ผู้ว่า ธปท. ยันคุมเงินเฟ้อ กนง.ถกนัดพิเศษหากสถานการณ์เปลี่ยน

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ยันคุมเงินเฟ้อ กนง.ถกนัดพิเศษหากสถานการณ์เปลี่ยน

 

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยจะเข้าสู่ระดับ normalization หรือภาวะปกติเมื่อไหร่ และจะมีระดับอยู่ในอัตราเท่าไร นั้น มองว่าสิ่งที่ ธปท.จะติดตามถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นเป้าหมายหลัก คือ การทำให้อัตราเงินเฟ้อเข้ามาอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% มากกว่าการกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุด (Terminal Rate) ว่าควรอยู่ตรงไหน เนื่องจากธนาคารกลางหลายแห่งที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพราะบางประเทศมีเศรษฐกิจร้อนแรง จึงมีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยให้สูงกว่าระดับ หรืออัตรดอกเบี้ยที่สมดุล (Neutral rate) การขึ้นดอกเบี้ยของไทยและต่างประเทศจึงแตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่เป็นเป้าของ ธปท.คือ การพยายามดูแลให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

เมื่อเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพมีการสูบฉีดเต็มที่ขยายตัวได้ 4-5% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Rate) จะต้องเป็นบวก เพื่อสร้างแรงจูงใจในการออม เพราะถ้าอัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวจะสร้างแรงจูงใจให้ผิดเพี้ยน

ขณะเดียวกัน การถอนคันเร่งเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากจะสร้างเสถียรภาพการเงิน และยังสร้างความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน เพราะหาก ธปท. ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลย เพราะห่วงคนที่เป็นหนี้ ซึ่งระยะต่อไปหากเกิดอะไรขึ้น ธปท.จะไม่มีช่องทางในการจัดการอะไรได้ ดังนั้น ด้านขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ไม่ใช่แค่การขึ้นดอกเบี้ย แต่เป็นการสร้างกันชนให้มีเพียงพอ ซึ่งต้องมาจากหลายด้าน อาทิ ดอกเบี้ย ทุนสำรองเพียงพอ หนี้ต่างประเทศที่ไม่สูงเกินไป เป็นต้น หากได้เตรียมความพร้อมก็ถือว่าเป็นการสร้างกันชนที่สำคัญ

“สิ่งที่เจอวันนี้ มีความไม่แน่นอนสูงและความผันผวนที่ไม่เคยเจอมาก่อน ดังนั้น การสร้างกันชนในหลายมิติเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพ”นายเศรษฐพุฒิกล่าว

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะดูไปข้างหน้าที่แนวนโยบายการเงินจะสอดคล้องกับสถานการณ์ที่จะดำเนินไปเป็นอย่างไร โดยชั่งน้ำหนัก 3 ด้าน คือ 1.เสถียรภาพราคา 2.เสถียรภาพระบบการเงิน และ 3.เสถียรภาพเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ด้านอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่ได้มีตรรกะ เพราะตอนนี้ เศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในดุลยภาพของมันและไม่นิ่ง การดำเนินนโยบายจึงต้องค่อยๆ ปรับขึ้นเพื่อให้เกิดสมดุลในแต่ละด้าน ซึ่งขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินไม่ใช่แค่การขึ้นดอกเบี้ย แต่เป็นการสร้างกันชนให้เพียงพอ

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่เหลือเพียง 1 ครั้งในปีนี้ หากสถานการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น กนง.ก็สามารถจัดประชุมวาระพิเศษได้ ซึ่งเหล่านี้ไม่ได้มีข้อจำกัดหรือทำไม่ได้