จาก ซุปเปอร์ไต้ฝุ่น “โนรู” สู่เฮอร์ริเคน “เอียน” ภาวะโลกร้อนสร้างพายุกำลังแรงสุดขั้ว

เพียง 6 ชม.! โนรู ทวีกำลังเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่น นักวิทย์ชี้ โลกจะเผชิญพายุรุนแรงยากคาดเดา งานวิจัยชี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำเฮอร์ริเคน ‘เอียน’ กำลังแรงขึ้น

 

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเปิดเผยข้อเท็จจริงที่น่าตกตะลึงของพายุไต้ฝุ่นโนรูที่พัดถล่มประเทศฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 25 กันยายนว่า พายุลูกดังกล่าวทวีความรุนแรงเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่นภายในระยะเวลาเพียง 6 ชั่วโมง ส่งผลให้ชาวฟิลิปปินส์ที่เดิมคุ้นชินกับสภาพอากาศที่เลวร้าย รู้สึกตกตะลึงกับความรุนแรงที่เกินคาดการณ์ของพายุลูกนี้

ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เผชิญกับพายุโซนร้อนเฉลี่ยในแต่ละปีราว 20 ลูก แต่ในขณะที่ไต้ฝุ่นโนรูไม่ได้สร้างความเสียหายหรือทำให้มีผู้เสียชีวิตมากนักเมื่อเทียบกับไต้ฝุ่นลูกอื่นๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ว่าไต้ฝุ่นโนรูเป็นพายุลูกที่โดดเด่น เนื่องจากทวีกำลังอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่าไต้ฝุ่นที่ทวีกำลังรุนแรงได้เร็วขึ้นจะกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วและในขณะเดียวกันจะทำให้การพยากรณ์อากาศว่าพายุลูกใดจะทวีความรุนแรงและสถานที่ที่จะติดตามพายุเป็นไปได้ยากมากขึ้น โดยงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในปี 2018 ระบุว่า พายุที่เลวร้ายขึ้นนี้ เป็นผลมาจากระดับน้ำทะเล รวมถึงอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น

ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งของสถาบันนวัตกรรมทางอุตุนิยมวิทยาแห่งเสิ่นเจิ้น พบว่า ไต้ฝุ่นในโลกตะวันออกและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความอึดมากขึ้น โดยสามารถพัดได้นานขึ้น 2 ถึง 9 ชั่วโมง และยังเคลื่อนตัวบนแผ่นดินได้มากกว่าเมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้วด้วยระยะทางเฉลี่ยถึง 100 กม. ซึ่งในปลายศตวรรษที่ 21 โลกอาจเผชิญพายุไต้ฝุ่นที่มีความรุนแรงกว่าปัจจุบันถึง 2 เท่า

ด้านนายเจอร์รี บักทาซา ศาสตราจารย์จากสถาบันวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและอุตุนิยมวิทยา มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ กล่าวว่า แม้เกิดขึ้นยากแต่การที่พายุทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับฟิลิปปินส์ เนื่องจาก 28% ของพายุโซนร้อนที่พัดขึ้นฝั่งฟิลิปปินส์ย้อนไปถึงปี 1951 ได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว อ้างอิงจากข้อมูลของทางการ โดยมีปัจจัยต่างๆ เช่น ความชื้นสูง ระดับอุณหภูมิที่ผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้น และลมแรงต่ำ เป็นตัวกำหนดความรุนแรงที่ทวีขึ้นอย่างรวดเร็วของไต้ฝุ่น นอกจากนี้เขายังกล่าวอีกว่า นักพยากรณ์อากาศยังจะคาดการณ์การทวีความรุนแรงของสภาพอากาศในแปซิฟิกได้ยากขึ้น เพราะแม้การตรวจจับทางดาวเทียมจะมีการปรับปรุงดีขึ้น แต่ก็ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะคาดการณ์เหตุการณ์ที่สภาพอากาศจะเลวร้ายลงได้

อาเมียล เอซัส อาซูล ชาวฟิลิปปินส์วัย 36 ปี ผู้เป็นเจ้าของร้านอาหารริมชายหาดของเกาะโปลิลโล ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของฟิลิปปินส์กล่าวว่า ตอนที่เขาทราบว่าไต้ฝุ่นโนรูจะพัดขึ้นฝั่งฟิลิปปินส์ในวันที่ 25 กันยายน ด้วยความรุนแรงเทียบเท่าเฮอร์ริเคนระดับหนึ่ง เขาก็ได้เตรียมการรับมือพายุตามปกติ ตั้งแต่การเตรียมเครื่องปั่นไฟ ไปจนถึงมัดสิ่งของที่อาจถูกพายุพัดสูญหายได้ แต่เมื่อโนรูเคลื่อนเข้าใกล้ประเทศมากขึ้น ไต้ฝุ่นลูกนี้กลับทวีความรุนแรง จนกลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นที่มีพลังทำลายเท่ากับเฮอร์ริเคนระดับ 5 และในที่สุด ก็พัดถล่มเกาะทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ด้วยลมกระโชกที่มีความเร็วและความแรงสูง ทำให้เกิดคลื่นซัดฝั่งสูงและทำลายทรัพย์สินของผู้คนที่ทอดตัวอยู่ตามชายหาด

อาซูลกล่าวอีกว่า ไต้ฝุ่นโนรูมีความรุนแรงมากกว่าที่ทางการพยากรณ์ไว้ แต่ว่าชุมชนของตนโชคดีที่มีสัญญาณโทรทัศน์ ทำให้สามารถทราบข่าวการทวีความรุนแรงเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่นทันกาล และสามารถเตรียมการรับมือความสูญเสียต่อทรัพย์สิน แต่ก็มีคนอีกส่วนอื่นๆ ของเกาะที่พึ่งพาแต่สัญญาณวิทยุเพียงอย่างเดียว ทำให้ทราบข่าวดังกล่าวทันเวลา

ด้านความเสียหายจากโนรู ซุปเปอร์ไต้ฝุ่นลูกนี้สร้างความเสียหายให้กับเมืองตากอากาศของฟิลิปปินส์ โดยกระท่อมริมหาดและกระชังปลาถูกพัดทำลายจำนวนมาก ขณะที่ทางการท้องถิ่นได้อพยพผู้คนที่อาศัยบริเวณริมฝั่งทะเลออกจากพื้นที่ ส่วนบริเวณเกาะลูซอนซึ่งเป็นเกาะหลักของฟิลิปปินส์ พื้นที่ปลูกข้าวในจังหวัดนูเอวา เอซีฮา ซึ่งถือว่าเป็น “อู่ข้าว” ของประเทศก็ได้รับผลกระทบอย่างมากจากลมพายุที่พัดหน้าดินและต้นข้าวจนถอนรากถอนโคน ซึ่งคาดการณ์ว่าความสูญเสียในภาคการเกษตรของประเทศอยู่ที่ราว 3 พันล้านเปโซฟิลิปปินส์ หรือประมาณ 1,900 ล้านบาท ขณะที่คณะกรรมาธิการจัดการและบรรเทาความเสี่ยงภัยพิบัติแห่งชาติฟิลิปปินส์ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตล่าสุดตามรายงานของวันที่ 30 กันยายนอยู่ที่ 12 ราย

ขณะที่สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมว่า งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้พายุเฮอร์ริเคน เอียน เพิ่มกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณฝนตกลงมามากขึ้น 10% อ้างอิงจากการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นของบรรดานักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐ โดยพายุเฮอร์ริเคน เอียน เป็นหนึ่งในพายุลูกใหญ่ที่สุดที่พัดถล่มรัฐฟลอริดา

นายไมเคิล เวเนอร์ นักวิทยาศาสตร์ประจำห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์ เบิร์กลีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบข้อมูลดังกล่าว ให้รายละเอียดว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เป็นสาเหตุของการก่อตัวของพายุ แต่ทำให้พายุที่ก่อตัวขึ้นมามีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยบรรดานักวิจัยได้จำลองเหตุการณ์เปรียบเทียบระหว่างโลกในปัจจุบันที่มีมนุษย์ ซึ่งทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นราว 1.2 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม และโลกที่ไม่มีมนุษย์ ซึ่งทำให้โลกมีอุณหภูมิลดลง

นายเวเนอร์กล่าวว่า กระบวนการดังกล่าวเป็นเพียงการคาดการณ์เบื้องต้นเท่านั้น และยังไม่ได้รับการตรวจทานจากนักวิทยาศาสตร์จากที่อื่นๆ ในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม กระบวนการวิจัยดังกล่าวอ้างอิงมาจากวิธีที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ศึกษาฤดูพายุเฮอร์ริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกในปี 2020 ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature Communication

ถึงแม้สภาวะโลกร้อนจะไม่ทำให้จำนวนความถี่ของการเกิดพายุโซนร้อน และพายุไซโคลนเพิ่มขึ้น แต่ภาวะโลกร้อนก็ทำให้พายุที่ก่อตัวขึ้นมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้ระดับอุณหภูมิของมหาสมุทรสูงขึ้น และเพิ่มความชื้นในชั้นบรรยากาศซึ่งทวีความรุนแรงของพายุเฮอร์ริเคน ด้านนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า ทุกๆ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้ความชื้นในอากาศเพิ่มขึ้นราว 7%

ในขณะนี้ ยอดผู้เสียชีวิตจากพายุเฮอร์ริเคน เอียน ทั้งหมดในสหรัฐขณะนี้อยู่ที่ 62 ราย โดยแบ่งเป็น 58 รายในรัฐฟลอริดา และ 4 รายในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี อย่างไรก็ตาม รายงานยอดผู้เสียชีวิตขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตสะสมในสหรัฐอยู่ที่ 83 ราย ซึ่งแบ่งเป็นในฟลอริดา 79 ราย นอร์ทแคโรไลนา 4 ราย ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ กล่าวว่า เฮอร์ริเคน เอียน อาจเป็นพายุเฮอร์ริเคนที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐฟลอริดา