จับตา “ม็อบเอเปค” เมื่อความเคลื่อนไหวฝ่ายต้านรัฐบาลปรากฎ…ม็อบเอเปค

 

การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่กำลังจะจัดขึ้นที่ประเทศไทย วันที่ 16 ถึง 18 พฤศจิกายนนี้ มีหลายเรื่องที่น่าจับตา โดยเฉพาะประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

ว่ากันว่านี่จะเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายในการปรากฏตัวขึ้นของผู้ชุมนุม หากยึดตามสถานการณ์การเมือง ที่องคาพยพทางการเมืองทุกฝ่ายขณะนี้ กำลังมองไปที่การเลือกตั้งใหญ่ต้นปีหรือกลางปีหน้า

เมื่อการเมืองในรัฐสภาเข้มข้น เปิดพื้นที่ให้แข่งขันช่วงชิงกันในศึกเลือกตั้งใหญ่ การเมืองบนท้องถนนก็หดตัวลง

การประชุมเอเปคจึงเปรียบเสมือนพื้นที่ทางการเมืองของการเมืองท้องถนนครั้งสุดท้ายก่อนที่ทิศทางการเมืองไทยจะมุ่งสู่การเลือกตั้งหรือการเมืองในระบบ

กลุ่มราษฏรปรากฎ

10 พฤศจิกายน ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เครือข่ายประชาชน ราษฎรหยุด APEC 2022 นำโดย น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ดาวดิน และแนวร่วม แถลงข่าวการเคลื่อนไหวคัดค้าน การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค 2022 ซึ่งจะจัดขึ้นคู่ขนาน ในวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายนนี้ ทั้งนี้ มี 74 องค์กร ร่วมลงนามในการแถลงการณ์

เครือข่ายประชาชน ราษฎรหยุด APEC 2022 ชี้ว่า ประยุทธ์ไร้ความชอบธรรม ไม่คู่ควรเป็นประธานเอเปค หยุดอ้างเอเปคเพื่อผลักดันนโยบายสร้างหายนะแก่ประชาชน

การทำรัฐประหารปี พ.ศ 2557 โดยประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลทหารและเขียนรัฐธรรมนูญ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และแช่แข็งประชาธิปไตย การฟอกขาวตัวเองด้วยกระบวนการเลือกตั้งที่พิสดาร กระบวนการยุติธรรมอันน่ากังขา เพื่อให้ตนกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง จนถึงวันนี้ ประยุทธ์ได้ใช้อำนาจเผด็จการและอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ผลักดันและแก้ไขกฎหมาย รวมถึงนโยบายที่เป็นปรปักษ์ต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า, การบังคับปิดเหมืองแร่, เขตเศรษฐกิจพิเศษ, โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่, นโยบายที่ดินแห่งชาติ, การแก้ไขกฎหมายป่าไม้ที่ดิน, นโยบายคาร์บอนเครดิต, กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช จนล่าสุดคือ นโยบายที่ให้ต่างชาติสามารถถือครองที่ดินในประเทศไทยได้

ในอีกด้านหนึ่ง ประยุทธ์ก็ไม่ยอมที่จะแก้กฎหมาย ออกกฎหมาย นโยบาย หรือบังคับใช้กฎหมายในทางที่เป็นปรปักษ์กับนายทุน เช่น กฎหมายควบคุมการผูกขาดการผลิตสุรา, กฎหมายควบคุมการผูกขาดทางการค้า และกฎหมายกำหนดการจัดสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นต้น

พวกเรา ราษฎรหยุดเอเปค 2022 เห็นว่า สิ่งที่ประยุทธ์ทำมาตลอด เพื่อค้ำจุนอำนาจของตน ต้องการร่วมมือกับนายทุนผูกขาด เอาใจนักลงทุนต่างชาติ ละเลยเสียงของประชาชน เห็นได้จากการปราบปรามการชุมนุมของประชาชนด้วยความรุนแรงเกินกว่าเหตุ การคุกคาม รังควาน การใช้กฎหมายปิดปากประชาชน บิดเบือน และทำลายระบอบกระบวนการยุติธรรม จนถึงการผลักดันกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มของประชาชน

ม็อบครั้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งใหญ่

หากมองด้วยสายตาฝ่ายความมั่นคง ก็จะมองกลุ่มราษฎรเป็นปัญหาหลักใหญ่สุดของการจัดประชุมเอเปคในครั้งนี้ แต่หากมองด้วยสายตาปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเรื่อยมา ก็จะพบว่าการเกิดขึ้นของม็อบครั้งนี้เป็นเรื่องปกติ ไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดได้

เพราะพลังทางการเมืองของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ ไม่ได้อยู่นิ่ง หรือถูกแช่แข็งไว้แต่ประการใด แต่มีการพัฒนาต่อเนื่อง เพียงแค่ไม่ได้แสดงออกผ่านการลงถนนเท่านั้น ด่านจะเห็นได้จากบทสัมภาษณ์ของอานนท์ นำภา แกนนำคณะราษฎรที่ให้สัมภาษณ์มติชนไว้ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาว่าถึงยังไงการชุมนุมในการจัดประชุมเอเปคก็ต้องเกิดขึ้น

“เอเปคมันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วคือม็อบไปประท้วง ห้ามไม่ได้หรอก และสิ่งที่มันต้องเป็นไป อย่างเรื่องนักโทษการเมือง ถ้ายังไม่มีการปล่อยนักโทษคดีจากการเมือง มันต้องมีการชุมนุมให้ปล่อยนักโทษการเมืองแน่ๆ ผมคิดว่าหลังเอเปคไป บรรยากาศการเลือกตั้งก็จะมาอย่างเต็มพื้นที่แล้ว หรือว่าการชูนโยบายหาเสียงก็จะชัดเจนขึ้น บรรยากาศจะไปทางนั้นมากกว่า” อานนท์ นำภา ระบุ

รัฐบาลงัดกฎหมายสู้

12 พ.ย. รัฐบาลงัดกฎหมายสู้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่ การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้ บริการสถานที่ตามนัยมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จึงสมควรกำหนดสถานที่ในการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และสถานที่พำนัก ของผู้แทนประเทศในการเข้าร่วมประชุมดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. 2561 เป็นสถานที่ตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และและมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
นายกรัฐมนตรีจึงออกประกาศให้สถานที่และถนนบริเวณอาณา โดยรอบสถานที่ตามแนบท้ายประกาศนี้ให้เป็นสถานที่ตามนัยมาตรา 8 (5) ตั้งแต่วันที่ 14 – 19 พฤศจิกายน 2565

1. สถานที่จัดการประชุมระหว่างประเทศภาครัฐ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
2. สถานที่พำนักผู้แทนประเทศในการประชุมระหว่างประเทศภาครัฐ
2.1 โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ ผู้แทน บูรไน
2.2 โรงแรมอนันตรา สยาม ผู้แทน สหรัฐอเมริกา
2.3 โรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพ ผู้แทน สิงคโปร์
2.4 โรงแรมโรสวูด กรุงเทพ ผู้แทน นิวซีแลนด์
2.5 โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพ ผู้แทน เปรู
2.6 โรงแรมดิ แอทธินี ผู้แทน ไต้หวันและเวียดนาม
2.7 โรงแรมคอนราด กรุงเทพ ผู้แทน ญี่ปุ่น
2.8 โรงแรมคิมป์ตัน มาลัย กรุงเทพ ผู้แทน อินโดนีเซีย
2.9 โรงแรมสินธร เคมปินสกี้ กรุงเทพ ผู้แทน ฮ่องกงและกัมพูชา
2.10 โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท ผู้แทน ชิลีและปาปัวนิวกินี
2.11 โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพ ผู้แทน แคนาดา
2.12 โรงแรมโซ แบงคอก ผู้แทน ฝรั่งเศส
2.13 โรงแรมวอลดอร์ฟแอสโทเรีย ผู้แทน มาเลเซีย
2.14 โรงแรมเดอะ เซนต์ รีจิส ผู้แทน ซาอุดิอาราเบีย
2.15 โรงแรมแบงคอก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ ปาร์ค ผู้แทน ฟิลิปปินส์
2.16 โรงแรมสุโขทัย กรุงเทพ ผู้แทน ออสเตรเลีย
2.17 โรงแรมบันยันทรี ผู้แทน เม็กซิโก
2.18 โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ ผู้แทน จีน
2.19 โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพ

ราษฏรแก้เกมรัฐบาล จัดเวทีคู่ขนาน

แม้รัฐบาลจะส่งเสียงขู่หรือพยายามใช้กฎหมายเข้าจัดการห้ามไม่ให้เกิดการชุมนุม แต่กลุ่มราษฎรก็อ่านเกมการเมืองเชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ใช้ความรุนแรง แล้วยืนยันว่าเป็นสิทธิทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่สามารถแสดงออกได้

