ก้าวไกล ร่วมชุมนุม ‘ทวงคืนชายหาด’ หน้าทำเนียบ ยืนยัน ‘กำแพงกันคลื่น’ ต้องทำ EIA

[‘นิติพล’ ร่วมชุมนุม ‘ทวงคืนชายหาด’ หน้าทำเนียบ ยืนยัน ‘กำแพงกันคลื่น’ ต้องทำ EIA]

คืนวานนี้ (7 ธ.ค.65) นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนสิ่งแวดล้อม พรรคก้าวไกล เดินทางไปร่วมให้กำลังใจ พร้อมรับฟังข้อเรียกร้อง #ทวงคืนชายหาด จากกลุ่ม Beach for life เเละเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด ที่เคลื่อนขบวนจากหน้าองค์การสหประชาชาติเพื่อมาปักหลักชุมนุมบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ

นิติพล กล่าวว่า เรื่องชายหาดที่หายไปเพราะโครงการสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่แค่เรื่องของพี่น้องประชาชนในบางพื้นที่เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของพวกเราทุกคนที่กำลังสูญเสียทรัพยากรอันมีค่า เพราะชายหาดเป็นทั้งระบบนิเวศของธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คน ตนจึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกคนรวมถึงชาวกรุงเทพ มาร่วมกันเรียกร้องหลักการที่ถูกต้องในการดูแลชายหาดไม่ให้ถูกทำลายไปเพียงเพราะความต้องการใช้งบประมาณมากๆจากโครงการใหญ่ๆ โดยไม่สนใจผลกระทบที่ตามมา ซึ่งโครงการเหล่านี้มักอ้างถึงความจำเป็น ยกเฉพาะข้อมูลวิชาการฝั่งตัวเองทั้งที่ยังมีข้อโต้แย้งในหมู่นักวิชาการ และที่สำคัญคือการไม่ยอมทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA (Environmental Impact Assessment ) ด้วยการอ้างถึงความเร่งด่วน

“กำแพงกันคลื่นเป็นเหมือนโรคระบาดของชายหาดไทย หลังจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ้างถึงความจำเป็นเร่งด่วนของท้องถิ่นและหน่วยงานต่างๆที่ต้องแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง จึงยกเว้นให้การสร้างกำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA ในปี 2556 เป็นต้นมา แต่ในทางปฏิบัติดูเหมือนว่า เห็นหาดตรงไหนว่าง หาดตรงไหนยาวก็ทำ โดยไม่สนว่าพื้นที่นั้นมีปัญหาหรือไม่ เพราะเป็นช่องให้ใช้เงินได้ง่ายๆเหมือนเป็นขนมหวานของกรมโยธาฯ เป็นตัวอย่างของเอาปัญหาของพื้นที่เร่งด่วนมาใช้เป็นข้ออ้างแบบหว่านแหในการใช้งบประมาณโดยไม่ดูตามบริบทจริง ซึ่งจะอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็นรอยโหว่นี้ไม่ได้ เพราะในสภาผู้แทนราษฎรเคยมีการอภิปรายเพื่อชี้ให้เห็นปัญหานี้หลายครั้ง พวกท่านที่อยู่ในรัฐบาลจึงรับรู้และรับทราบรูโหว่ที่เกิดขึ้นนี้เป็นอย่างดี”

นิติพล กล่าวต่อไปว่า ข้อเรียกร้องของพี่น้องประชาชนในครั้งนี้ คือขอให้มีมติคณะรัฐมนตรีใน 3 เรื่องได้แก่ 1.ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมือง รับผิดชอบโครงการกำแพงกันคลื่น 2.กำแพงกันคลื่นกลับมาทำ EIA และ 3.ฟื้นฟูชายหาดที่เสียหายจากกำแพงกันคลื่น ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยและต้องมีการพิจารณาอย่างเร่งด่วน

“เดิมทีการยกเว้นการทำ EIA เพื่อเปิดทางให้ท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ไขปัญหาทะเลกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างรวดเร็วเป็นหลักการที่พอรับฟังได้ แต่ไม่ใช่จะยกเว้นกันตลอดกาลโดยเฉพาะเมื่อเห็นความไม่ปกติเกิดขึ้น เพราะ EIA คือหลักประกันต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ว่าจะไม่มีผลกระทบเกิดขึ้นจากโครงการที่ใส่เข้าไปในพื้นที่ หรือหากมีก็จะต้องได้รับการป้องกันเเก้ไข พูดง่ายๆก็คือต้องมีผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้ กระบวนการ EIA ยังเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เกิดกลไกรับฟังความเห็นและข้อกังวลต่าง ๆ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การตัดออกไปจึงเท่ากับการยัดเยียดโครงการที่พื้นที่อาจไม่ต้องการก็ได้โดยปล่อยผลกระทบไว้กับคนที่อยู่ตรงนั้นรับกรรมและประเทศก็สูญเสียงบประมาณมหาศาลไปกับโครงการไร้ประโยชน์”

