SX 2022 พระเมธีวชิโรดม ชี้ ‘บวชป่า’ สร้างพื้นที่อภัยทานแล้วกว่า 20 ล้านไร่ 

เวที SX 2022 พระเมธีวชิโรดม นำศาสนาช่วยสิ่งแวดล้อม ชู ‘บวชป่า’ เซฟพื้นที่ป่าแล้วกว่า 20 ล้านไร่ 

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 1 ตุลาคม ที่เอสเอ็กซ์ แกรนด์ เพลนารี ฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในงาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 มหกรรมการแสดงสินค้าด้านความยั่งยืนที่ใหญ่สุดในอาเซียน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม 2565 โดย 5 องค์กรชั้นนำด้านความยั่งยืนของไทย ได้แก่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

พระเมธีวชิโรดม ผู้อำนวยการศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน และผู้ก่อตั้งมหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ ขึ้นเวทีหัวข้อ “พระพุทธศาสนากับการเยียวยาสิ่งแวดล้อม” โดยมีผู้สนใจเข้าฟังจำนวนมาก รวมทั้ง นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 

ต้นไม้คือปอด

พระเมธีวชิโรดม กล่าวว่า เมืองไทยของเราเคยขึ้นชื่อว่ามีป่าสมบูรณ์ติด 1 ใน 10 ของโลก แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ดัชนีชี้วัดว่าป่าไทยตกอยู่ในอันตราย คือ คุณสืบ นาคะเสถียร ตัดสินใจยิงตัวตายเมื่อ 32 ปีที่แล้ว เพื่อปลุกให้คนข้างหลังตื่น คุณสืบอุทิศตนเป็นดั่งไม้ขีดไฟ ให้คนไทยได้ตระหนักรู้ว่า ถ้าเราไม่ตื่นขึ้นมาฟื้นฟูดูแลสิ่งแวดล้อม ประเทศนี้จะไม่มีอนาคต

“หนึ่งคนตาย ล้านคนเกิด หลังการเสียชีวิตของคุณสืบ คนไทยทั้งประเทศตื่นตัวกัน ชีวิตคุณสืบเป็นเหมือนระฆังทำให้คนไทยรวมตัวกัน คุณสืบทำวิจัยเอาไว้ว่า ป่าห้วยขาแข้งควรได้รับการยกให้เป็นมรดกโลก การที่ผู้ชายคนนี้ยอมวางชีวิตเป็นเดิมพัน ทำให้ยูเนสโกตัดสินใจยกป่าผืนนี้เป็นมรดกโลก” 

พระเมธีวชิโรดม กล่าวอีกว่า ป่าไม้มีความสำคัญต่อชีวิต เพราะเราล้วนหายใจด้วยออกซิเจน หยุดหายใจเมื่อไหร่ชีวิตก็ดับ กวีชาวอเมริกันคนหนึ่งบอกว่า ต้นไม้คือปอดของเราที่ถูกดึงออกมาวางข้างนอก และปอดของเราก็คือต้นไม้ที่ถูกนำไปบรรจุไว้ในอกของเรา ต้นไม้ทั้งโลกคือปอดของเรา ถ้าเราไม่ฟื้นฟูดูแลสิ่งแวดล้อม แล้วจะอยู่กันอย่างไรให้ร่มเย็นเป็นสุข

“โลกทั้งโลกกำลังตื่นตัวเรื่องไคลเมต เชนจ์ เกิดคำว่า ‘โลกรวน’ คือภูมิอากาศของโลกวิปริตปรวนแปร พอโลกร้อนก็เกิดคลื่นความร้อน ไฟไหม้ป่า พายุเข้า ปัญหาสารพัดก็ตามมา เป็นปัญหาใหญ่โตยิ่งกว่าโควิด โควิดเจาะจงเล่นงานคน แต่วิกฤตโลกรวนเล่นงานทั้งโลก แม้แต่กรุงเทพมหานครก็อยู่ใน 50 เมืองที่ถูกทำนายว่าจะจมลงไปใน 50 ปีนี้ได้ทุกเมื่อ ถ้าเราไม่ทำให้โลกเย็นลง”  

