บิ๊กฉัตร แจง สถานการณ์น้ำภาคกลางดีขึ้น จ่อชงครม.ไฟเขียวงบเยียวยาเกษตรกร

บิ๊กฉัตร” แจง สถานการณ์น้ำภาคกลางดีขึ้น ด้านอีสาน มหาสารคาม-กาฬสินธุ์ ดีขึ้นพ.ย.นี้ ลั่น น้ำในเขตชลประทานมีพอเพาะปลูกฤดูกาลหน้า เตรียมเสนอ ครม.ไฟเขียวงบเยียวยาเกษตรกร

เมื่อเวลา 08.30น. วันที่7 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ว่า พื้นที่ภาคกลางได้ลดการระบายน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาจากสัปดาห์ที่แล้วลงประมาณ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้การระบายอยู่ที่
2,100ลบ.ม.ส่งผลให้ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณเฉลี่ยลดลงประมาณ 50 ซม. ส่วนด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยากลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วส่วนพื้นที่น้ำท่วมยังเป็นพื้นที่เดิมแต่ได้ลดระดับลง ขณะที่สถานการณ์น้ำในภาคอีสานได้ปรับลดการระบายน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เหลือ 20ล้านลบ.ม. ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำพองลดลง และกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็วๆนี้ ส่วนพื้นที่ที่ยังมีปัญหาระบายน้ำได้ช้าคือลำน้ำชี ช่วงกลาง ผ่านจ.มหาสารคาม และจ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากลำน้ำชีที่ผ่านสองจังหวัดมีความคดเคี้ยว มีสะพานทำให้น้ำไหลช้า คาดการณ์หากเร่งระบายที่จังหวัดอุบลราชธานี จะบรรเทาภัยความเดือดร้อนลงได้ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนจังหวัดยโสธรซึ่งอยู่ท้ายน้ำลำน้ำชีกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ด้านแม่น้ำมูลไม่มีปัญหาหรือผลกระทบอะไร

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากพายุที่เข้ามา ตนสั่งการและให้ตรวจสอบความพร้อมของทุกหน่วยงานที่ทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯและกองทัพ ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯได้สั่งการให้ส่งเครื่องสูบน้ำ 380 เครื่องและเครื่องมืออื่นๆวางกระจายใน 14 จุด เพื่อให้พร้อมในการช่วยประชาชนได้อย่างรวดเร็ว พร้อมส่งอาหารสัตว์ 2000 ตัน และสัตวแพทย์ลงไปดูแลอาการของสัตว์ด้วย โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าไปช่วยดูแล
“อย่างไรก็ตามผมจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบกว่า 4,000ล้านบาท เยียวยาเกษตรกรครัวเรือนละ 3,000 บาท นอกจากนั้นจะมีมาตรการช่วยเหลืออื่น เช่น การจ้างงาน,ชะลอการชำระหนี้ของเกษตรกร ,สนับสนุนเมล็ดพันธุ์สำหรับพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ และเป็นพื้นที่รับน้ำ เช่น บางระกำ และพื้นที่ใต้เขื่อนอีก 12 ทุ่ง ทั้งนี้พื้นที่แก้มลิง เช่น บางระกำ ได้เร่งระบายน้ำออกและสามารถทำการเพาะปลูกได้ในช่วงต้นเดือนธ.ค.นี้ ยืนยันว่าการเพาะปลูกในฤดูกาลหน้าในเขตชลประทานมีน้ำพอสำหรับเพาะปลูกได้ทั้งหมด โดยต้องบริหารจัดการการปลูกพืชและองค์ประกอบหลายด้านรวมกันด้วย” รมว.เกษตรฯ กล่าว

มท. ชี้ ปรับผังเมืองป้องกันน้ำท่วมเป็นเรื่องดี แต่ทำยาก

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วม ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยช่วงที่ผ่านมาเราก็เตรียมพร้อมหากเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ทุกส่วนก็ร่วมกันเตรียมการตามขั้นตอนของการเตรียมการรับสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีสถานการณ์ที่เกิดจากช่วงแรกมา ก็ยังไม่เกิดความเดือดร้อนมากนัก ส่วนทางใต้นั้น อย่างที่ทราบดีว่าจะมีเข้ามาอีกหลายลูกดังนั้น ขณะนี้ทุกฝ่ายก็ต้องเตรียมการณ์กันตามขั้นตอน เช่น การเตรียมการอพยพ การเตรียมที่พักพิง และอาหารการกินทุกอย่า สำหรับเรื่องผังเมืองนั้นเป็นเรื่องใหญ่ หากเราจะต้องเอาใครออกไปเพื่อระบายน้ำก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ของรัฐหรือเอกชน แต่ขระนี้นายกฯได้สั่งการให้กรมโยธาฯเร่งดำเนินการในพื้นที่เร่งด่วน เช่น การจัดทำผังน้ำ และกฎหมายควบคุมอาคาร และใช้ข้อมูลจากปีที่แล้วเข้ามาแก้ไขจุดที่เป็นปัญหา