“เพื่อไทย” จี้ หยุดขึ้นค่าก๊าซหุงต้ม ประชาชนเดือดร้อนหนัก ชี้ ก๊าซขึ้น ไฟฟ้าขึ้น น้ำมันขึ้น ปชช.ลำบากหนักมาก

“เพื่อไทย” จี้ หยุดขึ้นค่าก๊าซหุงต้ม ประชาชนเดือดร้อนหนัก ชี้ ก๊าซขึ้น ไฟฟ้าขึ้น น้ำมันขึ้น ประชาชนลำบากหนักมากแนะ แนวทางลดราคาก๊าซหุงต้ม และยืนยันลดราคาพลังงานได้แน่นอน

นางสาวจุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร สส. กทม. เขต บางรัก สาทร ปทุมวัน และ โฆษกคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลประกาศขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเป็น 423 บาท/ ถัง 15 กก. ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับประชาชนอย่างมาก หลังจากที่ขึ้นเป็น 408 บาท/ 15 กก. ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว และหนึ่งปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1 เมษายนปีที่แล้ว รัฐบาลได้ขึ้นราคาค่าก๊าซหุงต้มแล้วถึง 105 บาท จาก 318 บาท/ ถัง 15 กก. เป็น 423 บาท / ถัง 15 กก ในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเป็นการขึ้นถึง 33% ใน 1 ปีซึ่งหนักมาก

ทั้งนี้การขึ้นราคาก๊าซหุงต้มนี้ เป็นการซ้ำเติมภาระของประชาชนหลังจากที่รัฐบาลเพิ่งประกาศขึ้นราคาไฟฟ้าเป็นหน่วยละ 5.33 บาทในภาคของธุรกิจในวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมานี้ อีกทั้ง ราคาน้ำมันก็เริ่มกลับมาขึ้นราคาอีกครั้งหลังจากประเทศจีนเปิดประเทศ ซึ่งหนักหนาสาหัสมาก และจากการที่ได้ลงพื้นที่ สาทร บางรัก ปทุมวัน พบว่าประชาชนจำนวนมากได้บ่นถึงความยากลำบากในเรื่องราคาพลังงานทั้ง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และ ค่าน้ำมัน ที่พุ่งสูงนี้ โดย พ่อค้า แม่ค้า จำนวนมากที่ขายอาหาร ถึงกับจะถอดใจเลยกับการขายอาหาร เพราะสู้ราคาต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบไม่ไหว และต้องขึ้นราคาอาหาร ลูกค้าก็บ่นและก็มีคนมาซื้อทานน้อยลง เพราะต้องขึ้นราคาแพงขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ลูกค้าส่วนใหญ่รายได้ไม่เพิ่มแถมยังลดลง

ในเรื่องก๊าซหุงต้มนี้ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้มีแนวทางการแก้ปัญหาโดยเสนอให้รัฐบาลจัดเก็บเงินจากก๊าซ LPG หรือ ก๊าซหุงต้มนี้ ที่ส่งเข้าโรงงานปิโตรเคมีเพื่อมาช่วยลดค่าก๊าซหุงต้มของครัวเรือนลง ทั้งนี้เพราะก๊าซหุงต้มนี้ได้มาจากการแยกก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้ในพื้นที่อ่าวไทยซึ่งเป็นสมบัติของประชาชนทั้งประเทศ อีกทั้งได้จากการกลั่นน้ำมันด้วย ในอดีตมีก๊าซ LPG นี้เหลือมากจึงส่งเสริมให้ประชาชนใช้กันมาก ที่นอกจากจะใช้หุงต้มแล้ว ยังใช้กับรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม

แต่ต่อมาสามารถนำก๊าซ LPG นี้ ไปใช้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเลยทำให้ก๊าซมีราคาแพง บริษัทพลังงานจึงนำไปใช้ในธุรกิจปิโตรเคมี และให้รัฐบาลนำเข้าก๊าซ LPG เข้ามาแทนในราคาแพงและให้กองทุนน้ำมันที่เก็บจากประชาชนเป็นคนจ่ายส่วนต่าง ดังนั้นบริษัทพลังงานจึงควรต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ซึ่งในอดีตในสมัยพรรคเพื่อไทย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ เป็น รมว. พลังงานในขณะนั้นได้สั่งเก็บเงินจากก๊าซ LPG ที่ส่งเข้าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนี้แล้ว หน่วยละ 1 บาทได้เงินปีละหลายพันล้านบาทเข้ากองทุนน้ำมัน แต่ต่อมาถูกยกเลิกไปหลังการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งไม่ทราบเหตุผล อาจจะถูกบริษัทพลังงานล็อบบี้ให้เลิกเก็บ และควรต้องหันกลับมาเก็บใหม่ และควรเก็บมากกว่าเดิมด้วย เพื่อนำเงินมาช่วยลดราคาก๊าซหุงต้มให้กับภาคครัวเรือนได้

เรื่องนี้คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้เสนอหลายครั้งแล้ว และรัฐบาลได้ไปเก็บเงินจากโรงแยกก๊าซจำนวน 6,000 ล้านบาท ( เดือนละ 1,500 ล้านบาท 4 เดือน มกราคม – เมษายน 2566) แต่กลับนำไปลดค่าไฟฟ้า ซึ่งที่จริงควรลดราคาก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือนมากกว่า และควรเก็บแบบถาวร ไม่ใช่เก็บเป็นครั้งคราวเท่านั้น

การที่จะลดราคาก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า และ น้ำมันได้ ผู้นำจะต้องมีความรู้ในรายละเอียด โครงสร้างราคา และ ประวัติความเป็นมา จึงจะเข้าใจและสามารถปรับลดได้อย่างถูกต้องและมีเหตุมีผล ไม่ใช่จะประกาศลดมั่วๆ โดยขาดความรู้ความเข้าใจ ซึ่งจะเป็นผลเสียมากกว่า ดังนั้นขอให้มั่นใจได้ว่าพรรคเพื่อไทยได้ศึกษารายละเอียดเรื่องพลังงานเป็นอย่างดี และหากได้รับความไว้วางใจจากประชาชน จะสามารถลดราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และ ไฟฟ้าได้ทันที เพื่อลดภาระของประชาชนและสร้างความสุขให้กับประชาชนได้ทันทีเหมือนที่เคยทำมาแล้ว