437 โรงเรียน กทม. เข้าร่วมเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง เปลี่ยนขยะเป็นทรัพย์สิน

437 โรงเรียน กทม. เข้าร่วมเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง เปลี่ยนขยะเป็นทรัพย์สิน

 

วันที่ 5 ตุลาคม 2565 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า : นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามความร่วมมือภาคีเครือข่ายโรงเรียนไร้ถัง ร่วมกับ นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และนางสุนันท์ ประสพผล ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลทับสะแก โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้นำโรงเรียนในสังกัด กทม.จำนวน 437 แห่ง เข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีในฐานะ “โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครไร้ถัง” เพื่อร่วมกับองค์กรภาคเอกชนกว่า 10 แห่ง และ 443 โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ ปลูกฝังให้เกิดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางให้กับเยาวชนและชุมชน แก้ปัญหาการจัดการขยะ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และเป็นวาระสำคัญของประเทศ

สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ภาคีเครือข่ายโรงเรียนไร้ถังสังกัดกรุงเทพมหานคร และการอบรมสัมมนา “การบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิดต้นกล้าไร้ถัง” เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับเห็นชอบร่วมกันเพื่อส่งเสริม สนับสนุนภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการสนับสนุนแลกเปลี่ยนความรู้แนวคิดการบริหารจัดการขยะแบบชุมชนไร้ถังขยะ ดำเนินการโครงการ เผยแพร่ และขยายเครือข่ายต้นกล้าไร้ถังในสถานศึกษาไปจนถึงชุมชนใกล้เคียง พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ต้นกล้าไร้ถัง และจัดให้มีการเรียนการสอนเพื่อมุ่งสู่โรงเรียนไร้ถังขยะ วิถีใหม่ที่ยั่งยืน โดยมีการรายงานผลงาน สถิติในระบบที่จัดเตรียมไว้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ

“โรงเรียนไร้ถัง” เป็นการนำโมเดลการจัดการขยะแบบ “ทับสะแกโมเดล” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการลดปริมาณขยะจาก 15 ตัน/เดือนเหลือเพียง 2 กิโลกรัม/ เดือน ปลูกฝังเยาวชนให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ รียูส รีไซเคิล อัพไซเคิล และมีส่วนร่วมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางภายในโรงเรียน รวมทั้งสร้างรายได้จากการคัดแยกขยะ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนหันมาคัดแยกขยะอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน นำสิ่งที่เป็นวัสดุอินทรีย์ วัสดุรีไซเคิล ส่งต่อไปยังหน่วยงานและกระบวนการจัดการขยะที่เหมาะสม สร้างรายได้กลับเข้าสู่โรงเรียนและชุมชน และทำให้โรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อส่งต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะไปยังชุมชนใกล้เคียงโรงเรียน ปลูกฝังให้คนในท้องถิ่นร่วมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยทางภาคีจะสนับสนุนงบประมาณ และองค์ความรู้ โดยมีคู่มือการดำเนินงาน การจัดฝึกอบรม การลงพื้นที่ และการติดตามผลอย่างใกล้ชิด

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.ต้องเสียงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะปีละมากกว่าหมื่นล้านบาท แต่ใช้เงินกับการศึกษาประมาณ 4,000 ล้านบาท เนื่องจากกระบวนการจัดการขยะตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำยังไม่สอดคล้องกัน การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงต้องดำเนินการไปพร้อมกันทุกส่วนทั้งต้นน้ำ คือ ปลูกฝังให้ประชาชนเกิดการคัดแยกขยะ กลางน้ำ คือ กทม.จัดเก็บขยะแบบแยก และปลายน้ำ คือการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ การให้โรงเรียนในสังกัด กทม. 437 แห่ง เข้าร่วมภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยปลูกฝังในระดับต้นน้ำ และมีผู้เกี่ยวข้องในระบบนิเวศปลายน้ำ สานฝันการจัดการขยะให้เป็นระบบได้จริง และต้นแบบไม่ใช่แค่โรงเรียน แต่ยังมีอีกหลายส่วนที่เรายังสามารถขยายผลได้ด้วย

“ถ้าเราได้โมเดลของการแยกขยะต้นทางที่มีที่มาที่ไป หลักการของโครงการนี้คือ เมื่อแยกเสร็จแล้วจะมีคนรับไปเลย ทุกชิ้นจะไม่เป็นขยะอีกต่อไป ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่เริ่มจากนักเรียนในโรงเรียน 24 โรงเรียน โดยตั้งเป้าว่าทั้ง 24 โรงเรียน จะต้องมีการขยายผลเพิ่มโรงเรียนละ 3 โรงเรียน รวมเป็น 72 โรงเรียน จาก 72 โรงเรียน ก็จะเป็น 216 โรงเรียน ภายใน 3 ปี ก็จะครบ 437 โรงเรียน หรือมากกว่านั้น เราต้องถอดบทเรียนที่จะเอาโมเดลนี้ไปใช้ในหน่วยงานราชการอื่นอย่างไร ซึ่ง กทม. ยังมีสำนัก สำนักงานเขต และสามารถขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ ซึ่งจะได้ทำการศึกษา โดยจะมีการติดตามผลตลอด” นายศานนท์ กล่าว

ทั้งนี้ ทาง กทม.จะนำโมเดลของภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง มาดำเนินการทันทีกับโรงเรียนสังกัด กทม.ใน 4 เขต ได้แก่ หนองแขม ปทุมวัน พญาไท และบางเขน รวม 19 โรงเรียน โดย 3 เขตแรก เป็นเขตนำร่องโครงการ “ไม่เทรวม” ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยรณรงค์แยกขยะเศษอาหารออกจากขยะทั่วไป ขณะที่เขตบางเขน เป็นเขตที่ทางภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง มีเครือข่ายชุมชนไร้ถังอยู่แล้ว จึงทำให้สามารถดำเนินการได้ทันที รวมถึงอีก 5 เขต 5 โรงเรียน ในเขตหนองจอก จตุจักร บางซื่อ จอมทอง และบางกอกใหญ่ ที่มีต้นทุนและความพร้อมด้านการจัดการขยะอยู่แล้วพร้อมร่วมโครงการทันที รวมทั้งหมดเป็น 9 เขต 24 โรงเรียน และหลังจากนี้ จะค่อย ๆ ขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ จนครบ 437 แห่ง

สำหรับวันนี้ มี นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว ที่ปรึกษาอาวุโสคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่น เดลิเวอรี่ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสำนักศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และสมาชิกภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง ร่วมพิธีลงนาม