46 ปี 6 ตุลา : สื่อ 2 รุ่น ร่วมถก “เ(สื่อ)ม สั่ง ตาย” ย้ำไม่ว่าต้องเจออะไร นักข่าวมีหน้าที่เผยความจริง

วันที่ 6 ตุลาคม 2565 เมื่อเวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงานรำลึก 46 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ได้จัดการเสวนาสภาวะของสื่อมวลชนในบริบทเหตุการณ์ทางการเมือง 2 ยุคสมัยในชื่อ “เ(สื่อ)ม สั่ง ตาย” ถึงสภาพการทำงานของสื่อมวลชนภายใต้บริบททางการเมืองและสังคมในห้วงการเมืองยุค 2517-2519 หรือหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สู่โศกนาฏกรรม 6 ตุลาคม 2519 กับเหตุการณ์ทางการเมืองกว่า 4 ทศวรรษจนถึงการชุมนุมของคนหนุ่มสาวในปี 2563 โดยมีผู้ร่วมเสวนาอาทิ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ อดีตนักข่าวภาคภาษาอังกฤษและอดีตนักกิจกรรมในเหตุการณ์ตุลาคม 2519 ปนัดดา เลิศล้ำอำไพ อดีตนักข่าวนิตยสารจตุรัส ชนายุส ตินารักษ์ อดีตนักข่าวหลายสำนัก และฐปนีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวขวัญใจมหาชนและเจ้าของสื่อออนไลน์ “The Reporter” โดยมี จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

คุณปนัดดา กล่าวว่า เมื่อ 6 ตุลาคม 19 ตอนนั้นทำงานอยู่นิตยสารจตุรัส ซึ่งเป็นสื่อแนวก้าวหน้า ก่อนหน้าคือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ เป็นช่วงเวลาที่นักศึกษาก้าวหน้าก่อนที่ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ หมดอำนาจไป มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องจากยุคสฤษดิ์ กลับเงียบงันแทนที่ด้วยความสนุกสนาน แต่นักศึกษาเริ่มมาตื่นตัวในสิทธิทางการเมืองในยุค 2510 ก่อนที่ ธีรยุทธ เคลื่อนไหวต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นและเรือมายาเกซของสหรัฐฯ ตอนนั้น ถนอมต้องเลือกตั้งเพื่ออยู่ในอำนาจให้ได้ในปี 2512 แต่ก็ทนไม่ไหวแล้วรัฐประหารตัวเองในปี 2514 บ้านเมืองก็ปกครองเลอะเทอะ ที่จำเป็นต้องเล่าเหตุการณ์ปี 2516 ก่อน ตุลาคม 2519 นั้นเพราะมีเรื่องราวเบื้องหลังนำไปสู่การล้อมปราบนักศึกษาและประชาชน

ความเป็นนักข่าวทำให้เราต้องรู้ประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้น 14 ตุลา เหมือนอุบัติเหตุทางการเมือง ที่คาดไม่ถึงสำหรับผู้มีอำนาจ ชัดเจนที่สุดคือ ทหารเผด็จการตอนนั้น 14 ตุลา เกิดขึ้นได้ความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวของผู้มีอำนาจ เมื่อคืนได้ค้นพบการสัมภาษณ์ของพล.อ.อ.ทวี จุลทรัพย์ ว่า พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ปฏิเสธทำตามคำสั่งหลายข้อของ ถนอม ประภาส ณรงค์ ในเมื่อ 14 ตุลา เกิดขึ้น ฝ่ายผู้มีอำนาจต้องเล่นตามน้ำไป เพราะนักศึกษาไปร้องขอการปกป้องจากพระเจ้าอยู่หัว ต้องปกป้องคุ้มครอง แล้วก็ได้รัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันฝ่ายผู้มีอำนาจ ก็ใช้เวลาเตรียมการต่างๆในช่วง 2 ปี ซึ่งฝ่ายความมั่นคงรัฐ ได้มีเวลาเตรียมแนวร่วมทุกด้าน ไม่ว่าสื่อ ทีมลอบสังหารแกนนำชาวนา ผู้นำนักศึกษา เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เป็นเหตุชัดเจนว่าจะไม่ให้มีการชุมนุมเกินเลยได้

