‘เอ้ สุชัชวีร์’ ยก 5 บทเรียนจากสหรัฐ ป้องกันการกราดยิง แนะนำปรับใช้ในไทย

วันที่ 7 ตุลาคม 2565 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ เขียนข้อความ กรณีเหตุสลดใจที่ จ.หนองบัวลำภู โดยถอดบทเรียน ว่า อเมริกา รับมือการกราดยิงอย่างไร? โดยระบุว่า

อเมริกาประสบเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียน และในมหาวิทยาลัย มากที่สุดในโลก เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง สร้างความกดดันทางการเมือง จนเกิดนโยบาย และวิธีการป้องกันวิธีการใหม่ หลายวิธี น่าเรียนรู้

ผมขอสรุปเล่าใหัทุกท่านฟัง เพื่อแลกเปลี่ยน เพื่อนำไปสู่การป้องกันเหตุสลด #กราดยิงหนองบัวลำภู ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย

บทเรียนของอเมริกา ได้ดำเนินการ 5 ข้อ เพื่อป้องกันการกราดยิง ดังนี้

1. ตั้ง “ศูนย์โรงเรียนปลอดภัยแห่งชาติ”

มีหน้าที่ ให้คำแนะนำ ประเมิน ระดมความคิดเห็น และทำงานวิจัยเพื่อนำเสนอวิธีการจัดการ รวมทั้งนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อทำให้โรงเรียนปลอดภัย

ที่น่าสนใจมากคือ ศูนย์แห่งนี้มีฐานข้อมูลความเสี่ยงและบุคคลอันตรายทั้งอเมริกา รวมทั้งแจ้งเหตุไปยังสถานศึกษาทั่วประเทศ พร้อมประสานหน่วยงานความมั่นคงมและทุกหน่วยงาน ทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติ
เรียกไดัว่า คือมาตรการการป้องกัน “ครบวงจร” และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลกลางต่อเนื่อง

2. ตรวจอาวุธในสถานศึกษา “เข้มงวดที่สุด โทษรุนแรง”

แม้ว่าผู้ก่อเหตุ เป็นได้ทั้ง “คนใน” และ “คนนอก” แต่คนในอาจน่ากลัวที่สุด เช่น เหตุกราดยิงในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งรัฐเวอร์จิเนีย ผู้ก่อเหตุเป็นนักศึกษาปริญญาตรีของที่นั่นเอง และมีกรณีเด็กนักเรียนยิงเพื่อนหลายครั้งในโรงเรียนอเมริกัน

อเมริกาเป็นประเทศที่ซื้ออาวุธปืนอย่างเสรีให้หลายรัฐ โดยเฉพาะทางใต้ และแตะต้องเรื่องนึ้ไม่ได้เลย เขาถือเป็นสิทธิพื้นฐานในการป้องกันตนเอง

แต่การมีอาวุธในโรงเรียน เขาก็ “ยอมไม่ไดั” เช่นกัน หลายรัฐออกกฎหมายเขตควบคุมอาวุธเข้มงวดที่สุด ห้ามอาวุธในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัย ตรวจละเอียด โทษรุนแรง ป้องปรามเต็มที่

เพื่อการันตี “โรงเรียนต้องปลอดอาวุธ” ลดความเสี่ยงได้มาก

3. ออกแบบโรงเรียน “เน้นการป้องกันผู้บุกรุก และการหนีภัย”

รัฐบาลกลางอเมริการะดมสถาปนิกชั้นนำ เสนอแบบให้โรงเรียนทุกแห่ง เพื่อป้องกันอันตรายจาก “ผู้บุกรุก” เข้ามากราดยิงเด็ก เช่น

ห้องเรียนต้องอยู่ด้านใน ประตูสองชั้น มีรหัสผ่าน มีแนวตรวจอาวุธ มีแนวที่ตั้งตรวจการณ์ของ รปภ.

มีประตูหนีภัยติดห้องเรียน ออกได้อย่างเดียว เข้าไม่ได้ หลักการคล้ายประตูหนีไฟ มีระบบล็อกห้องทั้งโรงเรียนอัตโนมัติ ผู้บุกรุกหากเข้ามาไดั จะถูกล็อกในโถงทางเดิน เข้าไปทำร้ายเด็กไม่ได้

กายภาพทุกอย่างของอาคาร ทั้งภายในและภายนอก ต้องพิจารณาเรื่องนี้ ในการขออนุญาตก่อสร้าง และเปิดใช้งานโรงเรียน

ช่วยป้องกันคนร้ายเข้าถึงตัวเด็ก และหนีภัยได้ปลอดภัย ได้ดีขึ้นอีกระดับ

4. พัฒนา “เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัย”

ผมเคยไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอน สุดยอดวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ท็อปของโลก ที่ร่วมมือกับพระจอมเกล้าลาดกระบัง มีห้องทดลองวิจัยด้ายการตรวจใบหน้า และตรวจอาวุธด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI

ได้เงินสนับสนุนจาก เอฟบีไอ หรือ สำนักการสอบสวนกลาง องค์กรรัฐบาลกลางที่ต้องการใช้เทคโนโลยีระดับสูง ทั้งตรวจจับพฤติกรรมคนร้าย เดินถือปืน หากกล้องบนถนนตรวจจับไดัแถวโรงเรียน จะแจ้งเหตุฉุกเฉิน เข้าสู่กระบวนการจัดการทันที ตำรวจก็มาเข้ารวบในไม่กี่นาที ไม่ทันได้ลั่นไก

ปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีเพื่อป้องกันคนร้าย พัฒนาไปไกลมาก ช่วยป้องชีวิตคนได้

5. เพิ่มนักจิตบำบัด “ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์”

แม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ที่โรงเรียนหรือที่มหาวิทยาลัยในอเมริกาต้องมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องจิตวิทยาประจำ ผมเคยเรียนหนักจนเครียดมาก อยู่ลำพัง ไม่มีใคร แต่รอดมาได้ก็เพราะนักจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยนี่แหละ ช่วยไว้

เมื่อครั้งอยู่พระจอมเกล้าลาดกระบัง ก็เริ่มให้บริการศูนย์จิตวิทยา ช่วยให้นักศึกษารอดจากอาการซึมเศร้าได้ไม่น้อย ก่อนจุดอันตราย

รู้เลยว่าปัญหาสุขภาพจิต เป็นกันได้ทุกคน

คำถาม คือ จะทำอย่างไรให้มีนักจิตบำบัด มากเพียงพอที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ได้ฟรี

อเมริกา สร้างกลุ่มอาสาสมัครบำบัดสุขภาพจิตทุกชุมชน ใครม่ปัญหา เลิกงานล้อมวงกัน พูดคุยกัน รัฐจัดสถานที่ จัดผู้เชี่ยวชาญอบรม ทำจริงจัง ได้ผลมาก เพราะชาวบ้านเข้าถึงได้ ลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้เยอะมาก

ผมหวังว่าจะได้ประโยชน์ เป็นความรู้ ให้สังคมไทย ได้ไม่มากก็น้อยครับ