สื่อตะวันตกตีข่าว พบบริษัทต่างชาติ 13 ประเทศ เอื้อทหารพม่าผลิตอาวุธ ปราบพลเรือน

พบข้อมูลบริษัทเอกชนต่างชาติในกว่า 13 ประเทศ เอื้อหรือจัดส่งวัสดุ วัตถุดิบให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ในการผลิตอาวุธซึ่งถูกใช่้ในการปราบปรามประชาชน

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า รายงานของสภาที่ปรึกษาพิเศษว่าด้วยเมียนมา ซึ่งประกอบด้วยอดีตเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุอ้างว่า หลายประเทศที่เป็นสมาชิกยูเอ็นยังคงขายอาวุธให้กับกองทัพเมียนมา แม้ยูเอ็นจะดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาอยู่ก็ตาม โดยมีบริษัทต่างชาติในอย่างน้อย 13 ประเทศ ซึ่งมีสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อินเดีย และญี่ปุ่น รวมอยู่ด้วยนั้น เป็นผู้จัดหาส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตอาวุธให้กับกองทัพเมียนมา ที่ยังผลิตอาวุธต่างๆ ขึ้นเองเพื่อใช้ในการต่อสู้กับประชาชนของตนเอง

รายงานระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่พอๆ กันคือข้อเท็จจริงที่ว่ากองทัพเมียนมาสามารถผลิตอาวุธได้หลากหลาย ซึ่งถูกนำไปใช้ในการโจมตีพลเรือน โดยบริษัทที่ถูกอ้างถึงเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบ การฝึก และเครื่องจักรให้กับกองทัพเมียนมา และอาวุธที่ผลิตนั้นไม่ได้นำไปใช้ในการป้องกันพรมแดนของตนเอง

“เมียนมาไม่เคยถูกต่างชาติโจมตีและไม่เคยส่งออกอาวุธใดๆ และนับตั้งแต่ปี 1950 เมียนมาก็ผลิตอาวุธเองเพื่อใช้ในการต่อสู้กับประชาชน” ยางฮี อี อดีตผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น หนึ่งในผู้เขียนรายงานนี้กล่าว

นอกจากนางอีแล้ว ยังมีคริส ซิโดตี และมาร์ซูกี ดารุสมาน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานอิสระค้นหาข้อเท็จจริงระหว่างประเทศว่าด้วยเมียนมาของยูเอ็น ที่ร่วมเขียนรายงานด้วย ที่ระบุว่าแหล่งข้อมูลของพวกเขามาจากเอกสารทางทหารที่หลุดออกมา รวมถึงการสัมภาษณ์อดีตทหารและภาพถ่ายดาวเทียมของโรงงานต่างๆ ในเมียนมา และยังมีภาพถ่ายอื่นๆ ที่ถ่ายในปี 2017 พิสูจน์ให้เห็นว่าอาวุธที่กองทัพเมียนมาผลิตขึ้นเองถูกใช้ก่อนเกิดรัฐประหารด้วย เช่น ภาพที่พบเห็นทหารถือปืนไรเฟิลผลิตในเมียนมา ในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่อินดิน ที่ทหารเมียนมาสังหารชายชาวโรฮีนจาที่ไร้อาวุธ 10 ราย

รายงานระบุว่า อุปกรณ์บางอย่างที่ใช้ผลิตอาวุธ เชื่อว่ามาจากออสเตรีย เช่น เครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งผลิตโดยบริษัท GFM Steyr ถูกใช้ในการผลิตลำกล้องปืน เมื่อต้องการซ่อมบำรุง เครื่องจักรเหล่านั้นจะถูกส่งไปไต้หวัน ที่มีช่างเทคนิคของ GFM Steyr ซึ่งจะทำการซ่อม ก่อนส่งกลับไปยังเมียนมา

ผู้เขียนรายงานยอมรับว่าพวกเขาเปิดเผยเครือข่ายอาวุธเพียงเศษเสี้ยว แต่คาดว่ามีหลายประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น วัสดุจากจีนถูกโยงไปถึงการผลิตอาวุธในเมียนมา รวมถึงทองแดงและเหล็กที่เชื่อว่ามาจากจีนและสิงคโปร์ ส่วนประกอบสำคัญ เช่น ฟิวส์และเครื่องจุดชนวนไฟฟ้ามาจากบริษัทในอินเดียและรัสเซีย อ้างจากข้อมูลการขนส่งและการสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่เป็นอดีตทหาร ขณะที่เครื่องจักรในโรงงานผลิตอาวุธของเมียนมามาจากเยอรมนี ญี่ปุ่น ยูเครน และสหรัฐ ส่วนซอฟต์แวร์ในการตั้งโปรแกรมเครื่องจักรเชื่อว่ามาจากอิสราเอลและฝรั่งเศส

ส่วนสิงคโปร์ดูจะเป็นศูนย์กลางการขนส่ง โดยมีบริษัทในสิงคโปร์เป็นตัวกลางระหว่างฝ่ายจัดซื้อของกองทัพเมียนมากับซัพพลายเออร์ต่างชาติ

ทั้งนี้ หลายปีที่ผ่านมาเมียนมาเต็มไปด้วยเหตุความรุนแรงหลังจากกองทัพเมียนมาใช้กำลังปราบปรามฝ่ายต่อต้านตนเอง รวมถึงชนกลุ่มน้อย สถานการณ์ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 ซึ่งมีตัวเลขทางการที่ประชาชนถูกกองทัพเมียนมาสังหารหลังเกิดรัฐประหารแล้วมากกว่า 2,600 ราย แต่เชื่อกันว่าตัวเลขที่แท้จริงสูงกว่านี้ 10 เท่า (บีบีซี)