เจ้านครอินทร์ กับ ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ด้อยด่าเมืองสุพรรณ : สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ ลั่น ‘เจ้านครอินทร์’ ไม่ใช่กษัตริย์ที่ควรลืม โวย ปวศ.ชาติไทยด้อยด่าเมืองสุพรรณ
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่มติชนอคาเดมี ถนนเทศบาลนิมิตใต้ ซอย 12 ประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร สำนักพิมพ์มติชน จัดงาน “สมานมิตรฯ Return เปิดโกดังหนังสือดี” วันนี้เป็นวันแรกไปจนถึง 4 ธันวาคม ตั้งแต่ เวลา 10.00 – 19.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้เดินทางเข้าเลือกซื้อหนังสือเป็นจำนวนมากจนแน่นโถงชั้น 1 ตั้งแต่ช่วงเข้าโดยให้ความสนใจกับหนังสือหลากหลายประเภท ซึ่งมีราคาลดสูงสุด 90% เริ่มต้น 10 บาท นอกจากนี้ ยังร่วมกับพันธมิตรสำนักพิมพ์อีก 10 แห่งเข้าร่วม

ต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. มีการบรรยาย ในหัวข้อ “เจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ จีนหนุนยึดอำนาจอยุธยา สร้างสรรค์การค้าสู่สากล” โดย นายสุจิตต์ วงษ์เทศ

นายสุจิตต์กล่าวว่า เรื่องราวของเจ้านครอินทร์ คนทั่วไปไม่รู้จัก เพราะประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยด้อยค่าพระองค์ ทั้งที่ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีความสำคัญอย่างมาก กล่าวคือ เป็นกษัตริย์ถึง 3 รัฐ ได้แก่ 1. รัฐสุพรรณภูมิ ซึ่งสืบต่อมาเป็นเมืองสุพรรณบุรี 2.รัฐสุโขทัย เนื่องจากเจ้านครอินทร์เป็นโอรสขุนหลวงพะงั่ว (ไม่ใช่หลาน) 3. รัฐอยุธยา ในนาม พระนครินทราธิราช ดังนั้น เจ้านครอินทร์จึงไม่ใช่กษัตริย์ที่ควรลืม

นายสุจิตต์กล่าวว่า เจ้านครอินทร์ ทรงมีหลายพระนาม แต่นาม ‘เจ้านครอินทร์’ กะทัดรัดที่สุด ส่วนพระนามตามพระราชพงศาวดารคือ สมเด็จพระนครินทราธิราช โดยพระนามดั้งเดิมคือ ‘พระอินทราชา’

“ในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย เจ้านครอินทร์ไม่มีคนรู้จัก เรื่องนี้ผมมีปัญหากับกรมศิลปากรตั้งแต่มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี ซึ่งเปิดเมื่อ พ.ศ.2546 ผมไปดู บอก ทำไมไม่มีเรื่องเจ้านครอินทร์ หากไม่มีเจ้านครอินทร์แล้วจะเรียกพิพิธภัณฑ์เมืองสุพรรณได้อย่างไร เพราะนอกจากเป็นเจ้าครองสุพรรณแล้ว ยังครองอยุธยาด้วย โดยสรุปคือ เจ้านครอินทร์เป็นกษัตริย์สุพรรณภูมิราว 15-17 ปี ราว พ.ศ.1900 ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสุพรรณซึ่งใหญ่ทัดเทียมละโว้-อโยธยา แต่ประวัติศาสตร์ไทยด้อยค่าว่าสุพรรณฯ กระจอก ซึ่งไม่จริง ทั้งยังมีเครือข่ายคือ ชัยนาท อู่ทอง และอื่นๆ แต่ละเมืองใหญ่โตมโหฬาร” นายสุจิตต์กล่าว

ต่อมา นายสุจิตต์กล่าวถึงประเด็นที่จีนหนุนเจ้านครอินทร์ กษัตริย์สุพรรณฯ ยึดอยุธยาว่า ขุนหลวงพะงั่ว บิดาเจ้านครอินทร์ ส่งเจ้านครอินทร์ไปเมืองจีน 2 ครั้ง แต่ละครั้งใข้เวลาเป็นปี เพราะยุคนั้นลงเรือ ต้องรอมรสุม แต่ที่ผ่านมา มักเข้าใจผิดกันว่าพระร่วงที่ไปเมืองจีน คือ พ่อขุนรามคำแหง ซึ่งไม่ใช่

“พระร่วงที่ไปเมืองคือ เจ้านครอินทร์ แต่ประวัติศาสตร์ชาติไทยเอาพระร่วงไปให้เป็นพ่อขุนรามฯ ว่าไปเมืองจีน จีนหนุนสุพรรณฯ เพราะใช้ภาษาตระกูลไต-ไทเป็นหลักซึ่งสื่อสารง่าย ในขณะที่อยุธยายังใช้ถาษาเขมร อีกทั้งเป็นแผ่นดินที่ยื่นไปในแหลมมลายู จีนต้องการคุมเส้นทางข้ามคาบสมุทร เพราะสามารถเดินทางต่อไปยังอินเดียและตะวันออกกลางได้ เจ้านครอินทร์ทรงมีความชำนาญการค้าทางทะเล มีเครือข่ายมากมาย ทั้งมลายู จาม แต่สิ่งเหล่านี้ประวัติศาสตร์แห่งชาติไม่พูดถึง” นายสุจิตต์กล่าว

จากนั้น นายสุจิตต์กล่าวถึงหนังสือ ‘เจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ สร้างสรรค์อยุธยา ราชอาณาจักรสยาม’ ซึ่งเป็นหนังสือใหม่ของสำนักพิมพ์มติชน โดยรวบรวมบทความทางวิชาการของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สืบแสง พรหมบุญ, ศรีศักร วัลลิโภดม และรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

นายสุจิตต์กล่าวถึง รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ซึ่งได้สอบทานข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะจากเอกสารจีน ทำให้ทราบศักราชที่แน่ชัด รวมถึงแก้ไขความเข้าใจของตนและอีกหลายคนที่ว่า เจ้านครอินทร์คือหลานขุนหลวงพะงั่ว แต่แท้จริงแล้วคือ ลูก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการบรรยายดังกล่าว มีบุคคลในแวดวงวิชาการ รวมถึงวงการนักเขียนร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก อาทิ ดร.สุเนตร ชุติทรานนท์ นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง, นายอรุณ วัชระสวัสดิ์ นักเขียนการ์ตูนการเมืองชื่อดัง, น.ส.วิราวรรณ นฤปีติ เจ้าของผลงานหนังสือ ‘การเมืองเรื่องพระพุทธรูป’, นายธนโชติ เกียรติณภัทร อาจารย์สาขาภาษาไทย และภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง, รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง เป็นต้น

สำหรับหนังสือ ‘เจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ สร้างสรรค์อยุธยา ราชอาณาจักรสยาม’ ราคาปก 300 บาท ซื้อในงานเปิดโกดังมติชน เหลือเพียง 255 บาท

รับชมการบรรยายย้อนหลังได้ที่ : Live : เจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ จีนหนุน “ยึดอำนาจ” อยุธยา สร้างสรรค์การค้าสู่สากล
https://www.facebook.com/MatichonOnline/videos/695577561910680