‘คณะก้าวหน้า’ ชวนล่ารายชื่อจี้ กสทช.ทำระบบเตือนภัยพิบัติผ่านมือถือ

วันที่ 3 ตุลาคม 2565 เฟซบุ๊กแฟนเพจคณะก้าวหน้า ได้ออกมาแสดงโพสต์ข้อความและภาพเชิญชวนประชาชนร่วมรณรงค์ล่ารายชื่อให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ดำเนินทำระบบแจ้งภัยพิบัติผ่านมือถือ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนทราบความเคลื่อนไหวในภัยพิบัติต่างๆเพื่อสามารถรับรู้และรับมือได้ทันท่วงทีก่อนที่ภัยพิบัติจะเข้าถึง โดยระบุว่่า
.
ไทยต้องมีระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือได้แล้ว!
.
พายุฝนที่กระหน่ำเข้าไทยลูกแล้วลูกเล่าในรอบเดือนที่ผ่านมา ได้นำมาซึ่งเหตุอุทกภัยในหลายจุดทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่ภาคอีสานตอนล่างในเวลานี้
.
ความเป็นจริงแล้ว การเกิดน้ำท่วมหลังพายุฝนเป็นเรื่องที่คาดหมายได้ว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่เสี่ยงหลายแห่ง และเทคโนโลยีที่นำมาใช้คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำฝนจะมาเท่าไหร่ และจะมีจุดใดบ้างที่เสี่ยงประสบเหตุอุทกภัย ก็ได้ถูกใช้ในหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยมานานแล้ว
.
แต่สิ่งที่ยังขาดไปในปัจจุบัน ก็คือการสื่อสารกับประชาชนให้รับทราบถึงข้อมูลเหล่านี้ หากไม่ใช่ผู้ที่ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ก็เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ได้ว่าบ้านตัวเองจะน้ำท่วมหรือไม่ จนหลายครั้ง กว่าที่ประชาชนจะรู้ว่าบ้านตัวเองน้ำจะท่วม ก็ตอนที่น้ำไหลเข้าบ้านแล้ว
.
ในประเทศที่การบริหารจัดการภัยพิบัติมีปัญหาทั้งระบบ น้ำท่วมเป็นแค่ปรากฏการณ์หนึ่ง ในรอบปีที่ผ่านมาเราได้เห็นเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งภัยธรรมชาติอย่างพายุเข้า น้ำป่าไหลหลาก และภัยที่มนุษย์ก่อ อย่างน้ำมันรั่วกลางทะเล สารเคมีระเบิด สารเคมีรั่วไหล ไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมี ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่มีปัญหาร่วมกัน คือการแจ้งเตือนประชาชนที่ล่าช้าและไม่ทั่วถึง
.
นั่นจึงนำมาสู่ข้อเสนอและการเปิดแคมเปญของคณะก้าวหน้าผ่าน change.org โดย ไกลก้อง ไวทยการ เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ด้านการสื่อสารโดยตรงอย่าง กสทช. จัดทำระบบ SMS เตือนภัยขึ้นมา
.
ในหลายประเทศที่เกิดภัยพิบัติบ่อยครั้ง ระบบเตือนภัยผ่านมือถือ แบบ Wireless Emergency Alerts (WEAs) ได้ถูกนำมาใช้ในการแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชน ยิงตรงเข้าโทรศัพท์ของทุกคน ไม่ต้องให้ประชาชนติดตามข่าวสารกันเอง ทำให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือได้ทันทีที่มีความเสี่ยง
.
เทคโนโลยีที่ใช้คาดการณ์ภัยพิบัติของหน่วยงานต่างๆ จะมีประโยชน์อะไร ถ้าสุดท้ายมันทำให้มีแต่หน่วยงานรัฐกันเองเท่านั้นรับรู้ ส่วนประชาชนก็ต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการตามวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อโซเชียลมีเดียกันเอง ซึ่งหลายครั้งก็สร้างความสับสนให้ประชาชน
.
กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับกิจการการสื่อสาร สามารถทำระบบ WEAs ขึ้นมาได้ทันที โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่มีระบบฐานข้อมูลภัยพิบัติ และเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในเขตเสาสัญญาณเครือข่ายในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติ
.
นี่คือเรื่องที่ต่างประเทศทำกันมานานแล้ว และไม่ใช่เรื่องยาก ขอแค่หน่วยงานที่มีงบประมาณอย่าง กสทช. ลงมือทำ และสามารถทำได้ทันที ไม่มีเหตุผลอะไรให้ต้องรออีกแล้ว
.
ร่วมลงชื่อรณรงค์ให้ กสทช. ต้องทำระบบเตือนภัยผ่านมือถือ ได้ที่นี่ https://chng.it/PbgSNqZdcm