ส่องสถานการณ์ยูเครน การเจรจาของรัสเซีย-สหรัฐฯ จะเกิดขึ้นได้จริงไหม?

สถานการณ์ยูเครนดูมีความหวังขึ้นมาเปราะหนึ่ง หลังมีเค้าลางเล็กๆว่า ทั้งฝั่งรัสเซียและมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะพูดคุยเจรจากันบ้าง โดยสัญญาณนี้ถูกส่งมาจากฝั่งสหรัฐฯ ก่อน

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน อ้าแขนรับการเจรจาในความเป็นไปได้ของการยุติความขัดแย้งในยูเครน และเชื่อในการหาทางออกด้วยการทูต จากการเปิดเผยของวังเครมลินเมื่อวันศุกร์ (2 ธ.ค.) หลังจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ บ่งชี้ว่าเขาพร้อมเจรจากับผู้นำรัสเซีย

ไบเดน กล่าวเคียงข้างประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งสหรัฐฯ ว่า ทางเดียวที่จะยุติสงครามในยูเครน คือ ปูตินต้องถอนทหารออกมา และเมื่อนั้นหาก ปูติน มองหาหนทางจบความขัดแย้ง ทาง ไบเดน ก็พร้อมพูดคุยเจรจากับเขา

(Photo by Sergei SAVOSTYANOV / POOL / AFP)

เปิดกว้างแต่ยังไม่ถอนทหาร

ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกวังเครมลิน ใช้สุ้มเสียงประนีประนอม เมื่อถูกถามเกี่ยวกับคำพูดของไบเดน โดยเน้นย้ำว่า ปูติน ยังคงเปิดกว้างต่อการเจรจา แต่ยืนกรานว่ารัสเซียจะไม่ถอนทหารออกจากยูเครน “ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียเปิดกว้างมาตลอดและยังคงเปิดกว้างต่อการเจรจา เพื่อรับประกันผลประโยชน์ของเรา” เปสคอฟบอกกับพวกผู้สื่อข่าว

ปูติน เคยบอกว่าเขาไม่รู้สึกเสียใจต่อการเปิดฉากในสิ่งเขาเรียกว่า “ปฏิบัติการพิเศษด้านการทหาร” กับยูเครน โดยระบุว่า มันเป็นช่วงเวลาแห่งจุดเปลี่ยน ที่ท้ายที่สุดแล้วรัสเซียก็ลุกขึ้นต่อต้านความโอหังในความเป็นเจ้าโลกของตะวันตก หลังจากถูกลบหลู่มานานหลายทศวรรษ นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991

ยูเครนและตะวันตกตอบโต้ว่า ไม่มีคำกล่าวอ้างใดที่ปูติน สามารถนำมาใช้อ้างความชอบธรรมแก่สงครามแห่งการรุกรานในรูปแบบจักรวรรดินิยมของเขา และเคียฟประกาศกร้าวว่าพวกเขาจะสู้รบจนกว่าจะขับไล่ทหารรัสเซียคนสุดท้ายออกจากดินแดน

ระหว่างกล่าวที่ทำเนียบขาว ไบเดนเผยว่าเขาและมาครง เห็นพ้องจะทำงานร่วมกันในการหาทางเอาผิดกับ ปูติน สำหรับสิ่งที่เขาให้คำจำกัดความว่า “สงครามป่าเถื่อน” และบอกว่าความคิดของปูตินที่จะเอาชนะยูเครน เป็นเรื่องยากเกินกว่าจะเข้าใจ พร้อมชี้ว่าผู้นำรัสเซียคำนวณผิดพลาดทุกอย่างในสิ่งที่คำนวณไว้ในทีแรก

รัสเซียลั่นไม่ยอมถอนทหาร

ไบเดน ซึ่งเคยกล่าวเมื่อเดือนมีนาคม ว่า ปูติน ไม่ควรอยู่ในอำนาจต่อไป บอกว่าผู้นำรัสเซียคำนวณพลาดด้วยการรุกรานยูเครน แต่หาก ปูติน จริงจังกับการถอนกำลังออกจากยูเครน เมื่อนั้นเขาก็จะนั่งบนโต๊ะเจรจากับประธานาธิบดีรัสเซีย หลังปรึกษาหารือกับพันธมิตรนาโต้แล้ว

รัสเซียกล่าวอ้างผนวกดินแดนราว 1 ใน 5 ของยูเครน การผนวกที่ทางตะวันตกและยูเครน ประกาศกร้าวว่าไม่มีวันยอมรับ

