ป้าย 33 ล้าน สะท้านโซเชียล ส่องความเห็นทุกฝ่าย ไม่เห็นความจำเป็น!?

สุรเชษฐ์’ แนะใช้ทั้ง 2 ชื่อสถานีกลางบางซื่อ ชื่อใหม่ใช้ในเอกสารราชการ ไม่ต้องเสียเงินเปลี่ยนป้ายให้คนงง ฝากประชาชนจับตาคมนาคม ใกล้เลือกตั้งขยันผิดปกติ ดันเมกะโปรเจกต์หลายแสนล้านผ่าน ครม. ทั้งที่งานเก่ายังไม่เสร็จ แต่โฆษณาเอาหน้าไปเรื่อย ๆ

วันที่ 4 มกราคม 2566 สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์เรื่องความเหมาะสมของการเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ วงเงิน 33 ล้านบาท ระบุว่ามอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคมตรวจสอบแล้ว และเรื่องนี้มีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบด้วย จึงไม่ต้องกังวลว่า ตนขอโต้แย้งสิ่งที่รัฐมนตรีคมนาคมตอบ ประเด็นแรก ป้าย 33 ล้านบาท จะราคาแพงเกินไปหรือไม่ ไม่ใช่สิ่งที่สังคมสงสัยเพียงอย่างเดียว สิ่งที่สังคมสงสัยมากกว่าคือมีความจำเป็นอะไรถึงต้องเปลี่ยนป้ายจริงๆ เพราะโดยหลักการตั้งชื่อของสถานีขนส่ง ควรเป็นชื่อที่คนจำง่ายและทำให้รู้ว่าตำแหน่งของสถานีอยู่ตรงไหน เช่น สถานีรถไฟชินจูกุ (Shinjuku) ที่ตั้งอยู่ที่แขวงชินจูกุของกรุงโตเกียว สถานีกลางบางซื่อก็ตั้งอยู่ในเขตบางซื่อ กทม. ประชาชนคนต่างจังหวัด คนต่างชาติได้ยินชื่อก็นึกออกว่าต้องไปที่ไหน

“แต่วันดีคืนดีกลับมีชื่อใหม่ลอยลงมา ทำให้ต้องเปลี่ยนป้ายใหม่กะทันหัน รัฐบาลต้องเสียงบประมาณไปทำป้ายสองครั้งโดยใช่เหตุ และชื่อใหม่ใช่ว่าจะดี กลับยิ่งทำให้ชื่อสถานีงงกว่าเดิม ดังนั้น ทางออกของเรื่องนี้ง่ายมาก คือให้สถานีมีทั้ง 2 ชื่อ สำหรับชื่อสถานีกลางบางซื่อ ควรคงไว้เพราะเป็นชื่อที่ประชาชนจำง่าย ส่วนชื่อใหม่ให้ใช้ในเอกสารราชการ จะได้ไม่ต้องเสียเงินเปลี่ยนป้ายให้งง 2 ต่อ ” สุรเชษฐ์กล่าว

สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สอง ขอฝากให้ประชาชนติดตามการใช้เงินแบบแปลกๆ ที่รอบนี้มากกว่าแค่ 33 ล้านบาท หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเตรียมดัน 9 เมกะโปรเจกต์ วงเงินหลายแสนล้านบาทให้ผ่านคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ของปีนี้ก่อนเลือกตั้ง เป็นวิธีการที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตั้งแต่เป็นรัฐบาล คสช. น่าสังเกตว่าช่วงก่อนเลือกตั้งกระทรวงคมนาคมจะขยันผิดปกติ รีบดันโครงการโดยไม่มั่นใจว่าได้คำนึงถึงความคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน ซึ่งอาจก่อปัญหาได้ในอนาคต

