ตำแหน่งประธานสภาคนใหม่ สู้กันดุเดือดกว่าจะได้มา หลังรีพับลิกันฝ่ายขวาจัดป่วนหนัก

ระทึกกันไม่น้อย เมื่อตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ หรือเรียกภาษาง่ายๆว่า ประธานสภาคองเกรส ใช้เวลาหลายวันก็ยังไม่รู้ว่าใครจะมาดำรงตำแหน้ง

โดยตำแหน่งดังกล่าว ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2332 ตามบทที่ 1 มาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐ ประธานสภาฯ เป็นผู้นำทางการเมืองและรัฐสภาของสภาผู้แทนราษฎรและพร้อม ๆ กัน คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำเสียงข้างมากของพรรค และหัวหน้าบริหารของฝ่ายนิติบัญญัติ

ด้วยความที่ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงมีบทบาทและความรับผิดชอบหลายประการ ประธานสภาฯ จึงมักไม่ได้ทำหน้าที่ในการอภิปราย หน้าที่ดังกล่าวได้รับมอบหมายให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเสียงข้างมากเป็นผู้ดำเนินการแทน ประธานสภาฯ ไม่ได้เข้าร่วมการอภิปรายหรือออกเสียงลงคะแนนอย่างสม่ำเสมอ

รัฐธรรมนูญสหรัฐไม่ได้กำหนดให้ประธานสภาฯ จะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้กระทั่งปัจจุบัน

ในลำดับการสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐถือเป็นลำดับที่ 2 ต่อจากรองประธานาธิบดีสหรัฐ และก่อนหน้าประธานชั่วคราววุฒิสภาสหรัฐ

ประธานคนก่อนหน้าคืิอ แนนซี เพโลซี  ซึ่งครองตำแหน่งมายาวนาน และมีบทบาทสำคัญทางการเมืองระหว่างประเทศมาก เช่นล่าสุดคือการเดินทางไปเยือนไต้หวัน ปัจจุบัน เควิน แมคคาร์ธี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐคนที่ 55 ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2566 หลังจากสมาชิกลงมติเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง 15 ครั้ง

กว่า นายเควิน จากรัฐแคลิฟอร์เนียของพรรครีพับลิกัน ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  หลังจากที่เขาต้องรับมือกับการถูกคัดค้านจากสมาชิกพรรครีพับลิกันฝ่ายขวาจัดอย่างดุเดือด ซึ่งทำให้สภาล่างของสภาคองเกรสเป็นอัมพาตเป็นเวลาหลายวัน

แมคคาร์ธีได้รับชัยชนะและสามารถคว้าตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสายงานบริหารประเทศ ที่เป็นรองเพียงรองประธานาธิบดีเท่านั้น ในการลงมติในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐครั้งที่ 15 ในช่วงเช้าของวันนี้ (7 ม.ค.) ด้วยคะแนนเสียง 216-212 เสียง ที่ถึงแม้คะแนนดังกล่าวจะน้อยกว่าจำนวนครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐทั้งหมด แต่ก็เพียงพอให้เขาได้รับตำแหน่งนี้ เนื่องจากเพื่อนร่วมพรรครีพับลิกัน 6 คนงดออกเสียง นับเป็นจุดสิ้นสุดสภาพที่ผิดปกติของสภาในรอบกว่า 160 ปี

“ระบบของเราก่อตั้งขึ้นบนหลักการถ่วงดุลอำนาจ ถึงเวลาของพวกเราแล้วที่จะตรวจสอบและถ่วงดุลนโยบายของประธานาธิบดี” แมคคาร์ธีกล่าวในการปราศรัยครั้งแรก ซึ่งจัดลำดับความสำคัญของนโยบายไว้หลายประการ ตั้งแต่การลดค่าใช้จ่าย การอพยพเข้าเมือง ไปจนถึงการต่อสู้ในสงครามวัฒนธรรม

อย่างไรก็ดี ก่อนได้รับตำแหน่งนี้ แมคคาร์ธีเผชิญกับเหตุน่าอับอาย เมื่อ แมตต์ กาสซ์ ส.ส.รีพับลิกัน งดออกเสียงในการลงมติครั้งที่ 14 จนเกิดการตะลุมบอนขึ้นในสภา ถึงขนาดที่ ไมค์ โรเจอร์ส ส.ส.รีพับลิกัน ต้องถูกนำตัวออกไป

ชัยชนะของแมคคาร์ธีในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เขาเสนอข้อผ่อนปรนหลายประการแก่ฝ่ายขวาสุดโต่ง อาทิ การตัดลดงบประมาณ และการควบคุมอื่นๆ ต่อภาวะผู้นำของแมคคาร์ธี โดยเฉพาะการตกลงต่อข้อเรียกร้องจากฝ่ายหัวรุนแรงที่ว่า ส.ส.คนใดก็ตามสามารถเรียกร้องให้เกิดการถอดถอนแมคคาร์ธีออกจากตำแหน่งได้ทุกเมื่อ

การยอมอ่อนข้อนี้จะเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองแก่ฝ่ายขวาจัดและจะเป็นการจำกัดอำนาจของเขาลงอย่างมาก เมื่อจะต้องมีการผ่านร่างกฎหมายในประเด็นที่เป็นที่ถกเถียง ซึ่งรวมถึงงบประมาณรัฐบาล การแก้ปัญหาเพดานหนี้ของประเทศ และวิกฤตอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น และอาจนำไปสู่ความปั่นป่วนเพิ่มเติมในช่วงหลายเดือนข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสภาคองเกรสจำเป็นต้องลงนามในการเพิ่มอำนาจการกู้ยืมมูลค่า 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ของสหรัฐ