เปสคอฟ ระบุว่า การที่สหรัฐฯ ไม่รับรองดินแดนใหม่ของรัสเซีย อาจเป็นตัวถ่วงของความพยายามค้นหาหนทางแห่งการประนีประนอมใดๆ

เมื่อถูกถามมุมมองของรัสเซีย ต่อกรอบแนวทางที่ไบเดน วางไว้สำหรับการติดต่อสื่อสาร เปิดทางสำหรับความเป็นไปได้ของการเจรจาใดๆ เปสคอฟกล่าวว่า “ใจความสำคัญในสิ่งที่ไบเดนพูดก็คือ เขาบอกว่าการเจรจาจะมีความเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อหลังจาก ปูติน ถอนกำลังออกจากยูเครน”

เปสคอฟ กล่าวว่าเครมลินจะไม่ยอมรับในเงื่อนไขนั้น และปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนจะเดินหน้าต่อไป “แต่ในขณะเดียวกัน มันสำคัญมากที่ประธานาธิบดีปูติน เปิดรับและยังคงเปิดรับสำหรับการติดต่อสื่อสารใดๆ เพื่อการเจรจา แน่นอนว่า ในหนทางที่เอื้อที่สุดต่อการบรรลุเป้าหมายแห่งผลประโยชน์ของเรา ผ่านหนทางแห่งสันติวิธีทางการทูต”

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน เข่นฆ่าชีวิตทหารของทั้งสองฝ่ายไปแล้วหลายหมื่นราย และก่อวิกฤตการเผชิญหน้าครั้งร้ายแรงที่สุดระหว่างมอสโกกับตะวันตก นับตั้งแต่วิกฤตขีปนาวุธคิวบาปี 1962

(Photo by Kirill KUDRYAVTSEV / AFP)

มะกัน ชี้ ปูตินไม่จริงใจคุยยุติสงคราม 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นางวิคตอเรีย นูแลนด์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมว่า นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ไม่มีความจริงใจในการพูดคุยเพื่อยุติสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และขณะเดียวกันปูตินกำลังยกระดับ “ความป่าเถื่อน” ในสงครามขึ้นไปอีกระดับโดยการที่โจมตีแหล่งพลังงานของยูเครน ทำให้พลเรือนยูเครนไม่มีไฟฟ้าใช้

นางนูแลนด์เข้าพบกับนายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ในกรุงเคียฟเพื่อแสดงการสนับสนุนยูเครน ในขณะที่รัสเซียกำลังโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศยูเครน นูแลนด์กล่าวว่า “เป็นที่ประจักษ์ว่าการทูตคือเป้าหมายของทุกคน แต่คุณก็ต้องมีคู่ต่อรองที่ยินยอมที่จะพูดคุย และเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจากการโจมตีด้านพลังงาน คำพูด หรือท่าทีของรัสเซีย ว่าปูตินไม่จริงใจหรือพร้อมสำหรับการพูดคุย”

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐแสดงเจตจำนงว่าพร้อมที่จะพูดคุยกับนายปูตินหากปูตินสนใจที่จะยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่ความคิดดังกล่าวถูกล้มเลิกไปอย่างรวดเร็วหลังจากรัฐบาลรัสเซียเผยว่า ชาติตะวันตกจะต้องยอมรับผลจากการทำประชามติผนวก 4 แคว้นของยูเครนเข้ากับรัสเซียเสียก่อน

โจมตีแหล่งพลังงาน คือ
ยกระดับความป่าเถื่อน

นางนูแลนด์เผยว่า ท่าทีดังกล่าวของรัสเซียแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงจังในการพูดคุย อีกทั้งยังกล่าวถึงการที่รัสเซียโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครนว่า “ปูตินได้นำสงครามนี้ไปสู่อีกระดับของความป่าเถื่อนไปสู่ชาวยูเครนทุกหลังคาเรือน ในขณะที่เขาพยายามที่จะปิดไฟ ปิดน้ำ และบรรลุในสิ่งที่เขาทำไม่ได้ในสนามรบ”

ด้านนางมาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ก็ได้ออกมาตอบโต้คำพูดของนางนูแลนด์ว่า “ไม่ใช่เรื่องของนูแลนด์ที่จะมาสอนนานาชาติ และว่าสหรัฐกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต) รวมกันทำลายเครือข่ายพลังงานมากกว่าที่สหรัฐจะลงมือทำเองคนเดียว” โดยยกตัวอย่างของการที่นาโตนำเครื่องบินรบทิ้งระเบิดใส่ประเทศเซอร์เบีย ในปี 1999 โดยส่งผลให้พื้นที่ 70% ของประเทศเซอร์เบียไม่มีไฟฟ้าใช้