพราะต้องทำภายใต้กรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด