ไทยพบติดเชื้อราฮิสโตพลาสโมซิสไม่มาก สธ.ชี้อยู่ในมูลค้างคาว เข้าพื้นที่เสี่ยงให้ป้องกัน

ไทยพบติดเชื้อราฮิสโตพลาสโมซิสไม่มาก สธ.ชี้อยู่ในมูลค้างคาว เข้าพื้นที่เสี่ยงให้ป้องกัน

วันนี้ (6 ตุลาคม 2565) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวกรณีมีข่าวคณะเดินทางศึกษาธรรมชาติเข้าไปดูค้างคาวในโพรงต้นไม้ แล้วสูดหายใจเอาสปอร์เชื้อราฮิสโตพลาสมาเข้าไปในปอด จนเกิดอาการป่วยโรคฮิสโตพลาสโมซิส ว่า กรมควบคุมโรคได้มีการติดตามในเรื่องนี้ ซึ่งการติดเชื้อราในปอด “ฮิสโตพลาสโมซิส” นั้น มีการพบในประเทศไทยประปรายจำนวนไม่มาก ซึ่งส่วนใหญ่เชื้อราเหล่านี้จะอยู่ในมูลสัตว์อย่างเช่นค้างคาว

“ส่วนใหญ่จะติดเชื้อราจากการสูดเอาเชื้อราในมูลสัตว์เข้าไป ส่วนการติดเชื้อจากคนสู่คนและสัตว์สู่คนมีน้อยมาก ดังนั้น จึงขอย้ำว่า ถ้ามีการไปเที่ยวหรือมีโอกาสเสี่ยงในการสัมผัสมูลสัตว์ ขอให้เน้นการป้องกันตนเองเป็นหลักเพื่อป้องกันไม่ให้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย และทำความสะอาดร่างกาย เพราะยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรคเชื้อราในปอดฮิสโตพลาสโมซิส ส่วนการรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ และมียารักษาเฉพาะซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อรา แต่ก็จะใช้เวลานานในการรักษา ซึ่งการติดเชื้อราในปอดนั้นขอให้เน้นเรื่องความระมัดระวัง แต่ไม่ต้องถึงขั้นตื่นตระหนก” นพ.ธเรศ กล่าว