ถ้าตระหนักรู้ว่าโลกเชื่อมโยงกัน ต้องใช้ชีวิตอย่างรับผิดชอบ

พระเมธีวชิโรดม เผยว่า โลกทั้งโลกเปรียบเสมือนกระเปาะฟองไข่ที่ชื่อว่า “โลกนิเวศ” ดังนั้นคนทั่วโลกกระทบหมด ล่าสุดมีน้ำท่วมที่ปากีสถาน คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง ปากีสถานปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมาก เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา ประเทศในกลุ่มยุโรป จีน อินเดีย ประเทศเหล่านี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาล แต่ทำไมปากีสถานต้องมารับกรรม เพราะปากีสถานคือส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ โลกของเราเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังนั้นเกิดอะไรขึ้นบนโลกก็กระเพื่อมถึงกันหมด สรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกัน ทุกสิ่งในเอกภพล้วนเชื่อมโยงกัน ถ้ามีปรากฏการณ์ดีก็กระเพื่อมทั้งโลก ไม่ดีก็กระเพื่อมทั้งโลก

พร้อมยกตัวอย่างว่า โควิดเกิดที่เมืองอู่ฮั่น แล้วกระเพื่อมไปยังทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหาศาลเกินจะนับ นี่คือสภาวะที่เรียกว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว หรืออีกตัวอย่าง คือ รัสเซียบุกไปทำสงครามกับยูเครน เกิดเงินเฟ้อทั้งโลก แสดงให้เห็นว่า โลกของเราเชื่อมโยงถึงกันหมด 

หรือเมื่อ 5 ปีก่อน เด็กหญิงชาวสวีเดนอายุ 15 ปี เรียนเรื่องโลกร้อนแล้วตัดสินใจหยุดเรียนไปประท้วงหน้ารัฐสภา ตอนนั้นไม่มีใครเชื่อเลยว่าเธอจะทำอะไรได้ จนสื่อไปสัมภาษณ์ และองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เชิญไปกล่าวสุนทรพจน์ จากนั้นเยาวชนออกมาเดินขบวนทั้งโลกโดยไม่มีการจัดตั้ง กระทั่ง บารัก โอบามา (อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา) บอกว่า นี่คือขบวนการมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก นำสู่การที่รัฐบาลทั้งโลกต่างออกนโยบายที่เอื้อต่อการลดก๊าซเรือนกระจก เห็นได้ว่าดูถูกเด็กไม่ได้เลย 

“ถ้าเราตระหนักรู้ว่าทั้งโลกเชื่อมโยงกัน ก็ต้องใช้ชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบ ถ้าเราดูแลสิ่งแวดล้อมที่ไทย คนทั้งโลกก็จะได้อานิสงส์ ถ้าเราตัดต้นไม้ คนทั้งโลกก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เมื่อเราตระหนักรู้แล้ว เราจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขสิ่งแวดล้อมอย่างไร 

“นักวิชาการอาจอัดข้อมูลเข้าไปจนคนตื่นตระหนกทั้งโลก จนที่สุดมีคนเสนอว่า เรานำเสนอเรื่องความงดงามของโลกได้ไหม เหมือนนักบินอวกาศคนหนึ่งที่ไปนอกโลกถึง 3 ครั้ง แล้วได้เรียนรู้ว่า ไม่มีดาวดวงไหนจะสวยกว่าโลกสีน้ำเงินใบนี้ ขอให้ทุกคนช่วยกันดูแล เพราะดาวแบบนี้มีดวงเดียว แสดงว่าโลกคือสิ่งมหัศจรรย์”

ชี้ “ปาฏิหาริย์การบวชป่า” ช่วยรักษาผืนป่าแล้วกว่า 20 ล้านไร่ 

ผู้อำนวยการศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน และผู้ก่อตั้งมหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ กล่าวถึงการดูแลป่าว่า ขอย้อนไปสู่ภูมิปัญญาโบราณที่ดูแลป่าด้วยการ “บวชป่า” แล้วเล่าถึงกรณีตัวอย่างว่า เมื่อราว 10 ปีก่อนมีโครงการยักษ์ใหญ่จะไปทำพื้นที่อุตสาหกรรมทับพื้นที่ป่าชุ่มน้ำ วันหนึ่งมีคนนิมนต์ไปบวชป่า จึงไปกับชาวบ้านกว่า 2,000 คน 

“ไม่ใช่เพราะผ้าเหลืองศักดิ์สิทธิ์ แต่เพราะชาวบ้านตื่นรู้ว่าทรัพยากรเป็นของเขา ถ้าเขาตื่นรู้ เขาจะไม่ยอมให้ใครมาทำอะไร นี่คือปาฏิหาริย์ของการบวชป่า พอเขาตื่นมาแล้วจะไม่ยอมให้ใครมาปู้ยี้ปู้ยำสิ่งแวดล้อมได้อีก ครั้งนั้นทำให้รักษาป่าชุ่มน้ำได้กว่า 3,000 ไร่” 

ต่อมาจะมีการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง พื้นที่ อ. เชียงของ จ. เชียงราย ซึ่งจุดนั้นมีปลาบึกไปวางไข่ ชาวเชียงของก็ตื่นตัว ไม่ยอมให้ใครมาระเบิดเกาะแก่ง เพราะส่งผลถึงปลาบึก วันหนึ่งจึงรณรงค์และบวชแม่น้ำโขงทั้ง 2 ฝั่งไทยลาว ตั้งแต่นั้นก็เกิดสัญญาประชาคมหลังบวชแม่น้ำโขง คือ ไม่อนุญาตให้จับปลาบึกเชิงพาณิชย์ และทางการจีนก็ชะลอโครงการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขง นี่คือปาฏิหาริย์เหมือนกัน 

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ มีคนมาบุกรุกที่สาธารณะกว่า 3,000 ไร่ วันหนึ่งมีคนมาบอก จึงไปกับชาวบ้านเพื่อบวชป่า จากนั้นใครก็ตามที่มารุกพื้นที่ก็ทยอยถอยออก เพราะได้ประกาศให้พื้นที่กว่า 3,000 ไร่นั้นเป็นพื้นที่อภัยทาน 

“บางครั้งคนไม่ได้กลัวกฎหมาย แต่คนกลัวบาป เพราะฉะนั้นเชื่อว่า นี่เป็นฐานที่มั่นของภูมิปัญญาโบราณที่มาอภิบาลโลกยุคใหม่ ให้มีสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันมีพื้นที่ฟื้นฟูดูแลที่เรียกว่าการบวชป่า น่าจะเกิน 20 ล้านไร่แล้ว” 

ก่อตั้งเครือข่ายอนุรักษ์นกยูงไทยและไพรพฤกษ์ 

พระเมธีวชิโรดม กล่าวว่า เร็วๆ นี้ ต้องเพิ่มพื้นที่บวชป่ามากขึ้น เพราะมีชาวบ้านใน จ. พะเยา ส่งคลิปที่นกยูงเข้าไปเดินเล่นในบ้านมาให้ดู ปกตินกยูงเป็นสัตว์ที่เซนสิทีฟ อยู่ในป่าที่อุดมสมบูรณ์ มหาวิทยาลัยพะเยาจึงส่งนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไปดู พบว่า ป่าต้นน้ำของนกยูงไม่เหลือแล้ว ต้นน้ำที่เป็นบ้านของนกยูงไม่มีอาหารให้กิน ไม่มีอาหารให้คุ้ยเขี่ย เพราะพื้นที่ป่าเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวไปแล้ว เป็นเหตุผลที่นกยูงบุกบ้านคน

“สุดท้าย มหาวิทยาลัยพะเยานิมนต์พระอาจารย์ไปสังเกตการณ์ เลยบอกไปว่า นกยูงเขามาหาคน เขามาส่งจดหมายว่าเขาเดือดร้อน เราต้องมาร่วมกันฟื้นฟูดูแล สถานการณ์วิกฤตมาก เราเลยก่อตั้งเครือข่ายอนุรักษ์นกยูงไทยและไพรพฤกษ์ มีพันธกิจ คือ ป่าอยู่ได้ คนอยู่ดี และนกอยู่รอด ตอนนี้มีถึง 54 เครือข่าย และทุกเครือข่ายเฝ้าระวังการบุกรุกป่าโดยผู้ไม่ประสงค์ดี และประกาศพื้นที่ป่าให้เป็นพื้นที่อภัยทานมากขึ้น”