ย้อนรอย เมื่อ “ดีเอสไอ-ตำรวจ-ทหาร” บูรณาการร่วมกัน เรียกรับผลประโยชน์ทุนจีนสีเทา

ข่าวช็อกคนไทย ซึ่งดูจะกลายเป็นเรื่องปกติซะแล้ว กับกรณีฉาววงการสีกากีในการใช้อำนาจหน้าที่ตบทรัพย์ กว่า สิบล้านบาท เรื่องนี้เกี่ยวเนื่องกับกรณีทุนจีนสีเทาซึ่งกำลังเป็นประเด็นอยู่ในประเทศ

เรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นเริ่มจากรองกงสุลใหญ่ปฏิบัติราชการแทนกงสุลใหญ่นาอูรูประจำประเทศไทย มีหนังสือฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้ช่วยเหลือและตรวจสอบ สถานกงสุลพบว่ากงสุลใหญ่ฯ ได้มีการเช่าบ้านพักส่วนตัวนอกพื้นที่ของที่ทำการกงสุล และมีการดำเนินการผิดกฎหลายประการ โดยให้คนเอเชีย น่าเชื่อว่าเป็นคนสัญชาติจีน เข้ามาใช้สถานที่ดังกล่าว นอกเหนือจากการเป็นที่พักอาศัยของกงสุลใหญ่และมีการเข้าออกที่พักตลอดทั้งวันจนผิดสังเกตรวมถึงรบกวนเพื่อนบ้าน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่สถานทูตของประเทศอื่นๆที่พักอาศัยใกล้เคียงกัน และอาจเป็นเรื่องกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงระหว่างประเทศนาอูรูและประเทศไทย

เงินสดที่พบหายอื้อ

ต่อมา วันที่ 22 ธ.ค. เจ้าหน้าที่จึงขอหมายค้นจากศาล และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการสายตรวจและปฎิบัติการพิเศษ (บก.สปพ.) หรือ 191 ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าตรวจสอบบ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ซึ่งมีการแอบอ้างว่าเป็นบ้านพักอดีตกงสุลนาอูรูประจำประเทศไทย แต่ภายในกลับมีคนจีนเข้าออกพลุกพล่าน หลังเข้าตรวจค้นตามหมายค้นของศาลแล้ว ที่สุดแล้ว พบคนจีน 1 ราย พร้อมเงินสด 2.5 ล้านบาท จึงตรวจยึดส่งพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ เพื่อตรวจสอบ

ต่อมามีการร้องเรียนว่ามีเงินสดที่ได้จากการตรวจค้นหายไปจำนวนมากและมีการเรียกรับผลประโยชน์แลกกับการช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวที่อยู่ในบ้านเพื่อแลกกับการไม่ถูกจับกุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและดีเอสไอ เรียกรับผลประโยชน์จากชาวจีน 11 รายดังกล่าว เป็นเงิน 20 ล้านบาท เพื่อแลกกับการปล่อยตัว ส่วนชาวจีนที่ถูกจับกุมนั้น เป็นหญิงแม่บ้านสูงวัยชาวจีน ไม่นานจากนั้น ชาวจีน 11 คนที่มีชื่ออยู่ในหมายแดงของรัฐบาลจีน ได้เดินทางออกนอกประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย

เรื่องจึงร้อนถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเนื่องจากเป็นกรณีเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ในทางทุจริต เพื่อทำข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวให้กระจ่าง

มีการเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมและบุคคลที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ รวมรวมพยานหลักฐานประกอบตามกรณีดังกล่าว

ชุดจับกุม 16 ราย 

จากการสืบสวนทราบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการสายตรวจ บก.สปพ.และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยล่ามคนจีน ได้รับการประสานจากสถานกงสุลนาอูรูประจำประเทศไทยในกรณีที่ นายโอนาซิส ซานริค ดาเม่ อดีตกงสุลนาอูรุประจำประเทศไทย เช่าบ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กทม.แต่กลับมีชาวจีนเข้าออกบ้านหลังดังกล่าวจำนวนมาก จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ เจ้าหน้าที่จึงขออนุมัติหมายค้นจากศาลเพื่อเข้าตรวจค้นบ้านหลังดังกล่าววันที่ 22 ธ.ค.

ผลการตรวจค้นพบชาวจีน 2 คน พร้อมคนงานในบ้าน มีทั้งชาวไทย จีน และเมียนมาอีก 6 คน รวมทั้งพบสุราต่างประเทศ และบุหรี่ซิการ์จำนวนหนึ่ง และเงินสดจำนวนประมาณ 8 ล้านบาท ซึ่งหนึ่งในชาวจีนดังกล่าวคือ นายเหมา เติ้ง เผิง เป็นผู้ต้องหาตามหมายแดงของตำรวจสากลกรณีเกี่ยวข้องกับแก๊งปลอมพาสปอร์ตสัญชาติหมู่เกาะมาแชลและประเทศนาอูรู แต่ทางเจ้าหน้าที่มีการเรียกรับผลประโยชน์เพื่อแลกกับการปล่อยตัว โดยให้ล่ามเป็นคนไปรับเงินจากตัวแทนของชาวจีนดังกล่าว ที่บริเวณปั๊มน้ำมันบริเวณใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุ จำนวน 4 ล้านบาท

จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงทำบันทึกตรวจยึดเงินสดจำนวน 2.5 ล้านบาท และส่งตัวน.ส.เซี่ยง หยาง ผู้ดูแลบ้านดังกล่าว พร้อมเงินที่ตรวจยึดให้พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งถูกดำเนินคดีในกรณีไม่พกพาหนังสือเดินทาง

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ม.ค. เจ้าหน้าที่สืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและขออนุมัติศาลออกหมายจับเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมของกองกำกับการสายตรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวม 16 ราย ประกอบด้วย

1. นายตฤณ พิชิตกุญชร ผู้อำนวยการส่วนกลั่นกรองและการข่าวคดีพิเศษภาค

2. นายอนัน สีลาโคตร เจ้าหน้าที่ DSI

3. นายอดิศร สนธิวรชัย เจ้าหน้าที่ DSI

4. นายอำนาจ คำแสนเดช เจ้าหน้าที่ DSI

5. นายศุภชัย ลิ้มพิพัฒนโสภณ เจ้าหน้าที่ DSI

6. ร.ต.อ.ณรงค์เดช พิทักษ์ประชาชน

7. ร.ต.ท.สุรินทร์ เอียดแก้ว

8. ด.ต.สุภชัย สุรยัพ

9. ด.ต.ปกิต มูลเพ็ญ

10. จ.ส.ต.จีระ เลขะสันต์

11. จ.ส.ต.อรรถรินทร์ วิริยะพันธ์

12. จ.ส.ต.ธรรมนูญ จันทร์นวล

13. จ.ส.ต.สิทธิพงษ์ ทวีสิน และ

14. ส.ต.อ.ธวัชชัย สายพันธุ์ ข้อหา

เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมีชอบ ,เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเพื่อจะช่วยเหลือผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษหรือให้รับโทษน้อยลง ทำให้เสียหายทำลายซ่อนเร้นเอาไปเสียหรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด

15. ส.อ.มนตรี ฮวดเจริญ เจ้าหน้าที่ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ

และ 16. นายอู่ จิน หลง สัญชาติจีน ทำหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษาจีนของ DSI ข้อหา สนับสนุนให้เจ้าพนักงานร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ,สนับสนุนเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ,เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเพื่อจะช่วยเหลือผู้อื่นมีให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจและ DSI เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนแล้ว 16 นาย ซึ่งทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และรับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีหลักประกัน

ทหารก็ร่วมด้วย 

ขณะที่ เมื่อวันที่ 17 ม.ค. พล.ท.ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร/โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่าจากการตรวจสอบพบว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น เป็นกำลังพลสังกัดศูนย์รักษาความปลอดภ้ยจริง โดยเบื้องต้น พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้รับรายงานในเรื่องดังกล่าวแล้ว และสั่งการให้หน่วยต้นสังกัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยด่วน และให้รายงานผลการสอบสวนต่อผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต่อไป

รายงานข่าวจากศูนย์รักษาความปลอดภัยกอง (ศรภ.) บัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีกำลังพลของหน่วยออกไปดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ DSI และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 บางนาย รับสินบน จากทุนจีนสีเทานั้น ว่า ในวันนี้(17 ม.ค.) ได้รายงานด้วยวาจาให้พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ได้รับทราบแล้วต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกันนี้ทางผบ.ศรภ. ได้ตั้งคณะกรรมการสอบทางวินัย ซึ่งจะใช้เวลาสอบสวนประมาณ 5 วัน

จากการสอบส่วนในเบื้องต้นพบว่าเป็นการกระทำโดยพลการไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน่วย และทางหน่วยไม่ได้ส่งนายทหารรัฐธรรมนูญไปดูในเรื่องนี้ แต่อย่างใด ส่วนเรื่องของคดีความนั้นเจ้าตัวต้องเป็นคนดำเนินการเอง เนื่องจากว่าไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยเป็นการกระทำส่วนตัว และที่ผ่านมากองทัพ มีกฎระเบียบในการออกไปปฎิบัติงานอยู่แล้ว

นี่คือที่มาที่ไปของข่าวฉาววันนี้ มีบุคลากรหน่วยงานรัฐร่วมถึง 3 หน่วยงาน แน่นอนว่า อะไรแบบนี้คงไม่หมดจากประเทศไทยง่ายๆ