ไอติม ตอบกลับทุกข้อกังวล กลางสภา ย้ำกระจายอำนาจไม่เท่ากับแบ่งแยกดินแดน ย้ำทุกวันนี้ต่างหากที่รวมศูนย์สุดโต่ง

“พริษฐ์” ตอบกลับทุกข้อกังวล แจงปลดล็อกท้องถิ่นควบคู่เพิ่มอำนาจประชาชน ช่วยลดทุจริต ย้ำกระจายอำนาจไม่เท่ากับแบ่งแยกดินแดน สวนกลับ ไม่ได้เสนอกระจายอำนาจสุดโต่ง ทุกวันนี้ต่างหากที่รวมศูนย์สุดโต่ง

วันที่ 30 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์และสื่อสารนโยบาย พรรคก้าวไกล อภิปรายชี้แจงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 การปกครองท้องถิ่น หรือร่างปลดล็อกท้องถิ่นว่า แม้การกระจายอำนาจไม่ใช่ยาวิเศษที่จะทำให้ทุกปัญหาในประเทศหายไปทันที แต่การเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อให้ทุกคนในทุกพื้นที่มีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอในการกำหนดอนาคตของตนเอง เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้หลายปัญหาที่สะสมมายาวนานถูกแก้ไขได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ในทุกการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องปกติที่จะมีทั้งคนเห็นด้วยและคนที่ยังลังเล ตนจึงขอชี้แจงให้คลายข้อกังวลใน 3 ประเด็นหลัก

พริษฐ์กล่าวว่า ข้อกังวลแรก ที่บางฝ่ายแสดงความเห็นว่าหากกระจายอำนาจและงบประมาณให้ท้องถิ่นมากขึ้น ท้องถิ่นบางแห่งอาจยัง “ไม่พร้อม” ที่จะรับผิดชอบการจัดทำบริการสาธารณะทั้งหมดแทนที่ส่วนกลาง ตนอยากชวนให้มองว่า “ความพร้อม” ในการจัดทำบริการสาธารณะ มีอย่างน้อย 3 คุณสมบัติที่สำคัญ (1) มีความเข้าใจพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน (2) มีวาระที่ชัดเจนและระยะเวลาเพียงพอในการทำงาน (3) ต้องผ่านสนามแข่งขันที่ทำให้ประชาชนมั่นใจและยอมรับว่าคุณเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าคนอื่นๆ เมื่อพิจารณาจาก 3 เกณฑ์นี้ ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในพื้นที่ กลับน่าจะยิ่งมีความพร้อมมากกว่าผู้ว่าฯที่มาจากการแต่งตั้งของส่วนกลาง เมื่อกระจายอำนาจและงบประมาณให้ท้องถิ่น ถนนหน้าบ้านใครพัง โรงพยาบาลไหนขาดงบ ท้องถิ่นก็แก้ได้หมด ไม่ต้องมานั่งลุ้นว่าถนนเป็นของหน่วยงานอะไรหรือลุ้นว่า ส.ส. บ้านเราอยู่ฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล นอกจากนั้น ข้อเสนอปลดล็อกท้องถิ่น ยังช่วยให้รัฐส่วนกลางให้มีความพร้อม มีเวลา และมีสมาธิมากขึ้น กับบทบาทสำคัญที่ส่วนกลางควรทำ เช่น การกำหนดมาตรฐานบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน หรือการทำภารกิจที่เกินเลยขอบเขตท้องถิ่น อาทิ การต่างประเทศ การคลัง

พริษฐ์กล่าวต่อว่า ข้อกังวลที่สอง หากกระจายอำนาจ จะเพิ่มการทุจริตคอร์รัปชัน แม้ตนไม่ปฏิเสธว่าปัญหาการทุจริตในระดับท้องถิ่น มีอยู่จริง แต่ก็ไม่เชื่อเช่นกันว่าการแก้ไขปัญหาคือการรวมศูนย์อำนาจมาที่ส่วนกลาง แต่เชื่อว่าการกระจายอำนาจจะทำให้เราแก้ไขปัญหาการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตนขอยกการวิเคราะห์ของ Robert Klitgaard นักวิชาการจากสหรัฐอเมริกา ที่สถาบันวิจัย TDRI เคยนำมาต่อยอด ซึ่งบอกว่าปัจจัยที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการทุจริตมี 3 ส่วนสำคัญคือ ดุลพินิจ การผูกขาด ความไม่โปร่งใส ซึ่งเราจะเห็นชัดว่าการรวมศูนย์อำนาจ มีความเสี่ยงต่อการทุจริตมากกว่าการกระจายอำนาจ เนื่องจาก (1) ระบบรวมศูนย์ ทำให้ส่วนกลางมีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการจำนวนมหาศาลทั้งหมด แต่หากกระจายอำนาจ การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นวิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดในการถามประชาชน ว่าต้องการเห็นนโยบายหรือโครงการไหน (2) ระบบรวมศูนย์ ทำให้หน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการต่างๆ จะมีความผูกขาดโดยปริยาย แต่หากกระจายอำนาจ งบทั้งหมดจะถูกกระจายไปตาม อปท. หลายพันแห่ง แต่ละแห่งจะพิจารณาโครงการต่างๆในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ และ (3) ระบบรวมศูนย์ งบประมาณจะอยู่ห่างไกลจากประชาชน และภาษีจากทุกพื้นที่จะถูกยำรวมกัน ประชาชนจะรู้ตัวยากขึ้นว่าตนเองกำลังโดนโกงหรือไม่ แต่หากเรากระจายอำนาจ งบประมาณจะอยู่ในหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชน ประชาชนจะยิ่งตรวจสอบการใช้งบประมาณได้ง่ายขึ้น รู้ตัวได้เร็วขึ้นและอาจรู้สึกหวงแหนงบประมาณมากขึ้นหากโดนโกง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการทุจริต จึงควรเป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการกระจายอำนาจให้ประชาชนในการตรวจสอบท้องถิ่นอีกทีหนึ่ง เช่น การเปิดเผยข้อมูล การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติ การเข้าชื่อถอดถอนท้องถิ่น หรือ การคุ้มครองความปลอดภัยของคนที่เปิดโปงการทุจริต

พริษฐ์กล่าวว่า ข้อกังวลที่สาม การกระจายอำนาจจะนำไปสู่สหพันธรัฐ หรือ การแบ่งแยกดินแดน ซึ่งตนขอย้ำใน 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรก การกระจายอำนาจ การเป็นสหพันธรัฐ และ การแบ่งแยกดินแดน ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะการแบ่งแยกดินแดนหมายถึงการสร้างรัฐใหม่ ที่แยกตัวออกมาจากรัฐเก่า และมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเอง โดยที่รัฐเก่าไม่มีอำนาจอะไรเกี่ยวข้องกับรัฐใหม่อีกต่อไป เช่น ประเทศติมอร์-เลสเต ที่แยกตัวมาจากประเทศอินโดนีเซีย ส่วนการเป็นสหพันธรัฐ คือการที่อำนาจอธิปไตยถูกแบ่งระหว่างส่วนกลางและส่วนมลรัฐ จนทำให้อำนาจเกี่ยวกับภารกิจบางส่วน ถูกแบ่งมาอยู่กับมลรัฐอย่างถาวร โดยที่ส่วนกลางไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้อีกต่อไป เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่สำหรับการกระจายอำนาจ เรากำลังพูดถึงแค่การกระจายอำนาจการบริหารไปสู่ท้องถิ่น โดยที่อำนาจอธิปไตยยังอยู่กับส่วนกลาง นั่นหมายถึงว่า ในเชิงกฎหมาย ส่วนกลางก็ยังคงมีอำนาจ ในการปรับระดับการกระจายอำนาจ ให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้อยู่เสมอ การเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกระจายอำนาจ จึงไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนรูปแบบรัฐ และหากทำสำเร็จ ประเทศไทยก็จะยังคงเป็นรัฐเดี่ยวเหมือนเดิม ส่วนประเด็นที่สองคือ การกระจายอำนาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการแบ่งแยกดินแดน เช่น ประเทศสกอตแลนด์ เป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ แตกต่างจากส่วนอื่นของสหราชอาณาจักร จึงมีความต้องการในการกำหนดอนาคตของพื้นที่ตนเอง รัฐบาลสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของโทนี่ แบลร์ (Tony Blair) จึงตัดสินใจจัดประชามติในปี 1997 เพื่อถามคนสกอตแลนด์ว่าต้องการให้มีการกระจายอำนาจและจัดตั้งสภาสกอตแลนด์หรือไม่ ผลปรากฏว่า ประชาชน 74% เห็นด้วย 26% ไม่เห็นด้วย ถัดมาเกือบ 20 ปี ในปี 2014 สหราชอาณาจักร ก็มีการจัดประชามติอีกครั้งหนึ่ง ถามชาวสกอตแลนด์ว่าต้องการให้สกอตแลนด์แยกออกมาเป็นเอกราชหรือไม่ ผลปรากฎในรอบนี้ มีเพียง 45% เท่านั้นที่เห็นด้วย โดย 55% ไม่เห็นด้วย จึงทำให้สหราชอาณาจักรยังคงรักษาการเป็นรัฐเดี่ยวไว้ได้ อย่างหวุดหวิด ในกรณีของสหราชอาณาจักร หลายคนจึงยอมรับว่าการกระจายอำนาจในวันนั้น มีส่วนสำคัญในการช่วยรักษาให้ประเทศเขายังคงเป็นรัฐเดี่ยวจนถึงทุกวันนี้

