กระทรวงต่างประเทศ เปิดตัว ‘แมวนวล’ พรีเซนเตอร์โปรโมต เอเปค 2022

อาศัยความน่ารักของแมว มาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ กต. โพสต์ภาพแมว ชื่อ นวล ประชาสัมพันธ์งาน เอเปค 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

 

วันที่ 1 ตุลาคม 2565 อินสตาแกรม กระทรวงการต่างประเทศ โพสต์ภาพแมวเหมียว ชื่อนวล ยืนหน้าป้ายงาน APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ พร้อมข้อความประชาสัมพันธ์ ดึงดูดเหล่าทาสแมวให้เข้ามาอ่านและกดไลก์มากกว่าข้อความและภาพประชาสัมพันธ์อื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด

เอเปค 2022

ข้อความเขียนว่า “ภารกิจของนวลสัปดาห์นี้ คือการแถลงข่าวการจัดการประชุม APEC 2022 Thailand ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้

นวลขอเชิญพี่ๆ ทุกคนมาร่วม “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล

การเป็นเจ้าภาพ APEC ในปีนี้จะเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคระหว่างประเทศ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับประเทศในเขตเศรษฐกิจเอเปคเพื่อนำมาปฏิรูปและยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจของไทยให้ทันสมัย เป็นสากล รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพในมิติต่างๆให้แก่ภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงความพร้อมของไทยในการต้อนรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวในยุคหลังการระบาดของ COVID-19

การประชุมเอเปคมีประโยชน์มากมายขนาดนี้ นวลจึงอยากเชิญชวนพี่ๆ ทุกท่านมาเป็นเจ้าบ้านที่ดีและสนับสนุนให้การประชุมเอเปคในปีนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีกันนะค้า”

เอเปค 2022

เอเปค คืออะไร

สำหรับงานเอเปค ระดับผู้นำเศรษฐกิจ จะจัดวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดยมีการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศ หรือ ซัมมิต วันที่ 18-19 พ.ย.

เบื้องต้นนี้มีข่าวการตอบรับของผู้นำจีน สี จิ้นผิง และผู้นำรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ที่จะเข้าร่วม หลังจากผู้นำสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน ปฏิเสธที่จะเดินทางมา

ส่วนเดือนตุลาคมนี้ เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วันที่ 19-21 ต.ค.

เว็บไซต์ https://www.apec2022.go.th/ ให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเวทีการประชุมนี้ ได้แก่

เอเปค หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) คือเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532

เวทีนี้มีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น  อาทิ ความร่วมมือด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค

ปัจจุบัน เอเปคมีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย  ไทยเป็นหนึ่งใน 12 เขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้ง

เอเปคมีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท เกินครึ่งของ GDP โลกและมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก