เพื่อไทย เปิดเกม เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ เท่านั้น ประเทศถึงจะหลุดกับดักคณะรัฐประหาร

คนไทยคุ้นเคยกับคำว่า การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนน่าจะช่วงการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 ที่ผ่านมา

ในทางทฤษฎี อธิบายง่ายๆว่า การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์หรือ การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ คือการที่ผู้ลงคะแนนไม่เลือกพรรคที่ตนเองสนับสนุนมากที่สุด แต่หันไปลงคะแนนให้กับพรรคที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง เพราะไม่ต้องการให้เสียง ต้องเสียไปโดยเปล่าประโยชน์

การตัดสินใจดังกล่าวตั้งอยู่บนแนวคิดการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผลที่สุด คุ้มค่ามีประโยชน์ที่สุด ยอมเลือกพรรคที่ตัวเองไม่ได้ชอบมากที่สุด แต่จำเป็นต้องเลือกเพื่อให้มีโอกาสชนะในศึกการเลือกตั้งภาพรวม

แต่ก็มีความเห็นอีกสายหนึ่งคัดค้าน มองว่า ไม่จำเป็นต้องยึดถือเรื่องการเลือกตั้ง การลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์อะไร เพราะเสียงๆหนึ่ง ไม่ได้กระทบต่อภาพรวมใหญ่ของการแข่งขันขนาดนั้น

หากจะพูดให้เห็นภาพว่าวาทกรรมไหน ที่อธิบายทฤษฎีการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ได้ดี ก็คงต้องยกเรื่อง “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯเมื่อ 10ปีก่อน วลี “ไม่เลือกเรา เขามาแน่”แพร่หลายไปทั่ว และส่งผลให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งจาก ‘ฝั่งหนึ่ง’ ได้รับชัยชนะเหนือ ‘อีกฝั่งหนึ่ง’ ไป

ล่าสุดก็คือการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในปีนี้ ผู้สมัครบางคนก็ทิ้งบอมบ์ ใช้ยุทธศาสตร์ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” เหมือนในอดีต แต่ผลสุดท้ายก็ปรากฎว่าไม่ประสบความสำเร็จ

สำหรับประเด็นการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์กลายมาเป็นประเด็นสำคัญทางวิชาการและในหน้าข่าว ถูกหยิบยกมาถกเถียง ในฐานะเครื่องมือหรือยุทธศาสตร์ทางการเมือง ที่ใช้ต่อรอง เล่นอยู่ในเกม กติกา รัฐธรรมนูญและระบบเลือกตั้งปี 2560

โดยเฉพาะในฝากพรรคการเมืองหรือกลุ่มก้อนการเมืองฝั่งตรงข้ามกับกลุ่มก้อนอำนาจเดิม ที่มีการปะทะกันทางความคิดเรื่องนี้อย่างชัดเจน

ฝั่งหนึ่งมองว่ามีความจำเป็นต้องยึดเรื่อง การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ เพราะไม่งั้นจะพากันแพ้ ไม่สามารถเอาชนะขั้วอำนาจเดิมที่เป็นผู้กำหนดกติกาได้

แต่อีกฝั่งหนึ่งมองว่า ต้องซื่อตรงต่ออุดมการณ์ เลือกพรรคการเมืองที่เป็นพรรคที่เชื่อมและยึดโยงกับประชาชน ยึดมั่นในหลักการระยะยาวมากกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้า เป็นพรรคมาจากมวลชน

และในการเลือกตั้งที่จะถึงในปี 2566 นี้ ไม่ว่าระบบการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร แน่นอน ประเด็นการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์จะกลับมาเป็นวิวาทะทางการเมืองและวิชาการอีกครั้ง

ครั้งนี้น่าจะรุนแรงกว่าเดิมด้วยซ้ำ หากบริบทการเมืองไทยยังดำเนินไปเช่นนี้ แม้ตัวระบบเลือกตั้ง จะยังออกมาไม่ชัดเจนก็ตาม

เพราะหากดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มก้อนทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล หรือพรรคฝ่ายค้าน ก็มีวิวาทะทางการเมืองเรื่อยมาตลอดนับตั้งแต่หลังเลือกตั้งปี 2562 จนถึงปัจจุบัน และดีกรีความรุนแรงไม่ได้ลดลงเลย แม้จะเห็นภาพการจับมือนั่งคู่กันในสภา

แต่ปรากฎความขัดแย้งเชิงยุทธศาสตร์ หลักการ ตั้งแต่ระดับแกนนำของพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ไปจนถึงการวิวาทะกันอย่างรุนแรงในโลกโซเชียล จนผลิตคำเหยียดมากมาย ทั้ง นางแบก ติ่งส้ม บลาๆๆๆ

ล่าสุดคือวิวาทะ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ให้สัมภาษณ์สื่อตอบคำถาม ถึงความเป็นคนเสื้อแดงเป็นแดงเฉดไหน อมรัตน์ตอบว่าเป็นเสื้อแดง ที่เป็นเฉดที่ไม่ใช่แบบที่เขาเรียกกันขี้ข้าทักษิณ จนกลายเป็นวิวาทะใหญ่โต ร้อนจน ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องออกมาโพสต์ลง บัญชีทวิตเตอร์ทางการว่า

“ผมไม่มีใครเป็นขี้ข้าครับ มีแต่เสื้อแดงที่มีพระคุณที่ไม่เคยลืมผมแม้ออกจากแผ่นดินเกิดมาถึง16ปีแล้วครับ”

นี่ตัวอย่่างสัญญาณเล็กๆของความไม่ตรงกัน ที่จะขยายใหญ่ขึ้นในศึกเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึง

เพื่อไทยจึงเลือกแทงเกม ผลักดัน แนวทางเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ ดังที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พูดในโอกาส เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม 9 คน เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมาชัดเจนว่า เพื่อไทยมองเรื่องการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์คือทางออกประเทศ

“เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า จะเป็น การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยคือ เพื่อไทย จะนำพาประเทศออกจากวิกฤต เราพร้อมเลือกตั้ง” นพ.ชลน่าน กล่าว

ต่อมา 25 พ.ย. ภูมิธรรม เวชชยชัย กุนซือเพื่อไทย โพสต์ข้อความทวิตเตอร์เรื่องนี้ว่า ต้องเลือกตั้งแบบยุทธศาสตร์เท่านั้น ประเทศจึงจะหลุดจากกับดักรัฐบาลและคณะรัฐประหาร ระบุว่า

การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ เท่านั้น.. จึงจะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดับของรัฐบาลคณะรัฐประหารของ”ประยุทธ” และรัฐบาลเผด็จการแปลงร่างในเสื้อคลุมประชาธิปไตยที่ทำให้ประเทศตกอยู่ในหลุมดำมา 8ปี..”

“เลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่มีโอกาสเป็นแกนนำเพื่อจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยที่จะนำพาประเทศพ้นกับดักและทำให้ประชาชนและเยาวชนมีความและอนาคต”

เลือกตั้งครั้งหน้าจึงหน้าจับตา การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ จะถูกใช้กับทุกฝั่ง นอกจากพรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะเจอเรื่องนี้ไม่แพ้กัน