ไทยสร้างไทย ชี้สภาล่มต่อเนื่อง ครั้งที่ 30 ฉุดร่างกฎหมายสำคัญ เดือดร้อน ปชช. สะท้อนความเสื่อมถอย

โฆษกพรรคไทยสร้างไทย เผย สภาล่มต่อเนื่อง ล่าสุดเป็นครั้งที่ 30 ฉุดร่างกฎหมายสำคัญ เดือดร้อนประชาชน สะท้อนความเสื่อมถอยของเสาหลักชาติ เชื่อเป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญ วอนผู้ทรงเกียรติ คำนึงถึงประโยชน์ประชาชนเป็นลำดับแรก 

นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย เผยว่าล่าสุดวันที่ 11 ม.ค. 2566 ต่อเนื่องมาจากวันที่ 10 ม.ค. 2566 มีการพิจารณา ร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. โดยการประชุมสภาฯ ส่อแววจะมีปัญหาเรื่ององค์ประชุมตั้งแต่เปิดการประชุม และผลสุดท้ายก็ต้องปิดสภา เพราะเมื่อต้องนับคะแนนเพื่อลงมติ ก็พบว่าจำนวน ส.ส. ไม่ครบองค์ประชุมอีกครั้ง

หากรวบรวมจากฐานข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการรายงานจากสื่อมวลชน นับแต่สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ได้เข้ามาทำหน้าที่และเริ่มมีการประชุมสภาครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2562 ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน ถูกบันทึกไว้จนถึงวันที่ 11 ม.ค. 2566 มีองค์ประชุมที่ล่มซ้ำซากไปแล้วถึง 30 รอบ เริ่มจากในปี 2562 สภาล่มทั้งหมด 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นหลังจากมีการขานชื่อเป็นเอกฉันท์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่งได้เพียงแค่ 2 เดือน ต่อมาในปี 2563 สภาล่ม 1 ครั้ง ภายหลังมีการโยกย้าย ส.ส. จากฝ่ายค้านเข้าร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 สภาเริ่มล่มครั้งแล้วครั้งเล่า โดยล่มไปทั้งหมดจำนวน 9 ครั้ง ประธานสภาและรองประธานสภาไม่สามารถควบคุมองค์ประชุมได้ ซึ่งต่อเนื่องมาจนถึงปี 2565 ที่สภาล่มไปกว่า 13 ครั้ง และยังคงดำเนินมาข้ามปี นับตั้งแต่เปิดปีใหม่ 2566 เริ่มต้นที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกประจำปีในวันที่ 4 ม.ค. 2566 ก็ล่มอีกครั้ง

เมื่อพิจารณาสถิติการประชุมสภาฯ ของปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2565 ถึงล่าสุดวันที่ 11 ม.ค. 2566 มีการประชุมสภามาแล้ว 49 ครั้ง สภาล่มทั้งสิ้น 15 ครั้ง คิดเป็น 30% ของการประชุมทั้งหมดตั้งแต่ปี 2566 สะท้อนความไม่เป็นมืออาชีพ ไม่รับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ที่เป็นตัวแทนของประชาชน

ผลกระทบของฝ่ายนิติบัญญัติไทยที่ไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมตลอด 4 ปี มีการทำองค์ล่มถึง 30 ครั้ง สะท้อนความเสื่อมถอยของแวดวงนิติบัญญัติในประวัติศาสตร์ เพราะเพียงแค่เริ่มต้นปี 2566 ก็ต้องเผชิญกับภาวะสภาล่มมาอย่างต่อเนื่องข้ามปี โดยเป็นผลพวงมาจากกติกาของรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ เป็นรัฐบาลผสมกว่า 20 พรรคและมีการโยกย้ายและมีข้อครหาในการซื้อตัว ส.ส. ให้มาร่วมฝั่งรัฐบาล จนเผชิญปัญหาสภาไร้เสถียรภาพ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามเหมาะสมอย่างที่ควรเป็น

นางสาวธิดารัตน์ย้ำว่าหากแต่ละฝ่ายมัวแต่เล่นเกมการเมือง ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน ย่อมสร้างความเดือดร้อนและประชาชนจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ การที่สภาไม่สามารถผลักดันร่างกฎหมายต่างๆ ถือเป็นการผลาญเงินภาษีของประชาชนโดยเสียเปล่า อีกทั้งยังละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามที่อาสาประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ โดยหวังว่าทุกฝ่ายจะยึดมั่นและให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประชาชนเป็นอันดับแรก