ส.ว.ค้านทำประชามติยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ วันเดียวกับเลือกตั้ง อ้างกลัวประชาชนสับสน!

‘ส.ว.กิตติศักดิ์’ หนุนแก้ รธน. แต่ค้านทำประชามติวันเดียวกับวันเลือกตั้ง หวั่น ปชช.สับสน

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงการพิจารณาญัตติของสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำประชามติถามความเห็นประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า การทำประชามติตามกฎหมายประชามติเป็นอำนาจของ ครม.ร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งตนมองว่าประเด็นที่พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เสนอญัตติดังกล่าว พร้อมสนับสนุนให้ทำช่วงวันเดียวกับที่มีการเลือกตั้ง ตนไม่เห็นด้วย ส่วนตัวมองว่าการทำประชามติมี 2 ทาง คือก่อนเลือกตั้ง หรือหลังการเลือกตั้ง เพราะหากทำในวันเดียวกับที่มีการเลือกตั้งจากประสบการณ์แล้วอาจทำให้ผู้มาใช้สิทธิสับสน และการตั้งคำถามประชามติอาจทำให้ประชาชนสับสนได้

“ผมมองว่า ถึงเวลาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เพื่อลดความขัดแย้ง ผ่านการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่จะทำประชามติเมื่อใดขอให้เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจโดยตรง ส่วนการลงมติในญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอนั้น ผมไม่อยากให้เป็นเรื่องการเมือง หรือให้พรรคใดพรรคหนึ่งใช้เป็นข้ออ้างในการหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้น ส.ว.ที่มีหน้าที่ลงมติสุดท้าย ส่วนตัวผมเห็นด้วยกับการทำประชามติ แต่ไม่อยากให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมือง” นายกิตติศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า การลงมติในญัตติดังกล่าวจะเป็นในทิศาทงใด นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า ต้องดูอีกครั้ง ไม่อยากให้เป็นข้ออ้างว่าเป็นผลงานของพรรคการเมืองและไปกระทบหน่วยงานอื่น เชื่อว่าการประชุมวุฒิสภาเพื่อหารือเรื่องดังกล่าวจะมีการอภิปรายกันพอสมควรก่อนลงมติว่าจะไปในทางไหน

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้้านี้ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่ประกาศ กกต. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2565 ที่ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ลงนามเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

มีรายละเอียดที่น่าสนใจคือ กำหนดให้การเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ ต้องมีจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 50,000 คน ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้าม และไม่ถูกจำกัดสิทธิตามมาตรา 20 มาตรา 21 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 โดยการเสนอเรื่องการเข้าชื่อให้จัดทำเป็นเอกสารและข้อมูล หนังสือกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต้องมีเนื้อหาที่ชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ว่าประสงค์จะออกเสียงในเรื่องใด และเรื่องนั้นมิใช่เรื่องที่ต้องห้ามมิให้ออกเสียงตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ส่วนของรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าชื่อต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับเลขประจำตัวประชาชน ชื่อ ชื่อสกุล และลายมือชื่อของผู้มีสิทธิเข้าชื่อทุกคน โดยให้จัดทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ใส่แผ่นบันทึกข้อมูล หรืออุปกรณ์บันทึกข้อมูลแบบพกพา ทั้งนี้ ในการดำเนินการให้ผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อยื่นเอกสารและข้อมูลด้วยตนเองต่อสำนักงาน กกต. หรือสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Email : [email protected])