“เสธ.อู้ “ดับฝันปลดล็อกวาระนายกฯ8ปี ชี้ เป็นไปไม่ได้-ใช้งบกว่า 4 พันล้าน

“เสธ.อู้ “ดับฝันปลดล็อกวาระนายกฯ8ปี ชี้โอกาสผ่านเท่ากับศูนย์ ต้องเจอด่านหินโหวตวาระ 3 พ่วงทำประชามติ ใช้งบกว่า 4 พันล้าน – เปรียบรธน. 60 เหมือนศิลาจารึก อย่าคาดหวังรื้อสำเร็จ

เมื่อวันที่ 15 มกราคม พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา มีแนวคิดศึกษาเสนอประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 เกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีคนเห็นต่างหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะการกำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งประเด็นนายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่มีใครเห็นด้วยตั้งแต่ต้นสมัยศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เหมือนกับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงหรือเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงแบบต่างประเทศ ดังนั้นการนำประเด็นดังกล่าวมาพูดกันตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ไม่ค่อยเหมาะสม เพราะว่าสร้างประเด็นเกี่ยวเนื่องกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า มองว่าในทางปฏิบัติโอกาสเป็นไปได้แทบจะเป็นศูนย์ เพราะเมื่อดูวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 (8) เขียนไว้เป็นข้อห้ามว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นใดบ้างที่ต้องดำเนินการทำประชามติ ซึ่งถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามตามของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญนี้จะต้องนำไปทำประชามติก่อนเมื่อผ่านการลงมติวาระ 3 แล้ว

“เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ไขตรงนี้ไม่เฉพาะแค่แก้ไขในรัฐสภา จะต้องทำประชามติ ใช้งบประมาณ 4 พันล้านบาท และใช้เวลาอีก 4-5 เดือน และถ้าถอยหลังไปยังขั้นตอนการเสนอก่อน ส.ส.และส.ว.ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือประมาณ 150 คน ร่วมกันเสนอแก้ไขได้ กว่าจะบรรจุระเบียบวาระก็ไม่ทันสมัยประชุมนี้ หากยื่นแก้ไขในสมัยหน้า รัฐบาลใหม่ การนำเสนอจะต้องมีไม่ต่ำกว่า 150 คน ส่วนวาระที่หินที่สุดคือวาระ 3 เพราะจะต้องมีส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และต้องมีฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 จะมีฝ่ายค้านที่ไหนยอมกัน สมมติพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ฝ่ายค้านก็คงไม่ยอมให้แก้ไข” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวอีกว่า การเสนอแนวคิดนี้เป็นเรื่องทางด้านวิชาการ และความเหมาะสม ไม่ได้สอดคล้องกับการที่พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย ไม่คิดว่าทางกมธ.ฯจะคิดเช่นนั้น เพราะทางกมธ.ก็เคยมีแนวคิดศึกษาการแก้ไขวิธีการได้มาซึ่งส.ว. เช่นกัน ดังนั้นจึงมองว่าโอกาสตอนนี้เป็นศูนย์ที่จะแก้ไขได้ ใครจะกล้าเอาเงิน 4 พันล้านบาทไปแก้ไขแค่วรรคเดียว และเท่าที่เสนอขอแก้ไขกันมาก็ไม่เคยประสบความสำเร็จเลย แต่หากแก้โดยตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ก็อาจมีความเป็นไปได้ แต่ต้องใช้งบประมาณกว่าหมื่นล้าน หากเปรียบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยิ่งกว่าศิลาจารึก อย่าไปคาดหวังที่จะแก้ไขได้เลย