สมาคมทนายความ เเถลงร้องทำประชามติ พร้อมเลือกตั้งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ร่างโดยตัวแทน ปชช.

“นรินท์พงศ์ “ นายกสมาคมทนายออกเเถลงการณ์เรียกร้องทำประชามติ พร้อมเลือกตั้งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ร่างโดยตัวแทน ปชช. ชี้ กฎหมายที่ดีต้องชัดเจน ไม่ต้องตีความยกเคสนายกฯ8ปี นำมาซึ่งการไม่ยอมรับกฎหมาย

 

วันที่ 4 ตุลาคม 2565 นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เเถลงข้อความผ่านเฟซบุ๊กสมาคมทนายความ ความว่า รัฐธรรมนูญ 2560 คือ ปัญหาของประเทศ

ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียงข้างมาก (6 ต่อ 3) วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ยังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง เนื่องจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังไม่ครบกำหนดเวลาแปดปีตามมาตรา 158 วรรคสี่ นั้น

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เคารพในความคิดเห็นของตุลาการทุกท่านที่สามารถใช้ดุลพินิจวินิจฉัยไปตามที่แต่ละท่านมีความเห็นโดยสุจริตได้ สมาคมฯ จึงไม่ขอแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวนี้ แต่กลับเห็นว่า การที่ตุลาการทั้ง 9 ท่านที่ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ยังมีความเห็นเป็นสามแนวทางในการวินิจฉัยปัญหากฎหมายข้อเดียวกัน จึงไม่ต้องคำนึงถึงประชาชนทั่วไปที่ย่อมจะมีความเห็นไปคนละทางเช่นกัน อันจะนำมาซึ่งการไม่ยอมรับในรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด

หลักการสำคัญข้อหนึ่งของความเป็นกฎหมายที่ดีคือ กฎหมายนั้นจะต้องมีที่มาโดยชอบและมีความชัดเจนเข้าใจง่ายโดยไม่ต้องตีความ ซึ่งตรงกับที่สหประชาชาติได้นำไปบัญญัติไว้ในความหมายของหลักนิติธรรมว่า กฎหมายจะต้องถูกตราขึ้นโดยรัฏฐาธิปัตย์ที่มีที่มาโดยชอบ และ กฎหมายนั้นต้องมีความแน่นอนชัดเจน (Certainty of law)

ดังนั้น การที่ประเทศต้องเกิดปัญหาจากรัฐธรรมนูญจนต้องนำไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายครั้งแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เป็นกฎหมายที่ดี ซึ่งนอกจากจะถูกร่างขึ้นโดยกลุ่มคนที่คณะผู้ยึดอำนาจแต่งตั้งขึ้นแล้วเนื้อหาสาระยังมีปัญหาและไม่เป็นประชาธิปไตย การปล่อยให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ต่อไปจะนำมาซึ่งการไม่ยอมรับและจะเกิดความขัดแย้งของคนในชาติ

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันนำพาประเทศออกจากหล่มความขัดแย้งที่คณะผู้ยึดอำนาจได้สร้างขึ้นเพื่อให้ฝ่ายของตนได้มีอำนาจครอบงำประเทศ ด้วยการจัดทำประชามติเพื่อสอบถามประชาชนว่า

“ประชาชนต้องการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ร่างขึ้นโดยตัวแทนของประชาชนหรือไม่”

โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ดำเนินการจัดทำประชามติไปพร้อมกับการจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อประหยัดงบประมาณของรัฐ อันจะนำมาซึ่งการยอมรับและทำให้ความขัดแย้งของคนในชาติซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติได้ยุติลงด้วยอำนาจของประชาชน