ด้านนายชนายุส กล่าวว่า ตอน 6 ตุลา เป็นนักศึกษาวารสารศาสตร์ ปี 3 ตัวเองเลือดไหลอยู่แถวสนามบอล ตอนนั้นผมยังนั่งเก้าอี้ประธานวัฒนธรรม องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ เนื่องจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ผิดปกติมาก ทำให้ในที่สุดภายหลังรัฐบาลปล่อยตัวผมและคนอื่นตามมา หลังจากนั้น ก็ลงเรียนตามปกติ อยากทำงาน ที่บ้านถูกคนติดตาม นายทหารระดับพันโทไม่รู้นะ ข้างบ้านก็มาด่าว่าเลี้ยงลูกเป็นคอมมิวนิสต์ เลยเข้าป่าอยู่เชียงราย ออกมาอีกทีก็ปี 2525 กลับมาก็ตัดสินใจเรียนต่อที่อุบลราชธานี แล้วมาทำข่าวจนเกษียณ ปัจจุบันเป็นบรรณาธิกร จ้างเขียนหนังสือ

ขณะที่ นิธินันท์ กล่าวว่า เป็นนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งในปี 2516 และปี 2519 พอเรียนจบก็ไม่ได้เข้าป่า เราตัดสินใจว่าไม่ค่อยมีเงิน แต่ก็ทำอะไรที่สอดคล้องเลยเป็นนักข่าว หลัง 6 ตุลา หลายสื่อปิดหมด จนมีการเปิดใหม่ พี่ที่เนชั่นภาคภาษาอังกฤษชักชวนมาทำงาน สุทธิชัย หยุ่น เป็นบก.ในตอนนั้น สัมภาษณ์ไม่มากก็ให้ไปทำข่าวเกรียงศักดิ์เลย

ส่วนฐปนีย์ กล่าวย้อนว่า ตอนเป็นนักข่าวตั้งแต่ปี 2543 หลังเรียนจบ เป็นนักข่าวสายการเมือง ได้ซึมซับทุกเหตุการณ์การเมือง ถ้าเปรียบเทียบมาตลอดสิบกว่าปี ทุกการเปลี่ยนผ่าน รัฐบาลไทยรักไทย การชุมนุมของ พธม. รัฐประหาร 2549 ทำข่าวรอบทำเนียบรัฐบาลจนเช้า แล้วมีเหตุการณ์ นปก.ต่อต้านรัฐประหาร 2550 จนมาปี 2553 ม็อบ นปช. ปี 2556-57 กปปส. รัฐประหาร 2557 เจอฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคสช.จนถึงคณะราษฎร 63 เรียกว่าภูมิใจกับเหตุการณ์ที่ร่วมไม่ว่าดีหรือไม่ดี การเป็นนักข่าว 13 ปี เราผ่านข่าวทุกรูปแบบ เจอรัฐประหาร 2 ครั้ง ยุค คสช. ก็ยุคในการเปลี่ยนแปลงของสื่อ ที่เคยเรียกว่าจากยุคอนาล็อกสู่ดิจิตัล แล้วใกล้เจอเมต้าเวิร์ส และอาจจะเทียบได้ว่า ตุลาคม 2519 กับ ตุลาคม 2563
มีอะไรน่าแลกเปลี่ยนกันบ้าง

สื่อกลางมรสุมการเมือง

คุณปนัดดากล่าวว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เป็นเหตุการณ์ที่ฝ่ายผู้มีอำนาจตั้งรับไม่ทัน ผู้มีอำนาจแตกแยกกัน ทวี จุลทรัพย์ ผช.ผบ.ทบ.ในตอนนั้น ได้เล่าให้ฟังว่า พล.อ.กฤษณ์ ได้ใช้กุศโลบายกับความตึงเครียดก่อน 14 ตุลา ให้คลี่คลายในการเก็บคำสั่งที่ไม่ถูกต้องไม่ให้ไปถึงชั้นผู้น้อย ทำให้ ถนอม ประภาสไม่สามารถใช้กำลังจนต้องลี้ภัย ไม่งั้นความรุนแรงแบบ 6 ตุลา จะเกิดตั้งแต่ 14 ตุลา แล้วนักศึกษาก็เข้าเฝ้าในหลวง แล้วพอเหตุการณ์คลี่คลาย ได้รัฐบาลแห่งชาติ แล้วมาตั้งรัฐบาลคึกฤทธิ์ และเสนีย์ ปราโมช เราจะเห็นว่าระยะ 2 ปี (2517-2519) ยังมีความขัดแย้งระหว่างทหารกับสถาบัน แต่ต่อมาความขัดแย้งได้หายไปแล้ว เพราะมีซีไอเอช่วยเชื่อมให้รัฐไทยมีความมั่นคงเพื่อต่อต้านโดมิโนคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน

ซีไอเอทำให้ทุกอย่างตั้งแต่สฤษดิ์ขึ้นมามีอำนาจ ซีไอเอจัดตั้งให้ตั้งแต่ กอ.รมน. องคาพยพต่างๆ เป็นสิ่งที่จัดตั้งมา เพียง 2 ปีเศษ ฝ่ายการเมืองก็เล่นละครไป ฝ่ายอำนาจจริงๆต้องกู้อำนาจคืนก็วางแผน แนวรบทุกด้านเกิดขึ้น อย่างกลุ่มนวพลก่อตั้งโดยทุน กอ.รมน. กลุ่มกระทิงแดง จนถึงทมยันตี หรือแม้แต่พระกิตติวุฒโฒ เจ้าของวลี “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ซึ่งความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงปลายปี 2518-ต้นปี 2519 เป็นที่รับรู้กันว่า มีการลอบสังหาร อ.บุญสนอง บุญโยทยาน เพราะมีนางนกต่อมาหาข่าวจนรู้ว่าเป็นซ้ายชัด ก็จัดให้มีการลอบสังหาร กฤษณ์ก็ป่วยแล้วเสียชีวิตอย่างมีปริศนา สถานการณ์คุกรุ่นตลอด เราเห็นความผิดปกติ นักศึกษาต้องต่อสู้ จนรุนแรงถึงขั้น ถนอมสามารถกลับเข้าไทยได้ แล้วตอนนั้นทางฝ่ายอำนาจ ก็ไม่ยอมแล้ว ฝ่ายนักศึกษาก็ไม่มีทางยอม แล้วเหตุการณ์ปะทุ วิชามารเกิดขึ้นตอนนี้ เหมือนกับช่วงปี 2518-2519 มีการวางแผนอย่างดี ถ้าเกิดแบบนี้ เอาอะไรมาโต้ พูดมาขนาดนี้ก็ชัดแล้วล่ะคะ

คุณฐปนีย์ กล่าวว่า วิชามารเหล่านี้ ก็เหมือนกับไอโอตอนนี้ แต่จริงๆแล้ว 2543-2557 ไม่ได้เด่นชัดในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบคล้ายๆกับ 14 ตุลา 16 หรือ 6 ตุลา 19 แต่ช่วงก่อนปี 57 เป็นความขัดแย้งทางแนวคิดการเมือง ฝ่ายนึงอาจมองว่าสนับสนุนเผด็จการในหลายแง่มุม แต่ที่เหมือนกันคือกลุ่มนักศึกษาปี 63

คุณปนัดดา กล่าวว่า คู่ต่อสู้ในเหตุการณ์ 2516-2519 คือ เสรีนิยมกับคอมมิวนิสต์ แต่ของปี 2543-2557 คือระหว่างคนที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจชั้นนำเข้ามาท้าทาย นี่เป็นศัตรูที่ปล่อยไม่ได้

คุณชนายุส กล่าวว่า พอมีเรียนสื่อก็ทำงานข่าว เฉพาะส่วนการต่อสู้ทางการเมือง 14 ตุลา 16 เป็นนักเรียน 6 ตุลา 19 ก็เสียเลือดเนื้อ ปี 2535 เป็นนักข่่าวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ปี 2553 เป็นนักข่าวที่มีเพื่อนฝูงมากมาย สิ่งที่เห็นได้ คือ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การให้มีการกระทำผิดมนุษย์ ทั้งแขวนคอ เผาย่างสด ตอกลิ่มใส่ร่าง ถ้าใช้หลักวิชาด้านสื่อมาจับตรงนี้ คนตอกอกอยู่ไหนไม่รู้ คนตีศพถูกแขวนคอทำไปทำไม ทำไมเราไม่รู้ เป็นพิธีกรรมอะไร ย้อนดูประวัติศาสตร์ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ก็มีอีกาคาบข่าวแล้วสังหารเจ้าฟ้าเหม็น มันคล้ายกันไหมไม่รู้ ซึ่ง ณ วันนี้ ทำไม 6 ตุลาคม 2519 ทำไมไม่เหมือนปี 2553 ใคร ทำอะไร ที่ไหน ไม่ต้องพึ่งสื่อ เราต้องพึ่งตัวเอง ค้นกูเกิล หาเอง เป็นสิ่งที่ใช้งานกันได้ ถ้าไม่รู้ก็ถามเด็กได้ ใช้คำหลักในการค้นหา แม้แต่ Search Engine อื่นก็ทำได้

มีวิชาหนึ่งที่น่าสนใจคือ การจัดการข้อมูลข่าวสาร เรื่องหนึ่งที่น่าสนคือ การจัดการสารสนเทศ มีความน่าเชื่อถือ สัมพันธ์แค่ไหน เราต้องพึ่งตัวเอง 3. มันให้ความรู้อะไรเราบ้าง 4.เราได้เรียนรู้อะไรเพิ่มบ้าง สื่อก็ไม่ต้องไปพึ่งมาก ในขณะเดียวกัน

“เราต้องรู้ว่า สื่อทุกวันนี้มักมีว่า ใครว่ารัฐคุมสื่อไม่ได้ แม้มีเครื่องล้ำหน้า ไม่จริง มือถือเดี้ยงเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ต้นทุนเท่าไหร่ ขั้นตอนนี้เราจะเห็นว่า การคุมคลื่นวิทยุโทรทัศน์เราจะทำเหมือนจีน เจ้าของทุนบริษัทเอไอเอสสนิทกับป่ารอยต่อแค่ไหน นอกจากพึ่งตัวเองเรื่องคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ก็ต้องใช้วิชาโบราณเข้าช่วย” คุณชนายุส กล่าว

บทบาทสื่อบนทางแพร่งแห่งยุคสมัย

นิธินันท์ กล่าวว่า ความง่ายยากของสื่อ มีองค์ประกอบหลายอย่าง ตัวเองไม่ได้จบวารสารศาสตร์ แต่เหมือนที่ อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล พูดเสมอว่า ยิ่งไม่ได้จบวิชาชีพสื่อ ยิ่งต้องแม่นจริยธรรมสื่อ เพราะสำหรับเรา ไม่ว่าสถาบันใด เราไม่มีหน้าที่ปกป้องเลย พูดแบบนี้ว่า กรอบคิดของการทำข่าวรุ่นเก่า แต่เราเข้ามาตอนนี้ นักข่าวหลงตัวหน่อยว่ามีหน้าที่พิทักษ์ความชอบธรรมของสังคม เป็นฐานันดรที่ 4 เรายิ่งใหญ่มาก และจะทำตัวเย่อหยิ่ง ไม่รับเงิน ฉันดีแล้ว แต่ความจริง เราลืมคิดในรายละเอียด

ไม่รับเงินใส่ซองแต่สมยอมกับผู้มีอำนาจ เช่น ไม่เสนอข่าวที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเพราะกลัวปิดสำนักข่าว การนักข่าวง่าย ไม่ต้องลงทุนเยอะ คนทำหนังสือพิมพ์นี่จนนะ อยู่แบบความบ้า ด้วยอุดมการณ์ มักมีคำพูดดูถูกต่างๆ เข้ามา

ความเป็นสื่อภาษาอังกฤษทำให้เราผยอง ไม่เอาเงินแบบนี้ เรามีจริยธรรมสูงส่ง ไม่ขอข้าวฟรีที่โรงแรม ฉะนั้น นักข่าวรุ่นเก่าก็มีความหลงตัว มองสังคมด้านเดียว จนเผลอชี้นำสังคม ชี้นำด้วยการบ่น จนไม่รู้ว่าความจริงอยู่ตรงไหน นี่คือลักษณะคนทำสื่่ออย่างนึง

แต่พอรุ่นเหลือง-แดง ตอนเหตุการณ์เดือนตุลา เป็นการสู้กับเผด็จการทหาร แต่ความชัดเจนในยุคนั้น ว่าสถาบันเกี่ยวข้องกับทหาร มันไม่เป็นเอกภาพเท่าวันนี้ แล้วนักหนังสือพิมพ์ไม่ได้โฟกัสเรื่องนี้เท่าไหร่ พอมาหลังจากนั้นเป็นต้นไป ก็ยังคงสู้กับเผด็จการทหารแบบชั้นเดียว

เหมือนพฤษภา 35 แต่พอหลังรธน. 40 มีรัฐบาลทักษิณ เห็นภาพรวมหมด ใครวางแผนสร้างความเกลียดชัง ให้อลหม่านสับสน ทุกคนล้วนแต่โกง คือการสื่อสร้างโดยการสมยอมผู้มีอำนาจโดยไม่รู้ตัว พอเหลือง-แดง ก็มาทุกคนเปลี่ยนไป ดิฉันโกรธสนธิ ลิ้มทองกุลมาก เพราะคุณทำให้อาชีพที่ฉันรักเสียหายมากเลย คนเราทำไมพิสูจน์แล้ว ไม่แง่ทฤษฎี สื่อเลือกข้างได้

นักข่าวแบบ Advocacy Journalist สื่อที่มีอุดมการณ์อันใดอันหนึ่ง แต่ไม่ใช่นักโฆษณาชวนเชื่อ นี่ในแง่ทฤษฎี นักโฆษณาชวนเชื่อ ทำจริง 3 เท็จ 7 สื่อเลือกข้างทำแบบนั้นไม่ได้ ต้องให้ความเที่ยงธรรมทุกฝ่ายแม้ไม่เห็นด้วยกับเขา แม้แต่สลิ่มก็เป็นคน ทีนี้พอเป็นเลือกข้างก็เข้าใจผิดว่า เลือกข้างแล้วไม่เที่ยงธรรม เสื้อแดงโสโครกสกปรก แต่ต่อมาภายหลังมองว่าไม่เป็นธรรม แล้วเริ่มเปลี่ยน นักข่าวก็จะมีปัญหาอีกอย่างว่า พร้อมจะเลือกข้าง สังคมก็มีส่วน

สังคมยุค 6 ตุลา ประชาชนอาจไม่เห็นด้วยหรือสนใจน้อยกับนักศึกษา แต่สังคมเวลานี้ต่างออกไป เชื่อมโยงกับองค์ประกอบกับที่โลกเปลี่ยนไปหมด ทุกวันนี้ยุคสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย คนทำสื่อก็เข้าใจมากขึ้น พยายามศึกษา แม้มีบางคนอาจมุมมองแคบไป ส่วนสื่อหัวเก่า เขาก็แบบของเขา ขึ้นอยู่กับประชาชนจะเชื่อแค่ไหน

ฐปนีย์กล่าวว่า เราอาจเกิดไม่ทันในยุค ตุลา16-19 ทำให้ต้องไปเรียนรู้ แต่ทำไมเรื่องราวนี้ยังคงอยู่มา 40 กว่าปี เรายังมีความอยากรู้อยากเห็น แม้ตอนนี้ยังมีช่องทางไม่มากเหมือนตอนนี้ แต่เราตั้งคำถามตลอดว่า สื่อสมัยก่อนทำงานยังไง เคยตั้งคำถามในสมัยเรียน แต่พอมาเป็นนักข่าวก็รู้และเข้าใจ

ตอนทำงานไอทีวี พอเป็นสื่อที่ต้องทำงานเพื่อประชาชน ว่าสมัยก่อนทำข่าวยังไงให้ประชาชนรับรู้ข่าวสารและสร้างพลังให้ประชาชน จนทำให้มีการเปรียบเทียบกับสื่อสมัยก่อนและสมัยนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับปี 2563 คงไม่ต่างกับปี 2519 โดยเฉพาะการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทำให้สื่อตั้งคำถามกันเองว่าจะรายงานอะไรได้บ้าง

โดยเฉพาะข้อเรียกร้อง 10 ข้อของการปฏิรูปสถาบัน เวลานั้น เราเป็นเพียงช่องเดียวที่กล้าพูดคำนี้ เราโชคดีว่าเรามีโซเชียลมีเดีย ตัวเองถามคุณกิตติ (กิตติ สิงหาปัด-ผู้ประกาศข่าวชื่อดังในรายการ ข่าว 3 มิติ) ว่า มีเรื่องนี้ว่าให้รายงานไหม เพราะช่อง 3 มีโครงสร้างช่อง เราก็พยายามสรุปความแล้วเขียนไป คุณกิตติก็ให้อิสระ ถ้าต้องรายงานสด แล้วไม่พูดเรื่องนี้ก็ไม่ต้องรายงาน

แล้วตอนนั้นที่เวทีธรรมศาสตร์สัญญาณเน็ตไม่ดีบางช่วงแต่ในภาพรวม หลายคนยังระวังเรื่องกฎหมายแต่พอตั้งหลักได้ ก็มีคุยว่าควรมีทบทวน มีการพูดคุยได้ แต่ต้องมีการบรรณาธิการ หลักๆใจกลางสำคัญคือต้องรายงาน ต้องบันทึกเราเลี่ยงไม่ได้ ที่พูดถึงข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เรื่อง ม.112 เราต้องขอบคุณสื่อออนไลน์ที่ทำให้เสียงประชาชนมีมากขึ้น

แม้โครงสร้างกฎหมายจะแข็งทื่อ แล้วการชุมนุมวันที่ 13 ตุลาคม 2563 มีการจับกุมนักศึกษาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วมีเหตุการณ์ 14-15 ตุลา 2563 แล้ว16 ตุลา2563 ที่ชุมนุมแยกปทุมวัน ก็โดนพรก.ฉุกเฉินร้ายแรง วันนั้นมีการประกาศเจาะจง ห้ามนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบัน หรือรายงานสดการชุมนุมเกี่ยวกับเรื่องสถาบัน

นักข่าวก็แตกตื่นแล้วมาถามแยมว่ารายงานได้ไหม มันเหมือนคุกคามสื่อ คนรู้สึกเอะใจหรือหวาดกลัวว่า คำสั่งนี้เราทำข่าวอะไรได้บ้าง เราก็สรุปได้ กล้องก็เปิดปกติไป อะไรสุ่มเสี่ยงก็ต้องระวัง

The Reporter ก็เลยโดนขึ้นลิสต์จาก กสทช. รวมถึงสื่อบางค่าย เบื้องหน้าเราตอนนั้นในการชุมนุม 16 ตุลา 63 มีแต่เด็ก ถูกแก๊สน้ำตา ถูกฉีดน้ำแรงดันสูง ไม่มีใครนึกถึงกฎหมายหรอก ลืมไปเลยว่ามีประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ช่วงเวลานั้นที่สื่อหลายคน กองบก.อันหวั่นเกรงข้อกฎหมาย ที่ทำให้คำสั่งจำกัดทำข่าว แล้วมีคนฉีกกฎให้รายงานได้

ไม่สนใจอะไรแล้ว นี่คือบทพิสูจน์ว่า เมื่อใดสื่อพร้อมใจรายงานเหตุการณ์สำคัญ ไม่มีอะไรกีดกันขัดขวางเราได้ คล้ายกับที่พี่ๆเคยเจอในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ท่ามกลางที่เราถูกเพ่งเล็ง เราก็มาต่อสู้ นำมาซึ่งคำสั่งศาลอาญาว่า สื่อสามารถรายงานข่าวได้ตามบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

นิธินันท์ กล่าวว่า นี่ทำให้ตนคัดค้านสมาคมสื่อเสมอ ถ้าสื่อไม่ปกป้องเสรีภาพประชาชน สื่อก็ไม่มีเสรีภาพ หรืออย่างที่ อ.โกร่ง (ดร.วีรพงษ์ รามางกูร-นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง) พูดกับดิฉันว่า “ป้อม (นิธินันท์) คนทำสื่อรุ่นคุณและหลังๆ มีความกล้ากันขนาดไหน ถ้าคุณคิดถึงคนก่อนหน้าที่เข้าคุกเป็นว่าเล่น นักข่าวรุ่นศรีบูรพา เข้าคุกเพราะยืดหยัดสิ่งที่เชื่อ คุณเป็นแบบนั้นหรือเปล่า”

คุณปนัดดา กล่าวว่า ผู้ชุมนุมปี63 กลุ่มสามนิ้ว เขาชกตรงเลย ฝ่ายรัฐก็ต้องออกลูกแรง ในการต่อสู้ และว่าด้วยความโหดเหี้ยมต่อศพในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ทำให้นึกถึงกรณีชายชุดดำเผาห้างในปี 53 คือ มีสูตรเดียวกันแต่เปลี่ยนบริบทว่า ใช้อะไรต่อสู้ แต่พอเจอคนชูสามนิ้วก็รวนนิดนึงว่าจะเอาอะไรมาสู้ และก็ยังคงหาอยู่

มุมมองสื่อมวลชนกับการเมืองคนหนุ่มสาว

ปนัดดากล่าวว่า กลุ่มสามนิ้วมีความซับซ้อนอีกข้อว่า สหรัฐฯเปลี่ยนนโยบายต่อไทย อาจเห็นว่าการพึ่งพาสถาบันอย่างเดียวคงไม่พอ นี่เป็นบริบทใหม่ ซึ่งเทียบยาก แต่ถ้าทำสื่อในเวลานี้ ก็คงทำแบบเดียวกับแยม แล้วเส้นที่ขีดไว้อยู่ตรงไหน

คุณชนายุส กล่าวว่า ที่กล่าวว่า แม้จะพึ่งสื่อไม่ได้ แต่ก็ใช้ประโยชน์ได้ แต่เรื่องที่สื่อออกไปตอนนี้ ประเด็นแหลมคมมากขึ้น และพอเชื่อมสถานการณ์โลก ก็เห็นความต่างอยู่ อย่างในยุคสงครามเย็นเป็นอย่างหนึ่ง แต่พอยุคโลกาภิวัฒน์ จีนก็มาเป็นทุนนิยม ทีนี้ท่าทีสหรัฐฯต่อสถาบันของไทยที่เปลี่ยนแปลงไป
แม้แต่สถาบันจะมีคลังความคิดอะไรเราก็ไม่รู้ แต่แสดงถึงความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับจีนที่มากขึ้น นี่เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจทำกัน

ขณะเดียวกัน คนที่ต่อสู้ขึ้นมาก็มีประเด็นแหลมคมมากขึ้น ไม่ว่าคนชูสามนิ้ว มันต้องมีความแหลมคมซึ่งปกติในการต่อสู้ทางการเมือง ถ้ามองอนาคตอีกสิบปีข้างหน้า ก็มีเรื่องใหม่ที่แหลมคมอีก ถ้าจะแล่เนื้อได้ มีดต้องคม ตะกี้มีคุยนอกรอบว่า นักศึกษาที่ชุมนุมในปี 2516-2519 มีเพียง 10% ที่ศึกษามาร์กซิสต์ ที่เหลือก็ศรัทธาเสรีนิยม กระแสตอนนั้นมีกลอนเพื่อชีวิต แล้วต่อมา มีพิมพ์หนังสือทฤษฎีสังคมนิยม พิมพ์หนังสือเบ้าหลอมวีรชน มีลำตัดวรรณศิลป์ที่ซ้ายมาก ก็เป็นเรื่องกระแส มาถึงวันนี้ กลุ่มกิจกรรมในมหาวิทยาลัยที่สังกัด อมธ.และเป็นอิสระ มธ.จะอยู่หรือไม่ นักศึกษาจะทำกิจกรรมของตัวเอง

การหาข่าวนี้ ถ้ามีสถานการณ์เกิดขึ้น นักข่าวลืมข้อห้ามหมด ต้องรายงานข่าวเบื้องหน้าก่อน ซึ่งจำเป็น รายงานก่อนแล้วค่อยวิเคราะห์อีกที ส่วนกระทบอะไร มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรก็เป็นอีกขั้น แต่สิ่งสำคัญคือเบื้องหน้าคือความจริงเป็นอะไร สิ่งที่ผู้อ่านควรได้อ่านจากสื่อคือความจริงที่มากที่สุด

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงมุมมองของสื่อในปัจจุบัน ปนัดดา กล่าวว่า จริงๆแล้ว อำนาจที่แท้จริงไม่อยู่ในมือสื่อ

นิธินันท์ กล่าวว่า ข้อแรก เราออกจากสื่อมีสังกัดไปแล้ว แต่ยังมีสื่อที่ทำงานอยู่ ต้องกล่าวว่า สื่อเก่ายังไม่ตาย แต่ไม่แปลว่า ที่สื่อทำถูกหมด สื่อยังเป็นตัวปล่อยข่าวด้วย เราต้องชั่งน้ำหนัก ถ้าเราเผลอแล้วปล่อยข่าวที่เสื่อมเสียได้

ข้อสองคือ เราจะยึดหลักทำงานว่า ไม่ว่าอย่างไร ให้ยึดหลักให้มั่น หน้าที่สื่อคือทำความจริงให้ปรากฎ ไม่ว่าต้องเจออะไรก็ตาม และต้องไม่กลัวในการทำความจริงให้ปรากฎ

ข้อสาม สื่อทุกวันนี้ อินเตอร์เน็ตทำให้เรารับหลายช่่องทางมากขึ้น ทำให้เราต้องสื่อจากทั่วโลก สื่อตัดสินชะตาชีวิตสังคมไม่ได้ แต่ถ้าสื่อส่งความรู้ผิดๆไม่รอบด้านให้สังคม ก็แสดงซ้ำจนเป็นข้อมูลผิดพลาดได้ว่า นักการเมืองโกง เชื่อถือการเลือกตั้งไม่ได้ แม้สื่อไม่ได้กำหนดสังคม แต่การพูดซ้ำทำให้สื่อทำผิดพลาดและสังคมเสื่อมเสียได้

ข้อสุดท้าย สื่อไม่ได้ฉลาดกว่าใคร แต่มีหน้าที่หาความจริงและนำความจริงออกไป นำไปสู่การถกเถียงให้เกิดความก้าวหน้า แม้แต่เรื่องสถาบันที่ห้ามพูด ก็ต้องทำให้น่ากลัวน้อยลง ทำให้อยู่ร่วมกันได้ให้มากที่สุด ถ้าสามารถทำได้ ก็ใช้พื้นที่ตัวเองพูดถึงสิ่งเหล่านี้ เพราะว่าสิ่งที่พูดไม่ได้บอกว่า ไปฆ่ากันเถอะ หรือคนคิดต่างต้องตาย เรามีความคิดต่างมาแลกเปลี่ยนจนหาทางออก

เป็นหน้าที่ของสื่อและหน้าที่ของเราทุกรุ่นทุกอายุ