หลังรัฐประหาร ดัชนีชี้วัดการโกงในไทยตกต่ำถึงขีดสุด! ไทยสร้างไทย ประกาศ ปฏิวัติการคอร์รัปชั่น คนโกงต้องไม่มีที่ยืน

ไทยสร้างไทย ประกาศ ปฏิวัติการคอร์รัปชั่น คนโกงต้องไม่มีที่ยืนในประเทศไทย หลังรัฐประหาร รัชนีชี้วัดการโกง ชี้ไทยตกต่ำถึงขีดสุด / สุดารัตน์ – สุพันธุ์ แท็กทีม ชูยุทธศาสตร์ 8 ด้าน ดึงประเทศไทยขึ้นจากก้นเหว ลั่น ต้องทำให้คะแนน CPI ขึ้นมาที่ 50คะแนน 

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย แถลงข่าวถึงนโยบายการปราบคอร์รัปชั่นเดินหน้าปฏิวัติคอรัปชั่นสร้างไทยที่โปร่งใสไม่ปล่อยให้คนโกงลอยนวล

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวถึงสถานการณ์คอร์รัปชั่น ของประเทศไทยซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรงและตกต่ำอย่างที่สุด ดัชนีชี้วัดการคอร์รัปชั่นปี 2564 ซึ่งเป็นดัชนีภาพลักษณ์ความโป่รงใส หรือ CPI ไทยได้เพียง 35 คะแนนและได้ลำดับที่ 110 จาก 180 ประเทศ เป็นตัวเลขที่ตกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับแต่เราเข้าร่วม CPI ปี 2538 เราสอบตกมาโดยตลอด ยิ่งหลังการรัฐประหารที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ อ้างเหตุเรื่องการคอรัปชั่นในการรัฐประหาร การคอรัปชั่นกลับยิ่งเลวร้ายลงในปี 2557 ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นไทยอยู่ที่ 38 คะแนน ได้ลำดับที่ 85 ของโลก แต่จากการปกครองประเทศของผู้ที่อาสาจะเข้ามาปราบโกงคะแนน CPI ตกลงมาโดยตลอด

ดังนั้น พรรคไทยสร้างไทยจึงมีเป้าหมายในการกำจัดคอร์รัปชั่นโดยขอประกาศการปฏิวัติคอร์รัปชั่น ให้เป็นวาระแห่งชาติ และจะทำให้คะแนนดัชนีภาพลักษณ์ความโปร่งใส ของไทยขึ้นมาอยู่ที่ 50 คะแนนให้ได้

ด้านนายสุพันธุ์ กล่าวว่า จากความเลวร้ายที่เกิดขึ้นพรรคไทยสร้างไทยจึงมียุทธศาสตร์ในการปฏิวัติการคอรัปชั่นของประเทศไทย ผ่านยุทธศาสตร์ทั้ง 8 ด้านประกอบไปด้วย

1.ผู้นำตั้งใจจริง ผู้นำประเทศจะต้องมีความตั้งใจจริง ที่จะปราบคอร์รัปชั่นให้สิ้นซาก การปราบคอร์รัปชั่นจึงจะประสบความสำเร็จ ในขณะเดียวกัน ผู้นำประเทศจะต้องเป็นต้นแบบในการถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นเพื่อแสดงความจริงใจ ความโปร่งใสและสร้างบรรทัดฐานให้กับผู้อื่นต่อไป โดยเรื่องดังกล่าวต้องถูกประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่เอามาเป็นข้ออ้างในการรัฐประการ แต่การทุจริตกลับเพิ่มขึ้น

2.ทุกคนต้องถูกตรวจสอบหมด การปราบคอรัปชั่นต้องจริงจังในทุกภาคส่วน องค์กรตรวจสอบก็ต้องถูกตรวจสอบด้วยโดยไม่มีข้อยกเว้น เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แล้วเปิดเผยต่อสาธารณชนทุกปี รวมไปถึงคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย เพื่อความโปร่งใสและลดโอกาสในการกระทำการทุจริต

3.มีเส้นตายการสืบสวนสอบสวนและการพิจารณาคดี การสืบสวนสอบสวนการทุจริต ต้องมีการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จให้ชัดเจน เมื่อถึงกำหนดเวลาหากการสืบสวนสอบสวนไม่แล้วเสร็จ จะต้องมีการทำรายงานชี้แจงต่อหน่วยงานตรวจสอบถึงเหตุผลของการล่าช้า

4.ลงโทษหนักทั้งผู้ให้ผู้รับ โดยสร้างวัฒนธรรมใหม่ ให้คนไทยโกงไม่มีที่ยืนในสังคม ไม่ใช่เพียงภาครัฐแต่ภาคเอกชนก็ต้องเข้ามาดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง นโยบายของพรรคไทยสร้างไทยจึงมีความพยายามในการดึงภาคเอกชนเข้าสู่ระบบให้มากที่สุด

5.ให้อำนาจประชาชนแจ้งเบาะแสและฟ้องได้โดยตรง การแจ้งเบาะแสเรื่องทุจริต จะต้องสะดวกง่ายดายและเป็นความลับ มีระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส สามารถร้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ซึ่งจะต้องจัดไว้ตามองค์กรภาคธุรกิจ ชุมชนและสถาบันการศึกษา
เมื่อได้รับการร้องเรียน องค์กรที่รับผิดชอบจะต้องมีการตอบสนองต่อการร้องเรียนอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง และต้องแจ้งกลับผู้ร้องเรียนว่าจะดำเนินการอย่างไรภายใน 14 วัน

6.สื่อมวลชนมีเสรีภาพ เสรีภาพของสื่อมวลชนต้องได้รับการรับรองและคุ้มครองอย่างเต็มที่ รวมถึงสิทธิการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เพราะเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล องค์กรอิสระและหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการตรวจสอบการทำงานขององค์กรและหน่วยงานปราบคอรัปชั่น

7. นำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาช่วยเหมือนกับในประเทศเกาหลี เพื่อป้องกันการโกงโดยใช้ AI หรือเทคโนโลยีบล็อกเชน เช่นนโยบายบำนาญประชาชนสามพันบาท จะต้องนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาบริหารจัดการ เพื่อป้องกันการโกง ไม่ใช่ปล่อยให้มีผีมารับเงินบำนาญประชาชน และยังเป็นการลดต้นทุน ลดงบประมาณและป้องกันการทุจริตได้

8.ให้อำนาจประชาชนผ่านสภาชุมชนกำหนดงบประมาณและตรวจสอบการใช้งบประมาณ
เช่นการกำหนดงบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่น ให้ใช้วิธีการ Participatory Budgeting ซึ่งกำหนดให้ท้องถิ่นหรือชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดงบประมาณของโครงการในพื้นที่ตั้งแต่เริ่มวางแผนโครงการเพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตตั้งแต่ต้น และกำหนดให้ท้องถิ่นหรือชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการ การตรวจรับงานและการเบิกจ่ายงบประมาณจนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ โดยผ่านกลไกสภาชุมชนมาร่วมตรวจรับงาน มีสิทธิในการคัดค้าน