“การเร่งสร้างโดยไม่พร้อมก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น มอเตอร์เวย์กรุงเทพ-โคราช ใช้แบบเก่าจากปี 2551 มาอนุมัติให้สร้างในปี 2559 ตามแผนคือเสร็จปี 2563 แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่เสร็จ เกิดเป็นช่องว่างต้องหางบมาอุดเพิ่มโดยวิธีการเจรจากับเจ้าเดิม งบบานงานช้าแต่โฆษณาเอาหน้าไปเรื่อย เลื่อนเปิดไปเรื่อย ๆ แทนที่ตอนนี้รัฐบาลจะเร่งสร้างของเก่าให้เสร็จ ก็เอาแต่จะเร่งอนุมัติของใหม่ เราทุกคนจึงต้องตั้งคำถามว่าทำไมการอนุมัติโครงการเช่นนี้จึงเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าก่อนการเลือกตั้งทุกครั้ง” สุรเชษฐ์กล่าว

พรรคไทยสร้างไทย ชี้งบป้าย 33 ล้าน ราคาแพงลิ่ว จี้เร่งตรวจสอบหาความจริง ระบุ ไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้วิธีเฉพาะเจาะจง เชื่อสามารถประกาศเชิญชวน ใช้วิธีคัดเลือกตามขั้นตอนได้

นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงการใช้งบประมาณ 33 ล้านบาทเพื่อเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น ถือเป็นการใช้งบติดตั้งป้ายที่มีราคาแพง และเป็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง ตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างปี 60 คือเลือกมาเลยใครได้งาน ไม่ได้เปิดให้มีการเสนอราคาเป็นการทั่วไป ซึ่งตนมองว่าควรมีการเร่งตรวจสอบหาความชัดเจน เพื่อไม่ให้เข้าข่ายการแอบแฝงการเอื้อผลประโยชน์ในการดำเนินโครงการภาครัฐ

แม้ว่าการรถไฟฯ จะย้ำว่าโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างเคร่งครัด ทั้งการกำหนดราคากลาง กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และคำนึงถึงประโยชน์ในการใช้งาน ความคุ้มค่าของงบประมาณ ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อโครงสร้างภายในสถานี ประชาชนผู้ใช้บริการ และเหมาะสมกับการเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางที่สำคัญของภูมิภาคเป็นสำคัญ แต่วงเงินงบประมาณที่ใช้มีจำนวนสูงถึงกว่า 33 ล้านบาททีเดียว

การรถไฟฯ ยังได้ให้เหตุผลจำเป็นในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่งมีบริษัท–ภที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานกำหนด ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการในราคาที่ตกลงซื้อหรือจ้างเรียบร้อยแล้ว โดยระบุว่าโครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นไปตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง และมีความเร่งด่วนจึงต้องมีการรีบดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด

นางสาวธิดารัตน์เห็นว่าการดำเนินการเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ ให้เป็นไปตามชื่อที่ได้รับพระราชทานเป็น “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” และการติดตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการโดยใช้วิธีเฉพาะเจาะจง เพราะวิธีการดังกล่าว จะทำให้การรถไฟฯ เสียงบประมาณในการว่าจ้างสูงเกินกว่าปกติ หากใช้วิธีการประกาศเชิญชวน หรือวิธีการคัดเลือกก่อน ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ย่อมจะทำให้การใช้งบประมาณของการรถไฟฯเป็นไปอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส ถูกหลักธรรมาภิบาล และสามารถตรวจสอบขั้นตอนกระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้าง และเป็นที่ยอมรับกับสังคมยิ่งขึ้น

ดังนั้น ตนจึงขอให้มีการเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้สังคมได้รับข้อมูลที่กระจ่างชัดเจน โดยควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อลดข้อกังขาของประชาชน เนื่องจากตัวเลขงบประมาณที่ใช้ปรับปรุงป้ายถือว่ามีราคาสูง และป้องกันไม่ให้เข้าข่ายการเอื้อผลประโยชน์ในการดำเนินโครงการภาครัฐฯ ดังกล่าวอีกด้วย