6 ตุลา | อนุสรณ์ อุณโณ เชื่อคนรุ่นใหม่ฆ่าไม่ตาย ไม่เคยหายจากสมรภูมิ ปชต. เพราะเงื่อนไขสู้ยังอยู่ครบ

อนุสรณ์ อุณโณ เชื่อคนรุ่นใหม่ฆ่าไม่ตาย ไม่เคยหายจากสมรภูมิ ปชต. เพราะเงื่อนไขสู้ยังอยู่ครบ
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา 2519 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ‘เครือข่ายนักศึกษาจัดงาน 6 ตุลา’ จัดกิจกรรม ‘รำลึก 46 ปี 6 ตุลา ตามหาอยุติธรรม’

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเมื่อเวลาประมาณ 09.10 น. มีการอ่านบทกวีโดยนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากนั้นเป็นการปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา หัวข้อ ‘ฆ่าอย่างไรก็ไม่ตาย คนรุ่นใหม่ในความขัดแย้งทางการเมืองไทยร่วมสมัย’ โดย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า ตนมีความซาบซึ้งอย่างหาที่สุดไม่ได้ที่ได้รับเกียรติให้มากล่าวปาฐกถาพิเศษ 46 ปี 6 ตุลา 19 ในวันนี้ และความที่ตัวเองไม่ใช่คนที่มีประสบการณ์ร่วม เข้าใจว่าผู้จัดคงมีวัตถุประสงค์บางอย่างที่มอบหมายให้มาปาฐกถาครั้งนี้

“ผมอยากจำเพาะเจาะจงลงไปในส่วนของการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนหนุ่มสาว ภาพจำของ 6 ตุลา 19 คือการล้อมฆ่านิสิต นักศึกษาที่ชุมนุมอย่างสงบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างผิดมนุษย์มนา ไม่ว่าจะโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชน เป็นการปิดฉากขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่ขยายตัวอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีก่อนหน้า ขณะเดียวกันก็สร้างความทรงจำร่วมในสังคมไทยว่าในเวลาหนึ่ง นิสิต นักศึกษาคือหัวขบวนของการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในประเทศนี้

ผ่านมา 4 ทศวรรษ นิสิต นักศึกษา ได้เข้ามาเคลื่อนไหวในแถวหน้าทางการเมืองอีกครั้งตั้งแต่ปี 2563 ในด้านหนึ่ง การหวนคืนสู่สมรภูมิการเมืองของนิสิต นักศึกษา ได้สร้างความหวัง และกำลังใจให้ฝ่ายที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มักถามแกมเรียกร้องว่า นักศึกษาหายไปไหน ในความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อสี ขณะที่อีกด้าน การกลับมาของนิสิตนักศึกษาได้สร้างความหวาดวิตกให้กับผู้ปกครองเพราะการชุมนุมเคลื่อนไหวครั้งนี้ขยายตัวอย่างกว้างขวาง กว่า 400 ครั้งใน 60 จังหวัด กว่า 100 กลุ่มเพียงแต่ช่วง 6 เดือนหลังของปี 2563

นอกจากนี้ ที่สำคัญกว่าคือ เป็นครั้งแรกที่การเคลื่อนไหวมีข้อเสนอโดยตรงต่อผู้ปกครองของประเทศนี้” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า อย่างไรก็ดี การชุมนุมใหญ่ที่เบาบางลงหลังสลายการชุมนุม ปลายปี 2563 รวมถึงการใช้มาตรการรุนแรง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งข้อหาดำเนินคดีกับแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมจำนวนกว่า 1,800 ราย ส่งผลให้ฝ่ายที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงบางส่วน เกิดความท้อแท้ สิ้นหวัง วิตกกังวลว่านิสิตนักศึกษากำลังจะถูกกดปราบให้สงบราบคาบดังเช่นเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 หรืออย่างไร

ขณะเดียวกันอีกฝ่ายก็กระหยิ่มยิ้มย่องลำพองใจ คิดว่านิสิตนักศึกษาคงสร้างความระคายเคืองให้ได้เท่านี้ แต่ไม่ว่าจะมองด้วยสายตาของฝ่ายไหนก็ตาม อาจเร็วเกินไปที่เราจะท้อแท้สิ้นหวัง เพราะเยาวชนคนหนุ่มสาวไม่ได้หายไปไหน พวกเขายังไม่ตายจากสมรภูมิการเมืองไทยยุคใหม่นี้ ไม่ว่าจะมีความพยายามฆ่าด้วยวิธีไหนก็ตาม

“การที่คนหนุ่มสาวไม่ตาย สาเหตุเพราะการที่พวกเขาลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว ไม่ได้เกิดจากการชี้นำ จัดตั้ง หรือขึ้นต่อกลุ่มหรือองค์กรใดเป็นการเฉพาะ หากแต่เป็นผลของปัจจัยร่วมสมัยจำนวนหนึ่ง ดังนั้น แม้กลุ่มหลักจะไม่ได้จัดชุมนุมใหญ่ บางกลุ่มสลายตัวไป หรือแกนนำอยู่ภายใต้เงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว แต่เงื่อนไขที่ผลักให้พวกเขามายืนแถวหน้า ยังคงอยู่ค่อนข้างครบถ้วน พวกเขาจึงยังไม่หายไปไหน ยังคงเป็นพลังท้าทายผู้ปกครองจนกระทั่งทุกวันนี้” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

“เงื่อนไขอย่างแรก ผมคิดว่าคือ ความฉ้อฉลของคนที่อยู่ในอำนาจ ถ้าย้อนกลับไป นิสิต นักศึกษากลับเข้ามาอยู่แถวหน้าอย่างเด่นชัดหลังรัฐประหาร 24 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา เนื่องจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็น นปช. หรือ กปปส. ถูกทำให้สลายตัวไปโดยปริยาย อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นเป็นกลุ่มเล็กๆ จำนวนไม่มาก ยังไม่ได้รับการขานรับจากนักศึกษาในสถาบันต่างๆ เท่าไรนัก กระทั่งผู้มีอำนาจเริ่มรุกล้ำชีวิตส่วนตัวของคนเหล่านี้ โดยเฉพาะการห้ามฟังแชร์มิวสิกวิดีโอ เพลงประเทศกูมี ซึ่งวิพากษ์การเมืองและสังคมไทยอย่างถึงราก และฉากหลังส่วนหนึ่งคือเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลา เยาวชนที่ถูกห้ามแสดงการต่อต้านขัดขืน จนยอดรับชมเพิ่มขึ้น 10 ล้านใน 2 วัน โดยใน 2 สัปดาห์มียอดชม 20 ล้าน” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ในตอนแรก เยาวชนพยายามปลดแอกตัวเองด้วยกลไกรัฐสภา คือการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้สิทธิครั้งแรก ขณะเดียวกันมีพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ เสนอภาพเป็นตัวแทนความใฝ่ฝันของพวกเขา แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะนอกจากการประกาศผลเลือกตั้งที่ล่าช้าและสับสนแล้ว พรรคการเมืองที่ได้จำนวน ส.ส.มาเป็นอันดับ 2 กลับสามารถเสนอชื่ออดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา จนสามารถตั้งรัฐบาลได้ และสืบทอดอำนาจในคราบรัฐบาลพลเรือน ฟางเส้นสุดท้ายคือการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิ์ผู้บริหารพรรคการเมืองที่เยาวชนสนับสนุน ส่งผลให้คนหนุ่มสาวพร้อมใจกันออกมาจากโลกออนไลน์สู่โลกออฟไลน์ในที่สุด

