ปิดตำนาน ‘จุมพล มั่นหมาย’ เปิดเส้นทางชีวิต จากอดีตรองผบ.ตร.สู่ รองเลขาธิการพระราชวัง

“บิ๊กจุ๋ม” จุมพล มั่นหมาย อดีตรองผบ.ตร.และอดีตรองเลขาธิการพระราชวัง เสียชีวิตแล้ว หลังรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565  พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย หรือ บิ๊กจุ๋ม อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เสียชีวิตอย่างสงบที่โรงพยาบาลศิริราช ขณะมีอายุ 72 ปี หลังรักษาตัวด้วยอาการป่วยปอดติดเชื้อ

สำหรับ พล.ต.อ.จุมพล เกิดเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2493 ปัจจุบันอายุ 72 ปี ภูมิลำเนาเป็นคนจังหวัดลำปาง จบการศึกษาจากโรงเรียนตำรวจนครบาลรุ่น 34, โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานรุ่นที่ 26 รุ่นเดียวกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ทั้งยังได้ศึกษาเพิ่มเติมในสาขาพัฒนาบริหารศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, หลักสูตรบริหารงานตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ 15 และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 4212

พล.ต.อ.จุมพล เริ่มต้นชีวิตข้าราชการจากการเป็นตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ก่อนย้ายเข้าสู่พื้นที่นครบาล ในตำแหน่ง สารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ (สวป.สน.บางซื่อ) จากนั้นย้ายไปอยู่กองปราบปราม จนเป็นรองผู้บังคับการปราบปราม (ผบก.ป.)

พล.ต.อ.จุมพล ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองคนที่ 12 และตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. ดูแลงานด้านนครบาล ในปี 2552 มีกระแสว่าพล.ต.อ.จะได้นั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. แต่ท้ายที่สุดไม่ได้รับการเสนอชื่อในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

พล.ต.อ.จุมพล ผ่านคดีสำคัญ ๆ มาหลายคดี อาทิ คดีอุ้มฆ่าภรรยาและลูกนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ เสี่ยร้านเพชรที่พัวพันคดีเพชรซาอุฯ, คดีจ้างวานฆ่านายประมาณ ชันซื่อ อดีตประธานศาลฎีกา และคดีสังหารนายแสงชัย สุนทรวัฒน์ อดีต ผอ.อสมท. เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2552 จุมพล มั่นหมาย ถูกจับตาว่าอาจจะได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ โดยมีชื่อถูกเสนอเคียงคู่มากับ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ และได้รับการสนับสนุนจากทางนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านความมั่นคง, นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกลุ่มของทางนายเนวิน ชิดชอบด้วย

แต่สุดท้ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เลือกที่จะเสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ นายอภิสิทธ์จึงแต่งตั้ง พล.ต.อ.ปทีป เป็นรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยาวนานกระทั่งเกษียณอายุราชการ พร้อมกับจุมพล มั่นหมายในปี พ.ศ.2553

หลังจากเกษียณอายุราชการในปี 2553 พล.ต.อ.จุมพล เข้าเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ประจำสำนักพระราชวังพิเศษในปี 2554 และได้เป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษในปี 2559 ก่อนที่สำนักพระราชวังจะมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ซึ่งลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา

โดยเนื้อความในคำสั่งระบุว่า พล.ต.อ.จุมพล ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ได้กระทำผิดวินัยฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการไปในทางที่ไม่ถูกต้อง แสวงหาประโยชน์ให้กับตัวเอง ฝักใฝ่ในเรื่องการเมืองเป็นอันตรายต่อความมั่นคง ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย พฤติกรรมดังกล่าว จึงเป็นความผิดวินัยร้ายแรง สมควรรับโทษไล่ออกจากราชการ

ก่อนหน้าจะมีคำสั่งดังกล่าว พล.ต.อ.จุมพล ได้ถูกออกหมายจับในคดีบุกรุกป่าทับลาน เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2560 หลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าตรวจสอบบ้านพักตากอากาศซึ่งปลูกอยู่ในเนื้อที่กว่า 13 ไร่ ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา