คุก 1 ปี ปรับ 1.2 หมื่น ‘พ.ต.ต.เสงี่ยม’ นำ ม็อบ นปช.ปิดสภาปี 53 กดดัน ‘อภิสิทธิ์’

ศาลอาญาจำคุก 1 ปี ปรับ 1.2 หมื่น “พ.ต.ต.เสงี่ยม” นำ ม็อบ นปช.ปิดสภาปี 53 กดดัน “อภิสิทธิ์” เมื่อปี 53 ไม่เคยกระทำผิดให้รอลงอาญา 2 ปี

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีชุมนุมปิดสภา หมายเลขดำ อ.887/63 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ อายุ 69 ปี ชาว จ.ชุมพร แกนนำกลุ่ม นปช.เป็นจำเลยในความผิดร่วมกันชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, ทำร้ายร่างกาย, หน่วงเหนี่ยวกักขัง, ทำให้เสียทรัพย์และอื่นๆ

กรณีเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 53 จำเลยกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องซึ่งเป็นแกนนำผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาชนประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง โดยจำเลยนำกลุ่มผู้ชุมนุมหลายร้อยคนขย่มทำลายประตูรั้วอาคารรัฐสภาเพื่อขัดขวางปิดทางเข้าออกเพื่อมิให้รัฐมนตรี และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเข้าประชุมรัฐสภา ทำให้ทรัพย์สินเสียหายประมาณ 6 พันบาท หลังจากนั้นจำเลยกับพวกได้ขับรถยนต์ติดตั้งเครื่องขยายเสียงสำหรับใช้ปราศรัยปลุกระดมผู้ร่วมชุมนุมเป็นเหตุให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีอีกหลายคน รวมทั้ง ส.ส.ต้องติดอยู่ภายในอาคาร และต้องหลบซ่อนตัวไม่สามารถหลบหนีออกมาได้

นอกจากนี้จำเลยกับพวกยังใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ รปภ.ที่ดูแลอาคารได้รับบาดเจ็บหลายนาย รวมทั้งแย่งอาวุธปืนขนาด 11 มม. และปืน เอ็ม 16 ของเจ้าหน้าที่ไปโดยทุจริต โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิดด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีเเละได้รับการปล่อยชั่วคราว

วันนี้จำเลยเดินทางมาศาลพร้อมทนายความ

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยมีความผิด ร่วมกันบุกรุกรัฐสภา จำคุก 1 ปี ปรับ 12,000 บาท แต่จำเลยก็ให้การเป็นประโยชน์ จึงรถโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 8,000 บาท อีกทั้งจำเลยยังทำตัวเป็นประโยชน์พยายามป้องกันไม่เกิดเหตุรุนแรง โดยการนำอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ไปคืนให้กับตำรวจทันทีหลังจากเกิดเหตุ และไม่เคยต้องโทษกระทำความผิดมาก่อน จึงให้รอลงอาญา 2 ปี ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง

พ.ต.ต.เสงี่ยมเปิดเผยภายหลังว่า รู้สึกพึงพอใจผลคำพิพากษาที่ศาลให้ความยุติธรรม เนื่องจากการชุมนุมในครั้งนั้นเป็นการชุมนุมตามสิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนเองเป็นเพียงแค่ผู้ร่วมชุมนุมไม่ได้เป็นแกนนำ แต่กลุ่มมวลชนไปพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจพกพาอาวุธสงคราม และอาวุธปืน 11 มม. อยู่ในรัฐสภา จึงไปยึดอาวุธมาเพราะเกรงว่ามวลชนอาจจะไม่ปลอดภัย ซึ่งหลังจากเกิดเหตุดังกล่าวตนเองมีเจตนาดี นำอาวุธปืนทั้ง 2 กระบอก ไปคืนให้แก่ตำรวจทันทีหลังจากเกิดเหตุ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ว่าไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงตามมา

ด้านนายกฤษณ์ ขำทวี ทนายความ เปิดเผยว่า ศาลเห็นว่าจำเลยมีความผิดในข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการ แม้ว่าในขณะเกิดเหตุกลุ่มผู้ชุมนุมได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่เข้าไปในรัฐสภาก็ตาม แต่ศาลมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการนำมวลชนไปกดดันเพื่อที่จะเข้าไปในรัฐสภา ทางเจ้าหน้าที่จึงอนุญาตเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง จึงพิพากษาให้ลงโทษในความผิดดังกล่าวเพียงข้อหาเดียวก็ต้องดูว่าพนักงานอัยการจะยื่นอุทธรณ์ต่อหรือไม่ถ้ายื่นมาก็ต้องแก้อุทธรณ์