ล่าสุด คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งต่อไป ไม่ว่าตีความในแง่กฎหมายจะมีลักษณะแบบไหนก็เป็นการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ลำพังแต่กลไกรัฐสภา ไม่สามารถช่วยให้รอดจากการปกครองของผู้มีอำนาจกลุ่มนี้ได้ จำเป็นต้องเคลื่อนไหวต่อไป ดังเช่นที่ได้เห็นการเคลื่อนไหวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า การที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือเยาวชน สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจากการจัดรูปองค์กร ข้อเรียกร้อง รวมถึงกลวิธีการเคลื่อนไหว แม้มีกลุ่มหลักจัดชุมนุมใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เยาวชนปลดแอก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หรือคณะราษฎร 2563 แต่กลุ่มเหล่านี้ ไม่ได้มีลักษณะเป็นองค์กรนำเหมือนในทศวรรษ 2510 ขณะเดียวกันกฌไม่ได้มีลักษณะเป็นกลุ่มการเมืองกึ่งจัดตั้งในลักษณะเดียวกับ นปช. , กปปส. และพันธมิตรในช่วงการเมืองเสื้อสี

ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มย่อยจำนวนมาก โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยซึ่งทั้งเข้าร่วมชุมนุมใหญ่ และจัดกิจกรรมเป็นการเฉพาะของตัวเองควบคู่กันไป ที่สำคัญคือ ต่อมากลุ่มหลัก เช่นคณะราษฎร 2563 ปรับแนวทางการจัดรูปกลุ่มใหม่ให้มีลักษณะไร้แกนนำ พร้อมเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็นราษฎรให้สอดรับกัน

“ขณะที่กลุ่มที่เกิดตามมาในภายหลังก็เน้นหลักการที่เรียกว่า ทุกคนคือแกนนำ ส่งผลให้เยาวชนที่ร่วมชุมนุมไม่จำเป็นต้องขึ้นต่อการนำของกลุ่มหรือคนไหน พวกเราสามารถร่วมกิจกรรมที่ไม่ว่ากลุ่มหรือคนใดเป็นผู้ริเริ่มจัดก็ได้

นอกจากนี้ เยาวชนรู้สึกเป็นเจ้าของประเด็นหนือวาระร่วมในการเคลื่อนไหวร่วมกัน เพราะแม้ข้อเรียกร้องจะถูกขมวดโดยกลุ่มหลัก แต่ก็ประมวลมาจากความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของผู้ร่วมชุมนุมอย่างสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการขับไล่นายกรัฐมนตรี การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการปฏิรูปสถาบัน

กลุ่มย่อยในระดับภูมิภาคที่มีประวัติศาสตร์และบริบททางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมเฉพาะ ได้ผนวกข้อเรียกร้องของตัวเองในการเคลื่อนไหวต่อไปด้วย ฉะนั้น แม้บางกลุ่มสลายตัว และกลุ่มใหญ่ยังชะลอตัว แต่ตราบใดที่ข้อเรียกร้องหลักยังไม่ได้รับการตอบสนอง รวมถึงยังมีประเด็นปัญหาเฉพาะของกลุ่มและพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข การเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา ก็จะยังคงมีต่อไป นอกจากนี้ การที่เยาวชนมีกลวิธีที่ยืดหยุ่นและหลากหลาย ช่วยให้พวกเขาสามารถเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆได้ต่อเนื่อง โดยในขณะที่กลุ่มหลักเน้นการชุมนุมแบบปราศรัย กลุ่มย่อยบางกลุ่ม เช่น รีเด็ม เน้นจรยุทธ์ บางกลุ่ม เช่น ทะลุแก๊ซ เน้นการเผชิญหน้าท้าทาย บางกลุ่ม เช่น ทะลุฟ้า เน้นการชุมนุมเชิงสัญลักษณ์สร้างสรรค์ มีชีวิตชีวา ทั้งยังมีกลุ่มใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย ไม่ว่าจะกลุ่มที่เกี่ยวกับเพศสภาวะ และศิลปะ ดังนั้น แม้การชุมนุมกลุ่มใหญ่ที่เน้นการปราศรัยจะเบาบางลง หรือการเผชิญหน้าท้าทายจะหนุดชะงักไป แต่ด้วยการเคลื่อนไหวยืดหยุ่น เยาวชนจึงสามารถปรับใช้ยุทธวิธีเหล่านี้ในประเด็นและวาระต่างๆได้ ไม่นับรวมการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ที่ยังคงเห็นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน” รศ.ดร. อนุสรณ์กล่าว