“ผมได้เพียงแต่หวังว่า ตัวอย่างของอังกฤษและสกอตแลนด์จะช่วยตอกย้ำ ให้สมาชิกรัฐสภาทุกท่านเห็นว่าการกระจายอำนาจที่เรากำลังพิจารณากันในวันนี้ ไม่เพียงแต่เป็นคนละเรื่อง กับการเปลี่ยนเป็นสหพันธรัฐ หรือ การแบ่งแยกดินแดน อย่างที่หลายคนกังวล แต่การกระจายอำนาจนี่แหละ กลับจะเป็นหนทางที่ดี่สุด ในการรักษาไว้ซึ่งรัฐเดี่ยวที่ท่านหวงแหน ภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ที่คงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้” พริษฐ์กล่าว

พริษฐ์กล่าวด้วยว่า เมื่อวิเคราะห์จากปัญหาของประเทศไทยที่ผ่านมา จากบทเรียนและหลักฐานที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น และจากทิศทางของโลกในอนาคต เชื่อว่าเราคงเห็นตรงกันว่าประเทศเราต้องมีการกระจายอำนาจมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แม้อาจเห็นต่างกันในรายละเอียด ว่าควรกระจายไปถึงขั้นไหน

“สมาชิกรัฐสภาหลายท่าน อาจจะพยายามบอกว่าร่างของเราเป็นร่างที่กระจายอำนาจแบบสุดโต่ง แต่ผมมองต่าง การปฏิเสธการกระจายอำนาจ และคงไว้ถึงการบริหารรัฐรูปแบบเดิมต่างหาก คือการรวมศูนย์อำนาจแบบสุดโต่ง จึงอยากเชิญชวนให้สมาชิกรัฐสภาทุกท่าน มาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ของการเมืองไทย ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องการกระจายอำนาจฉบับนี้ เพื่อเดินหน้าเปิดบทสนทนาให้ทุกฝ่ายมาพูดคุยกันเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการ เพราะโจทย์สำคัญที่เราต้องขบคิดในวันนี้ คงไม่ใช่คำถามว่า การกระจายอำนาจนั้นดีหรือไม่ดีสำหรับประเทศ แต่คือเราจะออกแบบการกระจายอำนาจกันอย่างไรเพื่อปลดล็อกให้เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทย ก้าวหน้าได้อย่างเต็มศักยภาพ” พริษฐ์กล่าว