‘สุธรรม’ ลั่นกกต.ต้องรับผิดชอบหน้าที่ หลังข้อห้าม 180 วัน ทำคลุมเครือ

‘สุธรรม แสงประทุม’ ชี้ กกต.ต้องรับผิดชอบการทำหน้าที่ด่วน เร่งทำให้เกิดความโปร่งใส หลังกฎเหล็ก 180 วันสร้างความคลุมเครือ ทำสังคมสิ้นหวัง

 

วันที่ 3 ตุลาคม 2565 นายสุธรรม แสงประทุม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและรองประธานสภาผู้แทนราษฏร ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ในเวลานี้ มีสาระสำคัญ 3 เรื่อง ดังนี้

1. ความคลุมเครือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่แล้ว มีหลายเรื่องที่บิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ตั้งแต่เรื่องการแบ่งเขตการเลือกตั้ง ถึงการตัดสินใจตามอำนาจหน้าที่ ปรากฎว่า พรรคเพื่อไทย ได้ที่นั่งมากที่สุด ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล แต่มีบัตรเขย่งทำให้มีพรรคเล็กได้สนับสนุนรัฐบาลที่มีที่มาจากสมาชิกวุฒิสภา นอกจากนี้ การประกาศผลการเลือกตั้งบางเขตมีปัญหา ในที่สุด คดีให้ใบแดงผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ศาลตัดสินให้ กกต ต้องใช้หนี้เลือกตั้ง จากความผิดพลาด ดังกล่าว

2. ความยุติธรรม หลังจากการประกาศระเบียบของ กกต ในเรื่อง 180 วัน ในการห้ามผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำเรื่องใด ปรากฎว่า ข้อจำกัดต่างๆ ที่แจ้งมา ไม่มีความชัดเจน คนของรัฐบาลทำได้ แต่ฝ่ายค้านทำไม่ได้ สิ่งที่ควรทำ กลับไม่ได้ทำ เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขต ควรทำทันทีที่ประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี และเมื่อมีระเบียบระยะ 180 วันแล้ว ควรให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเตรียมตัว กลับเก็บเรื่องเขตเลือกตั้งไว้ให้เป็นปัญหาเหมือนในปี พ.ศ. 2562 ที่มีข้อครหาว่า ใครสนับสนุนพรรคของคณะผู้ยึดอำนาจ มีโอกาสเลือกเขตเลือกตั้งที่ต้องการ ดังนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ สังคมเริ่มสิ้นหวังกับคำว่า “ยุติธรรม” ดังจะเห็นจากเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการเลือกตั้ง ควรทำหน้าที่ให้สังคมเชื่อมั่นในเรื่องนี้

3. ความสิ้นหวัง ในสถานการณ์หลัง
สิ้นสุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ปรากฎว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่กฎหมายฉบับนี้ ตกเป็นโมฆะ ย่อมส่งผลต่อการเลือกตั้ง ประชาชนอาจทำใจกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ต่ออายุให้นายกรัฐมนตรีได้อยู่ต่อไป แต่เมื่อครบวาระของสภาผู้แทนราษฏร 4 ปี ย่อมต้องมีการเลือกตั้ง หรือในกรณียุบสภาหลังการประชุมเอเปค จะต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะต้องแสดงความชัดเจนว่า จะทำอย่างไร ถ้ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งเป็นโมฆะ และจะรับผิดชอบจัดการเลือกตั้งอย่างไร ทุกวันนี้ สิ่งที่ไม่แน่นอน คือ ศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนคนขับรถที่ชอบขับรถคร่อมเลน คนปกติเขาขับรถอยู่ในเลน แต่เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญไม่ต่างจากคนที่ขับรถคร่อมเลน อันตรายมากๆ คนอื่นต้องปล่อยให้รถประเภทนี้ ขับไปตามใจ ใครที่กล้าขับรถคร่อมเลนมักจะทนงตัว อวดเก่ง ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะต้องสร้างความมั่นใจให้เห็นว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นและเป็นโอกาสให้ประชาชนมีความหวังในการเปลี่ยนรัฐบาล

นายสุธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสมัยที่เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฏร ได้ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งของอินเดีย ซึ่งมี กกต. เพียงคนเดียว สามารถจัดการการเลือกตั้งในประเทศที่มีประชากร 1,300 คน ได้อย่างมีคุณภาพ ขณะที่ ประเทศไทยมี คณะกรรมการการเลือกตั้ง ถึงจำนวน 7 คน ควรทำงานให้รอบคอบ รัดกุม ชัดเจน ไม่ทำให้สังคมสับสนหรือสร้างปัญหาใหญ่เป็นความขัดแย้งของบ้านเมือง

นายสุธรรม ยังเรียกร้องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ร่วมรับผิดชอบในการทำหน้าที่ตามกฎหมายให้ชัดเจน ตลอดจนเตรียมการรับผลร้ายจากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้/6