รศ.ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ สาเหตุที่เยาวชนจะยังคงเป็นพลังสำคัญในการเมืองร่วมสมัย เป็นเพราะการออกมายืนแถวหน้าของพวกเขาได้รับการขานรับจากคนกลุ่มอื่นด้วย ทั้งพรรคการเมืองในระบบรัฐสภาและประชาชน

ในส่วนพรรคการเมือง แม้ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เสนอไปโดยตัวแทนเยาวชนจะถูกปัดตก แต่ก็มีพรรคการเมืองจำนวนหนึ่ง เสนอกฎหมายในลักษณะและหลักการเดียวกันเข้าไป

ขณะเดียวกัน แม้ว่ากฎหมายที่พรรคการเมืองเสนอจะถูกปัดตกด้วย แต่ก็มีความพยายามเสรอกฎหมายฉบับใหม่ๆ เข้าไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ล่าสุด คือการรวบรวมรายชื่อเสนอกฎหมายเพื่อทำประชามติเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ฉะนั้น สิ่งที่เยาวชนได้บุกเบิกแผ้วถางไว้ จึงมีเส้นทางให้ก้าวเดินต่อไป พวกเขาสามารถเข้ามาเป็นกำลังสำคัญ ในการเคลื่อนไหวในระบบสภาเช่นนี้ต่อไปได้

ในส่วนของประชาชน เข้าร่วมมาตั้งแต่ต้น อีกทั้งยังมีจำนวนและสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามลำดับ การเปลี่ยนชื่อกลุ่มจากเยาวชนปลดแอก เป็นประชาชนปลดแอก รวมถึงการตั้งชื่อกลุ่มที่รวมตัวกันขึ้นใหม่ว่าคณะราษฎร 2563 ชี้ให้เห็นว่า ผู้ชุมนุมที่มีนิสิตนักศึกษาเป็นตัวนำ ไม่ได้มีเฉพาะคนรุ่นเยาว์ แต่ประกอบด้วยคนสูงวัยกว่าด้วย

หลังการสลายการชุมนุมคณะราษฎร 2563 แกนนำถูกจับกุม คุมขัง ดำเนินคดี รวมถึงไม่มีการชุมนุมใหญ่โดยกลุ่มหลักอีก แต่คนสูงวัยกว่า ที่เคลื่อนไหวมาก่อนหน้า ได้เข้ามาเป็นแกนนำและกำลังหลักในการเคลื่อนไหวมากขึ้น ดังเช่นที่เห็นจากกิจกรรมคาร์ม็อบ โดย อดีตแกนนอนและแกนนำเสื้อแดง และคนที่เข้าร่วมส่วนใหญ่คือคนสูงวัยกว่า

ในเดือนสิงหาคม-กรกฎาคม 2564 มีการจัดกิจกรรมกระจายแทบทุกจังหวัดในภาคอีสาน ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ ก็เป็นคนสูงวัยกว่า เหตุผลคือความสะดวกในการชุมนุมที่ออกตอนไหนก็ได้และรู้สึกปลอดภัยกว่า

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมยืนหยุดขัง เรียกร้องสิทธิการประกันตัว ก็ริเริ่มโดยนักกิจกรรมที่สูงวัยกว่าเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น พลเมืองโต้กลับ หน้าศาลฎีกา และอื่นๆ