น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างประเมินท่าทีของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร เท่าที่ทราบเบื้องต้นมีการวางกำลังตำรวจเรียกเข้าไปมากกว่าเดิม โดยเรียกตำรวจจากต่างจังหวัดเข้ามาด้วย รวมถึงเพิ่งมีประกาศปิดจุดต่างๆ เพิ่มเติมที่่ห้ามจัดชุมนุม ดังนั้นต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธี เส้นทางใหม่ หรือหาวิธีการไปให้ถึงสถานที่้ประชุม(ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์)ให้ใกล้ที่สุด

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าจะมีการจัดในรูปแบบใดบ้าง น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า ส่วนหลักจะมีเวทีคู่ขนานนำเสนอประเด็นที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พยายามเสนอในเอเปค เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) หรือนโยบายฟอกเขียว อยากให้ภาคประชาชนนำเสนอมุมมองว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า กรณีอาจจัดในพื้นที่ไม่ได้หรือเหตุอื่นๆ จะมีการปรับรูปแบบการชุมนุมอย่างไร น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า “คิดว่าอย่างไรก็ต้องตั้งเป็นเวทีให้ได้ เพราะรอบนี้ไม่ใช่มีเพียงแค่การจัดชุมนุมจากคนในกรุงเทพฯอย่างเดียว มีพี่น้องประชาชนมาจากต่างจังหวัด รวมถึงเครือข่ายต่างๆ ด้วย เชื่อว่าการสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง คงเกินเหตุ และขายหน้ารัฐบาลมากเกินไปในเวทีต่างชาติ เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังมีเวทีผู้นำจากต่างชาติอยู่ตรงนั้น คิดว่ารัฐบาลคงไม่กล้าทำอะไร นอกเหนือไปจากการกั้นพื้นที่ เพราะอย่างนั้นอย่างไรสุดท้ายก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะถูกสลายหรือไม่ถูกสลายอย่างไร สารที่สื่อสารออกไปก็คงชัดเจน” น.ส.ภัสราวลีกล่าว

ขณะที่ความเห็นของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. มองเรื่องการชุมนุมทางการเมืองต่อประเด็นเอเปค

“มีคนคล้ายๆ กับต่อว่าเรา ว่า กทม.ไม่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มชุมนุม ต้องเรียนว่า เรามีการหารือกับฝ่ายความมั่นคงตลอด พื้นที่ลานคนเมืองเป็นพื้นที่ที่เราให้แสดงออกอยู่แล้ว ความจริงแล้วเป็นเรื่องปกติ เราจัดพื้นที่เป็นที่เป็นทางดีกว่า แทนที่จะให้… สมมติถ้าเกิดไม่มีพื้นที่เลย สุดท้ายต้องมาอยู่บนถนน ยิ่งเกะกะ และภาพลักษณ์ก็ไม่ได้ดี ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดา ก็รับฟังความเห็น แต่อย่างที่เราเรียนว่าเราไม่ได้คิดเอง เรามีการหารือร่วมกันพิจารณาถึงทางออกที่ดีที่สุด คือเปิดพื้นที่

ใครอยากแสดงออกก็มาแสดง ขอให้อยู่ในพื้นที่ อย่าออกมาด้านนอก ก็เป็นเหตุผล และอย่างที่บอกว่าได้หารือกับตำรวจมาตลอด ก็ช่วยกันดูแล ไม่เป็นไร คนเห็นต่างได้แต่อย่าให้รุนแรง” นายชัชชาติกล่าว

แม้รัฐบาลจะงัดกฎหมายเข้ามาควบคุม แต่ฝั่งต้านรัฐบาลอ่านเกมว่ารัฐบาลไม่กล้าทำอะไรมาก โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงแบบที่เคยทำมา เนื่องจากผู้นำโลกประชาธิปไตยหลายชาติ ก็มาร่วมในการชุมนุมครั้งนี้ เช่น ฝรั่งเศส แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เป็นต้น

แต่ก็น่าสนใจว่า ประเด็นที่กลุ่มราษฎรยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการนัดชุมนุมนั้น จะมีน้ำหนักมากพอไหม ให้คนออกจากบ้านมาร่วมด้วย ดังที่เรียนไว้แล้วว่า บริบทการเมืองใกล้เลือกตั้งแบบนี้ การเรียกคนออกมาบนท้องถนน ไม่ง่ายเลย หลังจากนี้ สถานการณ์จะเป็นอย่างไร

16 – 18 พ.ย. นี้ รู้กัน!