สันติธาร แนะไทยเตรียมรับมือศก.โลกชะลอ-ดบ.สูง ชี้ไม่ควรปรับขึ้นมาก หวั่นฉุดสภาพคล่อง

ดร.สันติธาร แนะไทยเตรียมรับมือผลศก.โลกชะลอ-ดบ.สูง ชี้เราไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเท่าอเมริกา เหตุเศรษฐกิจไม่ได้เปราะบาง ระบุหากดอกเบี้ยสูงไป อาจฉุดสภาพคล่อง เศรษฐกิจชะลอได้

 

วันที่ 5 ต.ค.2565 ดร.สันติธาร เสถียรไทย  โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวเรื่องสถานการณ์เศรษฐไทย โดยมีรายละเอียดว่า “เรากำลังเข้าสู่ The Great Tightening หรือการเหยียบเบรคทางนโยบายการเงินครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อธนาคารกลางทั่วโลกต่างก็ขึ้นดอกเบี้ยพร้อมๆกัน”

มองในแง่ดีส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายประเทศในโลกเจอสถานการณ์เศรษฐกิจคล้ายๆกันก็เลยใช้มาตรการรับมือเหมือนๆกัน เช่น ปัญหาเงินเฟ้อแต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่แค่นั้น

ในความเป็นจริงประเทศต่างๆกำลังถูก “บังคับ” ไม่มากก็น้อยจากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงของอเมริกา
โดยลำดับเหตุการณ์เป็นประมาณนี้

ธนาคารกลางอเมริกา (Fed) ดูเงินเฟ้อและสถานการณ์เศรษฐกิจของตนเอง พบว่าตนเองขึ้นดอกเบี้ยช้าไปที่ผ่านมา จึงต้องรีบเหยียบเบรคแรงมากๆเพื่อให้เงินเฟ้อลงแม้เศรษฐกิจจะหัวทิ่มก็ตาม

แต่เมื่อดอกเบี้ยอเมริกาสูงขึ้น เงินก็ไหลออกจากประเทศอื่นๆไปพักเป็นเงินดอลลาร์ ทำดอลล์แข็ง เงินสกุลอื่นอ่อนเทียบกับดอลลาร์

เรียกได้ว่าอเมริกา “ขับรถ” ดูสถานการณ์ของตัวเองเป็นหลักแต่ผลกระทบนั้นโดนกันทั่วโลกดังที่เคยมี รมวคลังคนนึงของอเมริกาพูดไว้ว่า

“ดอลลาร์เป็นเงินของเรา แต่มันคือปัญหาของพวกคุณทุกคน”

เมื่อธนาคารกลางประเทศอื่นๆ เจอเหตุการณ์นี้มักมี 3 ทางเลือกที่ท้าทาย

1.ช่างมันฉันไม่แคร์
ประมาณว่าหากอเมริกาจะดูตัวเองเป็นหลัก เราก็จะดูสภาพเศรษฐกิจเราเป็นหลักเช่นกันในการตัดสินเรื่องดอกเบี้ย หากเราไม่พร้อม ก็ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย หรือขึ้นก็น้อยมาก เงินจะอ่อนก็ช่างมัน ตัวอย่างของค่ายนี้คือญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมาก่อนเดือนกันยายน เพราะเขาอยากเห็นเงินตัวเองอ่อนมานานแล้วและพยายามมาหลายปีแบบไม่สำเร็จเท่าไร