และด้วยความที่กลุ่มเยาวชนไม่ได้จัดกิจกรรมหลักตั้งแต่ปี 2564 ส่งผลให้การเคลื่อนไหวในปี 2565 เป็นต้นมาเน้นการเรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาจากการแสดงออกทางการเมือง กลายเป็นกิจกรรมที่จัดและมีผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัยกว่าทั้งสิ้น ยังไม่นับรวมกองทุนราษฎรประสงค์ที่มีวัตถุประสงค์ใช้เป็นเงินประกันตัวผู้ต้องหาซึ่งผู้บริจาคส่วนใหญ่คือประชาชนคนทั่วไป โดยเฉพาะคนสูงวัยกว่า

“การที่คนต่างช่วงวัยมาเคลื่อนไหวร่วมกันภายใต้ขบวนการเยาวชนร่วมสมัย ในด้านหนึ่ง มันยึดโยงเข้าด้วยกันผ่านประสบการณ์ที่มี โดยเฉพาะปัญหาและความยากลำบาก โดยเฉพาะช่วงโควิด 19 ที่ผ่านมา รวมถึงความคับแค้นจากความอยุติธรรมที่ได้รับ และความโกรธเคืองที่ถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพ อีกทั้งการสลายการชุมนุม

พวกเขาถูกเชื่อมร้อยด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งระดับกว้าง เช่น ประชาธิปไตย ความเสมอภาค และในระดับเฉพาะเจาะจง เช่น อนวคิดฝ่ายซ้าย เพราะนิสิต นักศึกษาจำนวนมาก อ่านงานเขียนของนักคิดกลุ่มนี้

ในขณะที่คนสูงวัยกว่าจำนวนหนึ่งคืออดีตสหายเก่า ซึ่งน่าจะรวมถึงเครือข่ายคนเดือนตุลา ประสบการณ์และความคิดร่วมเหล่านี้ได้หลอมรวมคนต่างวัยให้เป็นคนรุ่นเดียวกัน ในทางการเมือง” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า เพลง ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ ของ อาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ ที่ท่อนหนึ่งร้องว่า ‘เพราะโลกนี้มีคนอย่างเธอ ประชาชน เพราะโลกนี้มีคนอย่างเธอ ราษฎรทั้งหลาย ให้มันจบที่รุ่นเรา’ สะท้อนว่า ‘เรา’ ไม่ได้มีเฉพาะคนหนุ่มสาว แต่ยังมีคนช่วงวัยอื่นรวมอยู่ด้วยอย่างสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เยาวชนไม่ได้มีเฉพาะนิสิต นักศึกษา ในมหาวิทยาลัย หากแต่มีนักเรียนอาชีวะและเยาวชนที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบปกติได้ คนเยาว์วัยกลุ่มนี้ไม่เพียงเข้าร่วมการชุมนุมกับนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย หากแต่ยังรวมกลุ่มโดยมีแนวทางเฉพาะของตัวเอง

เพราะเหตุนี้ การเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในระลอกนี้ อยู่ในฐานสังคมที่ค่อนข้างกว้าง หลากหลาย ทั้งสถานะช่วงวัย และเศรษฐกิจ รวมถึงอัตลักษณ์ทางสังคมประเภทอื่น เช่น เพศสภาวะ และชาติพันธุ์ที่ร้อยรัดด้วยประสบการณ์และความคิดร่วม เป็นเครือข่าย หรือกลุ่มก่อนที่ก่อตัวขึ้นใหม่ ซึ่งจะเคลื่อนต่อไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

“แม้การเคลื่อนไหวของเยาวชนที่ผ่านมา ยังไม่สามารถบรรลุข้อเรียกร้องใด แต่ก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งและกว้างขวางในสังคมไทย

ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว ประวัติศาสตร์ฉบับท้าทายกลายเป็นหนังสือยอดนิยมแทนที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ ทั้งยังมีทางเลือกมากกว่าสื่อกระแสหลักจึงยากที่จะควบคุมความคิดได้อีกต่อไป ทั้งหมดนี้คือกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ตามใจอีกต่อไป เป็นจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยที่ฆ่าอย่างไรก็ไม่ตาย” รศ.ดร.อนุสรณ์ทิ้งท้าย