นิติพล ยังได้ชี้ให้เห็นว่า ภายหลังการยกเว้นการทำ EIA โรคระบาดกำแพงกันคลื่นก็ติดเชื้อไปทั่วและรุนแรงมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา โดย กรมโยธาฯ อยู่ภายใต้การดูแลของ หนึ่งใน 3 ป.ที่เงียบที่สุด แต่ดูเหมือนจะอิ่มที่สุดจากโครงการต่างๆของกระทรวง นั่นคือ พล.อ.อุนพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

“เราต้องตั้งคำถามให้ชัดว่า เรื่องนี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือตำน้ำพริกละลายทะเลไม่ เพราะการทำโครงการกำแพงกันคลื่นใช้งบประมาณที่สูงขึ้นอย่างมากจาก 10 ล้านบาท/กิโลเมตร ในปี 2534 เพิ่มเป็น 117 ล้านบาท/กิโลเมตร ในปี 2561 ซึ่งเราพบว่าตั้งแต่หลังปี 2561 เป็นต้นมา การสร้างกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในแบบอัตราเร่ง ดังนั้น เรื่องนี้มองจากนอกโลกก็เห็นชัดว่า การยกเว้นการทำ EIA เป็นการเปิดช่องให้ใช้งบประมาณอย่างไม่ปกติ คำถามนี้จึงต้องย้อนกลับไปยัง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยว่า ท่านไม่สงสัยเลยหรือว่าโครงการเหล่านี้กำลังแลกมาด้วยความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และท่านมีหน้าที่จะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อหยุดมัน หรือพอเห็นว่าเป็นหน่วยงานในการดูแลของ 3 ป. ก็ไม่แตะต้อง เกรงใจสุดๆ ไม่มีท่าทีคึกคักกล้าหาญเหมือนตอนเอากฎหมายไปไล่ประชาชนออกจากป่าทั้งที่การพิสูจน์สิทธิต่างๆยังไม่ชัดเจน แต่พอกับผู้มีอำนาจ ความกล้าหาญในการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมหายไปไหน หรือชายหาดไม่ใช่สิ่งแวดล้อมในนิยามของท่าน

“อย่างน้อยที่สุดในฐานะรัฐมนตรี ท่านวราวุธ ควรตัดสินใจนำเรื่องนี้กลับเข้าสู่หลักการปกติ กำแพงกันคลื่นทุกโครงการจะต้องทำ EIA ทั้งหมด เพราะหากนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ถึงตอนนี้เกือบ 10 ปี พื้นที่เร่งด่วนที่อ้างเพื่อสร้างกำแพงกันคลื่นก็ควรจัดการเสร็จสิ้นไปหมดแล้ว ซึ่งทั้งหมดนั้นก็ต้องนำกลับมาประเมินใหม่ด้วยว่า โครงการที่ทำไปแล้วได้ผลหรือไม่ พังไปกี่แห่ง จะทำต่อเพราะแก้ประโยชน์ได้จริง หรือทำจะทำต่อเพราะแค่ของบใหม่มาซ่อมสร้างได้เรื่อยๆ มันง่ายดี”

นิติพล กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากเห็น ท่านวราวุธ ในฐานะรัฐมนตรีที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มาก เพราะจะเป็นการกำหนดทิศทางในอนาคตของชายหาดทั้งประเทศ แต่สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกในตอนนี้ คือต้องกล้าออกมาพบประชาชนที่มาสะท้อนปัญหาให้ฟังถึงหน้ากระทรวง ตอนนี้ประชาชนกำลังสงสัยอย่างมาก เนื่องจากไม่เชื่อว่านักการเมืองผู้มีภาพต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างรัฐมนตรีวราวุธ จะไม่เข้าใจผลกระทบของกำแพงกันคลื่นและความสำคัญของการทำ EIA ขณะที่กลไกตรวจสอบ อื่นๆที่อ้างว่าจะทำเป็นเพียงแค่การซื้อเวลากับประชาชนเท่านั้น

“ท่านอย่าแกล้งไม่เข้าใจปัญหา แต่ควรไปลงนามร่วมกับประชาชนเพื่อยืนยันว่า ท่านจะปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามบทบาทหน้าที่ และจะไปออกหน้าในเรื่องนี้แทนประชาชนต่อ ครม. เพื่อให้มีมติ 3 ข้อ ตามที่ประชาชนเรียกร้อง การปฏิเสธแนวทาง EIA อย่างขันแข็งจากหน่วยงานในกำกับของท่านเป็นเรื่องที่ชวนงงมาก เพราะหากการดูแลรักษาปกป้องชายหาดไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องทำอย่างแข็งขันด้วยกลไกที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนแล้ว ท่านจะมาเป็นรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมเพื่ออะไร”