2.ช่างมันฉันไม่แคร์..แต่จริงๆก็แคร์เหมือนกัน
กลุ่มนี้จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยตามอเมริกาเช่นกัน และอาจสื่อสารว่าไม่หวั่นเรื่องค่าเงิน แต่หากไปดูการใช้เงินทุนสำรองต่างประเทศ เพื่อพยุงค่าเงินตนไม่ให้อ่อนไปจะเห็นว่าจริงๆก็แคร์มากกว่าที่พูด (foreign exchange reserve intervention) ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าปากไม่ตรงกับใจ แต่อาจเป็นว่าธนาคารกลางไม่ได้สนใจมากนักว่าค่าเงินจะไปอยู่ที่เท่าไรเทียบกับดอลลาร์แต่แคร์เรื่อง “ความเร็ว”ในการขยับว่าอ่อนค่าเร็วเกินไปมั้ย กลัวว่าหากไม่แทรกแซงเพื่อชะลอบ้างเลยจะยิ่งทำให้สไลด์หนักกว่าเดิม ส่วนตัวผมว่าหลายประเทศในเอเชียที่ผ่านมาอยู่ในกลุ่มนี้รวมทั้งไทยด้วย

3.เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย
กลุ่มนี้คือธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยไปเลยตั้งแต่เนิ่นๆซึ่งส่วนหนึ่งก็เพราะ Fed ขึ้นแรงแล้วไม่อยากให้ค่าอ่อนตนเองอ่อนไป แต่เจ้าตัวอาจจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม ประเทศในละตินอเมริกาที่มีการกู้เป็นเงินดอลลาร์สูงมักจะอยู่ในกลุ่มนี้ตั้งแต่ต้นพวกเขาไม่สามารถยอมให้ค่าเงินตนเองอ่อนมากได้เพราะมันแปลว่าหนี้ต่างประเทศและดอกเบี้ยจะแพงขึ้นมากหากตีกลับมาเป็นเงินในประเทศ ดังนั้นจึงต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อป้องกันค่าเงินให้ได้แต่ที่สำคัญคือ ประเทศใดอยู่กลุ่มไหนนั้นไม่ได้ฟิกซ์ตายตัว

ในช่วงเดือนที่ผ่านมาหลายประเทศในกลุ่ม 1 ย้ายไปอยู่กลุ่ม 2 ใช้เงินสำรองจำนวนมากพยุงค่าเงิน
เช่น ญี่ปุ่นตอนแรกบอกว่าไม่แคร์แต่เอาเข้าจริงๆพอโดนนักลงทุนและนักเก็งกำไรในตลาดก็จะเทขายเยนจนตกฮวบก็จะต้องหันมาแทรกแซง โดยบริษัทเรทติ้งฟิทช์คำนวณว่าในเอเชียแปซิฟิกมีการใช้เงินสำรองไปถึง 5.9 แสนล้านดอลลาร์ ใน 7เดือนแรกของปีนี้ (จนอาจเรียกได้ว่าเป็น the Great Intervention!)
แต่การใช้เงินสำรองแทรกแซงค่าเงินไม่สามารถทำไปเรื่อยๆได้เพราะเงินสำรองมีมากก็หมดได้
อีกทั้งธนาคารกลางต่างๆก็ดูจะเริ่มคิดว่าเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหาที่จะหายไปเองง่ายๆหากไม่ขยับดอกเบี้ยเลย
ดังนั้นในเฟสต่อไปเราอาจเห็นหลายประเทศที่อยู่กลุ่ม 2 ย้ายเข้าสู่กลุ่มที่ 3 คือเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง

เปลี่ยนจาก The Great Intervention ไปเป็น The Great Tightening

จากยุคเงินสำรองต่างประเทศลดลง สู่ยุคดอกเบี้ยสูงขึ้น จากกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ต้องไปกังวลว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวมากไปไหมโดยเฉพาะเมื่อเกือบทุกประเทศขึ้นดอกเบี้ยพร้อมๆกันโดยอาจไม่ค่อยได้คุยกันว่าผลกระทบต่อกันและกันจะเป็นอย่างไร หากเศรษฐกิจหนึ่งชะลอตัวลงย่อมมีผลฉุดอีกเศรษฐกิจที่เป็นคู่ค้าอยู่เช่นกันซึ่งอาจก่อให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง อันจะส่งผลกระทบในภาพรวมต่อเศรษฐกิจโลก
หันมามองสถานการณ์ในประเทศไทย

เราต้องเตรียมรับมือผลกระทบจากการชะลอของเศรษฐกิจทั่วโลกและดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจาก The Great Tightening แน่นอนแต่ก็ไม่ควรตื่นตระหนกมากจนเกินไปด้วย 2 เหตุผล

ประการแรก ประเทศไทยเราไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปเท่ากับอเมริกา(ส่วนใหญ่มองว่าจะสูงกว่า4%) เพื่อจะหยุดการอ่อนค่าเงินบาท

แม้ส่วนต่างดอกเบี้ยมีผลบ้างกับค่าเงินแต่เงินบาทยังมีหลายปัจจัยที่บ่อยครั้งสำคัญยิ่งกว่าเช่น รายได้ต่างประเทศจากการท่องเที่ยวและรายจ่ายต่างประเทศจากการนำเข้าพลังงาน (ถ้ายังจำกันได้ช่วงที่บาทแข็งเกินไปก่อนโควิดก็เพราะปัจจัยพวกนี้)

เมื่อท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อและหากราคาน้ำมันพ้นพีคไปแล้วก็จะช่วยค่าเงินบาทได้มากในปีหน้า
ประการที่สอง เศรษฐกิจไทยไม่ได้เปราะบางแบบตอนก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งหรือแบบเศรษฐกิจกำลังเผชิญวิกฤตเช่น ศรีลังกา ปากีสถาน อาร์เจนตินา ฯลฯ

หนึ่งในจุดอ่อนสำคัญของประเทศเหล่านี้คือการกู้เงินเป็นสกุลดอลลาร์มาใช้ในโครงการที่รายได้เป็นสกุลเงินในประเทศ (Currency and balance sheet mismatches)

หากค่าเงินตนอ่อนเทียบกับดอลลาร์ย่อมแปลว่าหนี้ต่างประเทศที่มีอยู่แพงขึ้นกว่าเดิมจนรายได้ในประเทศอาจไม่พอชำระดอกเบี้ยและเงินต้นได้

ประเทศที่เผชิญสถานการณ์เหล่านี้จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ค่าเงินตนเองอ่อนเกินไป จนบางครั้งอาจต้องยอมขึ้นดอกเบี้ยแรงๆเพื่อดึงเงินไม่ให้ไหลออกแม้จะทำร้ายเศรษฐกิจตัวเองก็ตาม

ประเทศไทยเคยมีปัญหานี้ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งจึงได้เรียนรู้จากตรงนั้นและปัจจุบันมีการกู้เป็นสกุลเงินต่างประเทศน้อยมากเทียบกับเงินสำรองต่างประเทศที่มี (เงินสำรองยังสูงกว่าหนี้ระยะสั้นต่างประเทศเกิน 3 เท่า)

The Great Tightening ที่กำลังมาคือยุคที่ดอกเบี้ยจะสูงขึ้น แม้ในประเทศไทยอาจจะไม่ได้ต้องขึ้นไปสูงเท่าในหลายประเทศที่มีปัญหา แต่เช่นเดียวกันกับในยามน้ำลดเราอาจเห็นตอเริ่มผุด ในยามดอกเบี้ยขึ้นก็อาจเห็นว่ามีบางกลุ่มที่รับความเสี่ยงมามากไปเพราะคิดว่าดอกเบี้ยจะต่ำตลอดไป

นี่คือโลกที่เราไม่ได้เจอมานานและสำหรับหลายคนอาจไม่เคยเจอมาก่อน

สำคัญที่สุดคือการปรับ mindset เปลี่ยนยุทธศาสตร์เพื่อให้เราปิดความเสี่ยงและหาโอกาสจากช่วง Tightening ที่ดอกเบี้ยสูงขึ้น สภาพคล่องลด เศรษฐกิจชะลอได้